WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

GFIMSคลังหั่นเป้าจีดีพีโต 3.7%

    บ้านเมือง : นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 58 เหลือขยายตัว 3.7% หรือมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.2-4.2% จากคาดการณ์เดิมที่ประเมินว่าจะเติบโตราว 3.9% เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจเติบโตช้ากว่าคาด และการส่งออกฟื้นตัวช้า โดยคาดว่าจะเติบโตเพียง 0.2% ต่ำกว่าเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 1.4%

   อย่างไรก็ตาม สศค.มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ยังขยายตัวได้ดีกว่าปีก่อนที่เติบโต 0.7% โดยมีสาเหตุหลักจากการส่งออกบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากนักท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การเมืองไทยมากขึ้น

   นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 58 ประกอบกับโครงการลงทุนที่มีความชัดเจน อาทิ โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการพัฒนาระบบขนส่งทางถนน และโครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง จะเป็นแรงกระตุ้นให้กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี สำหรับการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน เนื่องจากแนวโน้มการจ้างงาน และรายได้นอกภาคเกษตรยังอยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งแนวโน้มราคาน้ำมันที่ลดลงและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำจะช่วยให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการลงทุนภาคเอกชน

   อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าของไทยในปีนี้จะยังคงมีข้อจำกัดในการขยายตัวจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงจากที่คาดการณ์ครั้งก่อน

   สำหรับ เสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังคงแข็งแกร่ง โดยในส่วนของเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 จะปรับลดลงจากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 0.2% (โดยมีช่วงประมาณการที่ -0.3 ถึง 0.7%) ตามแนวโน้มการปรับลดลงของราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งสินค้าในประเทศ ในส่วนของอัตราการว่างงานคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวม

   ขณะที่ เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลการค้าจะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่มูลค่านำเข้าสินค้าคาดว่าจะหดตัวตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่งผลให้คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลประมาณ 17.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 4.6% ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 2.3-6.7% ของ GDP)

   พร้อมกันนี้ สศค.ยังประเมินว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวดีขึ้น จากการเร่งลงทุนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่มีการทำสัญญาแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้น รวมถึงการเบิกจ่ายของรัฐบาลที่ปีนี้คาดว่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่ 70%

    ผู้สื่อข่าวรายงานที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันนี้ (29 เม.ย.58) ว่า ที่ประชุมมีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาที่ 1.50% หลังประเมินว่าเศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวต่ำกว่าคาด แม้ว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐจะทำได้เพิ่มขึ้นและท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีขึ้น แต่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยการส่งออกและการบริโภคที่อ่อนแรงในไตรมาส 1/58 อีกทั้งในระยะข้างหน้ามองว่าการส่งออกยังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และโครงสร้างการค้าโลก

   นายเมธี สุภาพงษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงว่า ประเด็นที่คณะกรรมการฯ ให้ความสำคัญในการตัดสินนโยบาย มีดังนี้ เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวในอัตราที่ต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน แม้การเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ทำได้เพิ่มขึ้นและการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีต่อเนื่องช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ แต่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยการส่งออกสินค้าและการบริโภคภาคเอกชนที่อ่อนแรงกว่าคาดมากในไตรมาสที่ 1/58

   นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้าภาคการส่งออกมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และโครงสร้างการค้าโลกและภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลงโดยคู่ค้าหลักมีการพึ่งพาการนำเข้าลดลง รวมทั้งจากแรงกดดันจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ การหดตัวของการส่งออกอาจส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาคครัวเรือนอ่อนแอลงตามกำลังซื้อ และความเชื่อมั่นที่ลดลงแรงกดดันเงินเฟ้อลดต่ำลงสอดคล้องกับอุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจที่มีน้อยกว่าคาด ขณะที่ต้นทุนโดยเฉพาะราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบต่อเนื่องเพิ่มสูงขึ้นและการคาดการณ์เงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับลดลง

   ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ เสียงส่วนใหญ่ประเมินว่านโยบายการเงินควรผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาวะที่มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้น ตลอดจนดูแลการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม คณะกรรมการฯ เสียงส่วนน้อยเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่านมามีส่วนช่วยให้ภาวะการเงินผ่อนคลายมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มเติมมีจำกัด ขณะที่แรงขับเคลื่อนด้านการคลังที่มากขึ้นจะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ส่วนหนึ่ง จึงเห็นควรให้รอประเมินผลต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพ

  ในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ จะดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลให้ภาวะการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายเพียงพอในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเงินของไทยและใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสมต่อไป

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!