- Details
- Category: คลัง
- Published: Monday, 30 March 2015 23:49
- Hits: 1764
รมว.คลัง แนะ กระตุ้นลงทุน-ส่งออก หนุนศก.หลังหนี้ครัวเรือนฉุดการบริโภค ระบุ แก้ปัญหาศก. ทำไม่ได้ภายใน 3-6 เดือน
นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ไม่สามารถอาศัยการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนได้ เนื่องจากมีระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) เป็นข้อจำกัดอยู่ โดยการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน รัฐบาลต้องเร่งการใช้จ่ายภาครัฐ และเร่งการลงทุนให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ทั้งในส่วนของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และส่วนท้องถิ่น เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน
"การแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยตอนนี้ต้องเลิกกระตุ้นการบริโภค ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุน และการดูแลการส่งออก ซึ่งการแก้ไขต้องใช้เวลา ไม่สามารถ แก้ให้ได้ผลภายใน 3-6 เดือน" นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง กล่าวกับผู้สื่อข่าว
สำหรับ การการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ปีงบประมาณ 58 ที่คาดกันว่าจะจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายมากนั้น นายสมหมาย กล่าวว่า เป็นปัญหาที่กระทรวง การคลังรับรู้และหาทางแก้ไขอยู่ แต่เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว การส่งออกติดลบ และการนำเข้าลดลงมาก ทำให้การเก็บภาษีและรายได้ของรัฐบาล ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
นายสมหมาย กล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจโลกและไทย มีแนวโน้มจะขยายตัวได้ลดลง โดยเศรษฐกิจไทยที่เคยขยายตัวได้ 5-7% ต่อปี จะเหลือขยายตัวได้ 2-4% ต่อปี เท่านั้น และจะมีเพียงประเทศที่เศรษฐกิจเล็กๆ อย่าง สปป.ลาว กัมพูชา และ เมียนมาร์ ที่เศรษฐกิจยังจะเติบโตได้ในระดับ 7% ต่อปี
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
คลัง เผย ศก.ไทยเดือน ก.พ. ยังมีสัญญาณชะลอตัว ทั้งจากการใช้จ่ายภาคเอกชน- การส่งออก
คลัง เผย เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ยังคงมีสัญญาณการชะลอตัวทั้งจากการใช้จ่ายภาคเอกชนและการส่งออก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่สามารถขยายตัวในระดับสูง และภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ นอกจากนี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2558ว่า “เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ยังคงมีสัญญาณการชะลอตัวทั้งจากการใช้จ่ายภาคเอกชนและการส่งออก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่สามารถขยายตัวในระดับสูง และภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ นอกจากนี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี” ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจไทยล่าสุดในรายละเอียดพบว่า
การบริโภคภาคเอกชนในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ส่งสัญญาณชะลอลง สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศ ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 9.5 ต่อปี โดยภาพรวมยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ หดตัวที่ร้อยละ -2.1 ต่อปีตามการหดตัวของการจัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่หดตัวร้อยละ -8.4 ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ 68.4 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และการทรงตัวในระดับต่ำของราคาพืชผลทางการเกษตร อย่างไรก็ดี ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเริ่มส่งสัญญาณบวกกลับมาขยายตัวสูงถึงร้อยละ 32.5 ต่อปี ซึ่งมาจากการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เสื้อผ้ารองเท้าและผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ ผักผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักผลไม้ และนาฬิกาและส่วนประกอบ เป็นต้น นอกจากนี้ ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี จากการปรับตัวดีขึ้นของยอดขายรถจักรยานยนต์ในเขตภูมิภาคเป็นสำคัญที่ขยายตัวร้อยละ 11.9 ต่อปี
การลงทุนภาคเอกชนในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ยังคงชะลอตัว โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างสะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวที่ร้อยละ -2.4 ต่อปี สำหรับภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่วนหนึ่งเกิดจากการเร่งโอนอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากการคาดการณ์ของภาคเอกชนถึงการบังคับใช้ภาษีใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการรับมรดก โดยขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 10.4 ต่อปีแต่หดตัวร้อยละ -3.4 ต่อเดือน สำหรับการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -9.6 ต่อปี อย่างไรก็ดี มีสัญญาณดีขึ้นบ้างจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 ต่อปี
สถานการณ์ด้านการคลังในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย ผ่านการขาดดุลงบประมาณ โดยรัฐบาลขาดดุลงบประมาณในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 จำนวน 8.5 พันล้านบาท มาจากการจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ได้จำนวน 149.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.5 ต่อปี อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เบิกจ่ายได้จำนวน 150.4 พันล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ -13.7 ต่อปี
สำหรับ อุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยหดตัวที่ร้อยละ -6.1 ต่อปี โดยการส่งออกที่กลับมาหดตัวมีปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกสินค้าในหมวดสินค้าเกษตร แร่และเชื้อเพลิง ยานยนต์ และอุตสาหกรรมเกษตร โดยตลาดส่งออกที่หดตัวลง ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน-5 เป็นหลัก
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ชี้แจงข้อมูลเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมว่า สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานพบว่า ภาคการท่องเที่ยวต่างชาติที่สามารถขยายตัวในระดับสูงเป็นแรงสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยข้อมูลเบื้องต้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีจำนวน 2.69 ล้านคนขยายตัวร้อยละ 29.6 ต่อปี และในช่วง 13 วันแรกของเดือนมีนาคม 2558 มีจำนวน 1.10 ล้านคน ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 27.6 ต่อปี สะท้อนการเติบโตที่แข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศ สำหรับ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) กลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 22 เดือน ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี
อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ 88.9 จากความกังวลต่อสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจในประเทศ การชะลอการใช้จ่าย และคำสั่งซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอโดยเฉพาะกำลังซื้อในภาคเกษตร จากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -3.8 ต่อปี และ -1.3 ต่อเดือน ตามการหดตัวของผลผลิตข้าวเปลือก และยางพารา เป็นสำคัญ ส่วนผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.16 แสนคน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบโลกเป็นสำคัญมาอยู่ที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทอยู่ในระดับที่มั่นคงโดยทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 156.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.7 เท่าสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย