- Details
- Category: คลัง
- Published: Sunday, 05 April 2015 09:33
- Hits: 2289
บอร์ด PPP อนุมัติให้เอกชนร่วมลงทุน 65 โครงการ วงเงินรวม 1.35 ล้านล้านบาท
นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(บอร์ด PPP) เห็นชอบร่างแผนยุทธ์ศาสตร์การให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน(แผนยุทธศาสตร์ PPP) และรายการโครงการ PPP โดยมี 20 กิจการภายใต้ร่างแผนยุทธศาสตร์ PPP และมีโครงการที่จะดำเนินการในช่วง 5 ปี รวม 65 โครงการ วงเงิน 1.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กิจการที่สมควรให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน ประกอบด้วย 1.กิจการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมือง 8 โครงการ 2.กิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางในเมือง 1 โครงการ 3.กิจการพัฒนาท่าเรือขนส่งสินค้า 7 รายการ 4.กิจการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง 2 โครงการ 5.กิจการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม 2 โครงการ 6.กิจการพัฒนาระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 1 โครงการ
กลุ่มที่ 2 กิจการที่ส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน ประกอบด้วย 1.กิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางระหว่างเมือง 4 โครงการ 2.กิจการพัฒนาสถานีขนส่งบรรจุแยกและกระจายสินค้า 4 โครงการ 3.กิจการพัฒนาระบบตั๋วร่วม 1 โครงการ 4.กิจการพัฒนาระบบจัดการคุณภาพน้ำ 7 โครงการ 5.กิจการพัฒนาระบบจัดการขยะมูลฝอย 1 โครงการ 6.กิจการพัฒนาสถานศึกษาของรัฐ 8 โครงการ 7.กิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข 3 โครงการ และ 8.กิจการพัฒนาด้านยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ 3 โครงการ 9.กิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 6 โครงการ 10.กิจการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิตอล 5 โครงการ 11.กิจการพัฒนาศูนย์การประชุมขนาดใหญ่ 1 โครงการ และ 11.กิจการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส 1 โครงการ
นายกุลิศ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวนี้ รัฐบาลจะรับภาระเฉพาะในส่วนที่เป็นเรื่องการเวนคืนเท่านั้น ซึ่งการเข้ามาให้เอกชนร่วมลงทุนจะทำให้ช่วยประหยัดงบประมาณลงได้ และหลังจากนี้ คณะกรรมการ PPP จะนำเสนอร่างแผนยุทธศาสตร์ PPP ต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบจะประกาศใช้ภายในเดือนเม.ย.58 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางสำหรับกระทรวงต่างๆ และหน่วยงานในสังกัดต่อไป
โดยในปี 2558 จะมีโครงการที่จะดำเนินการคัดเลือกเอกชนอย่างน้อย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย(ช่วงหัวลำโพง - บางแค และช่วงเตาปูน - ท่าพระ) และโครงการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (หรือ ICD ลาดกระบัง)
นอกจากนี้ บอร์ด PPP ยังเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรอง เพื่อรองรับการปรับมูลค่าโครงการที่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.PPP จาก 1 พันล้านบาท เป็น 5 พันล้านบาท ซึ่งต่อไปกระทรวงการคลังจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างกฎกระทรวงในการปรับมูลค่าเป็น 5 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าภายในเดือนพ.ค.58 น่าจะประกาศใช้ได้
ทั้งนี้ ในปัจจุบันกฎหมายลำดับรองต่างๆ มีผลบังคับใช้ครบถ้วนแล้ว รวมทั้งหลักเกณฑ์สำหรับรองรับโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1 พันล้านบาท ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ สามารถนำเสนอโครงการได้ทันที
ขณะเดียวกัน บอร์ด PPP ยังพิจารณาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีสำหรับโครงการ Motorway สายบางปะอิน-โคราช ระยะทาง 196 กม. และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. รวมทั้งได้พิจารณาให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินการคัดเลือกเอกชนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายด้วย
นายกุลิศ กล่าวว่า นอกเหนือจาก 65 โครงการแล้ว ยังมีโครงการที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงคมนาคมที่สามารถนำเข้าสู่แผนนี้ แต่อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้อีก 10 โครงการ วงเงิน 5.2 แสนล้านบาท โดยจะเป็นส่วนที่เอกชนสามารถเข้ามาร่วมลงทุนได้ 2.06 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการปรับกฎหมายที่จะมารองรับให้เอกชนเข้ามาดำเนินการอีก 2-3 ฉบับ จากนั้นจึงจะเริ่มดำเนินการได้
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย