WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

 จี้รัฐชดเชยเสียหายในงบปี’59 เพิ่มอีก 1 แสนล้าน ธกส.รับพิษจำนำข้าวเจ๊ง

     แนวหน้า : รมว.คลัง เร่งจัดทำร่าง'กฎหมายพิเศษ'ตั้งกองทุนฯบริหารหนี้จำนำข้าว ในเบื้องต้น 7 แสนล้านบาท คาดเสร็จก่อน 1 ต.ค.ปีนี้ ด้าน ธ.ก.ส.เล็งของบปี’59 เพื่อชดเชยความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวเพิ่มกว่า 1 แสนล้านบาท

     นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดร่างกฎหมายพิเศษ เพื่อออกมาบริหารจัดการหนี้จาก โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ชุดที่ผ่านมา เพื่อให้การแก้ไขปัญหามีความชัดเจน และแบ่งเบาภาระงบประมาณในแต่ละปีให้ลดลง เนื่องจากจะมีการออกพันธบัตรระยะยาวเพื่อมาชำระหนี้ และค่อยๆ ทยอยตั้งงบประมาณในแต่ละปีภายหลัง

     “ตอนนี้ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กำลังดูเรื่องจำนวนหนี้ที่แท้จริงว่าเป็นจำนวนเท่าไร จะเป็น 7 แสนล้านบาท หรือไม่ ต้องรอดูการสรุปสุดท้ายอีกครั้ง ตอนนี้ยังมีเวลาดำเนินการ โดยจะต้องเสร็จก่อนที่จะเริ่มงบประมาณปี 2559 (เริ่ม 1 ต.ค.2558)” นายสมหมาย กล่าว

    ในส่วนของงบประมาณปี 2559 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา และทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขอเงินงบประมาณชดเชยความเสียหายเป็นจำนวนมาก ก็ต้องมีการทบทวนใหม่ทั้งหมด เนื่องจากหลังออกกฎหมายพิเศษมาดูแลการชำระหนี้จำนำข้าวทั้งหมด ภาระงบประมาณในแต่ละปีจะลดลง

   ก่อนหน้านี้ นายสมหมาย เปิดเผยว่า การออกกฎหมายพิเศษนี้ จะคล้ายกับการออก พ.ร.ก.แก้ไขหนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) แต่การออกกฎหมายพิเศษนี้ยังไม่ได้สรุปว่าจะออกเป็น พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. แต่จะต้องใช้เวลาอีก 20-30 ปี เพื่อใช้หนี้จากโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด

   แหล่งข่าวจาก ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า เมื่อสิ้นเดือนมี.ค.2558 ที่ผ่านมา ทางธนาคาร ได้ส่งข้อมูลจำนำข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมาให้กระทรวงการคลังทั้งหมดแล้ว โดยแยกจำนวนเงินที่ใช้ และหนี้ทั้งหมดออกเป็นรายโครงการอย่างละเอียด เพื่อนำไปพิจารณาออกกฎหมายพิเศษใช้หนี้โครงการรับจำนำข้าว

    สำหรับ ในปีงบประมาณ 2559 ได้ของบประมาณเพื่อชดเชยความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวกว่า 1 แสนล้านบาท หลังจากปีงบประมาณ 2558 ได้รับจัดสรรเงินชดเชยความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว 8 หมื่นล้านบาท ในจำนวนกว่า 1 แสนล้านบาทนี้ได้รวมเงินจากโครงการรับจำนำข้าวในการชำระดอกเบี้ย และเงินต้นบางส่วนแล้ว แต่อยู่ที่กระทรวงการคลังว่าจะพิจารณาจัดสรรอย่างไร

    “ทางม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้มีแนวคิดจัดการในเรื่องดังกล่าว เพราะหากใช้งบมาจ่ายหนี้จำนำข้าวก้อนโตแบบปีต่อปี จะทำให้เป็นภาระกับงบประมาณอย่างมาก ซึ่งการออกกฎหมายพิเศษนี้จะคล้ายกับเอฟไอดีเอฟ ที่เกิดจากวิกฤติต้มยำกุ้งในปี’39-40 โดยหลักการจะเป็นการยืดภาระออกไป และจะใช้งบประมาณน้อยลง เพื่อนำไปลงทุนโครงการสำคัญอื่นๆแหล่งข่าว กล่าว

      ก่อนหน้านี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้หารือกับผู้บริหาร ธ.ก.ส.ถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโครงการแทรกแซงราคาผลิตผลทางเกษตรทั้งหมด พบว่าความเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลในอดีต โดยใช้ตัวเลขความเสียหายของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปิดบัญชีล่าสุดมียอดขาดทุนสุทธิ 700,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้ที่กระทรวงการคลังจัดหามาให้ ธ.ก.ส. ปล่อยกู้จำนำข้าว 500,000 ล้านบาท และที่เหลือ 200,000 ล้านบาท เป็นส่วนที่ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายเงินไปก่อน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!