- Details
- Category: คลัง
- Published: Thursday, 09 April 2015 22:51
- Hits: 2012
คลัง เผย ADB และ IMF เห็นว่าอาเซียน+3 ควรเร่งสร้างเสถียรภาพด้านการเงิน หลังมองต้องเผชิญความผันผวนหากสหรัฐขึ้น ดบ.
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: AFCDM+3) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 6-7 เมษายน 2558 ซึ่งมีประเด็นหลักสรุปได้ดังนี้
1. ภาวะเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจของภูมิภาค และเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก โดย IMF ได้เน้นย้ำว่า “ภูมิภาคเอเชียจะยังคงเป็นผู้นำด้านการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 จะยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง” ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ ADB ที่คาดว่าในปี 2558 และ 2559 อัตราการเติบโตของภูมิภาคอาเซียน+3 จะอยู่ที่ร้อยละ 4.7 และ 4.8 ตามลำดับ สูงขึ้นจากปี 2557 ที่มีอัตราการเติบโตร้อยละ 4.3 นอกจากนี้ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคในประเทศด้วย สำหรับด้านการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ADB พบว่า ภูมิภาคอาเซียน+3 มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการค้าและการเงิน อย่างไรก็ตาม ประเทศในภูมิภาคอาเซียน+3 ยังจะต้องเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นหากสหรัฐอเมริกาขึ้นอัตราดอกเบี้ย การเติบโตทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ต่ำกว่าคาดการณ์ ซึ่งจะส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตของประเทศในภูมิภาค โดยจากความท้าทายดังกล่าว ADB และ IMF เห็นว่าอาเซียน+3 ควรให้ความสำคัญกับนโยบายในการเสริมสร้างเสถียรภาพด้านการเงิน และควรเร่งการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
2. การเสริมสร้างกลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) ซึ่งเป็นกลไกความช่วยเหลือทางการเงินของภูมิภาคอาเซียน+3 ที่มีขนาดวงเงินช่วยเหลือรวม 240 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ โดยประเทศสมาชิกได้หารือเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของ CMIM และความคืบหน้าของการพัฒนาตัวชี้วัดสำคัญทางเศรษฐกิจเพื่อประกอบการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้มั่นใจว่าสมาชิกจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินอย่างทันท่วงทีเมื่อมีแนวโน้มว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว
3. การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของสํานักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) ซึ่งทำหน้าที่วิเคราะห์ติดตาม และเฝ้าระวังทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 โดยได้หารือแนวทางการพัฒนาศักยภาพของ AMRO ทั้งการทำหน้าที่เฝ้าระวัง (Surveillance) ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นภารกิจหลัก และการบริหารจัดการภายในองค์กร และติดตามความคืบหน้าของการดำเนินกระบวนการภายในของแต่ละประเทศสมาชิกเพื่อให้สัตยาบันความตกลงเพื่อการจัดตั้ง AMRO ที่เป็นการยกระดับ AMRO ให้มีสถานะเป็นองค์การระหว่างประเทศ โดยปลัดกระทรวงการคลังได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานในส่วนของไทยว่า ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 พ.ศ. .... อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
4. มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นของภูมิภาคอาเซียน+3 ให้เป็นแหล่งระดมเงินทุนและเป็นทางเลือกในการออม โดยมีความคืบหน้าหลัก ได้แก่ การดำเนินงานของกลไกการค้ำประกันเครดิตและการลงทุน (Credit Guarantee and Investment Facility: CGIF) ของภูมิภาคอาเซียน+3 ซึ่งได้ค้ำประกันตราสารหนี้ให้แก่ภาคเอกชนเพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือ และโครงการประสานกฎเกณฑ์การออกตราสารหนี้สกุลเงินท้องถิ่นของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Multi-Currency Bond Issuance Framework: AMBIF) เพื่อส่งเสริมการออกตราสารหนี้เงินสกุลท้องถิ่นในภูมิภาคให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย