WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

คลัง คาดไตรมาสแรก จีดีพีโต มากกว่า 3% ส่วนทั้งปีเชื่อโตได้ 3.9% หลังเบิกจ่ายงบฯ กระตุ้นศก.แล้ว 1.54 ล้านลบ.หรือ 44.3% มองส่งออกปีนี้โต 1.4%

   นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. กล่าวแถลงรายความคืบหน้าตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ ว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังขยายตัวได้ที่ 3.9% ตามที่คาดการณ์ โดยในไตรมาสที่ 1 เศรษฐกิจจะขยายตัวได้มากกว่า 3% แม้ว่าการเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 จะขยายตัวต่ำ แต่ปัจจุบัน ณ วันที่ 13 มีนาคม 2558 รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจได้เบิกจ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้ว 1.54 ล้านล้านบาท หรือ 44.3% แบ่งเป็นการเบิกจ่ายการลงทุนของภาครัฐ 25.3% ประกอบกับการส่งเสริมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่จะทำให้ปริมาณการส่งออกกับประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านสูงขึ้น ทดแทนการส่งออกในภาพรวมที่ลดลงได้ โดยในปีนี้คาดการณ์การส่งออกจะขยายตัวได้ 1.4% ขณะที่การท่องเที่ยวเริ่มกลับมาสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกครั้งโดยขยายตัวได้ 27.6% ส่วนฐานะการคลังยังมีความมั่นคงและหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับต่ำที่ 46.5%

     ด้าน นายสมชาย หาญหิรัญ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวความเชื่อมั่นในส่วนของการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของนักลงทุนนั้น มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เห็นได้จากตัวเลขการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อการผลิตมีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวกมากขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมหลักอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ ยังจะขยายตัวได้ตามเป้าที่วางไว้ โดยจะมีปริมาณการผลิตรถยนต์ในปีนี้ที่ 2.15 ล้านคัน จำหน่ายในประเทศ 9.5 แสนคัน ส่งออก 1.2 ล้านคัน สะท้อนให้เห็นว่าภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น และไทยจะสามารถแข่งขันด้านการผลิตกับต่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียนได้

    นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย กระทรวงอุตสาหกรรมจึงทำกลยุทธ์เร่งด่วนในการพัฒนาเอสเอ็มอีเพิ่มมากขึ้น โดยตั้งเป้ามีผู้ประกอบการใหม่ 1,890 ราย

     ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ นางดวงกมล เจียมบุตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่าการส่งออกของไทยยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและการถูกตัดสิทธิ์จีเอสพี แต่จากตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในตะวันออกกลางขยายตัวดี จึงเชื่อว่าจะช่วยให้การส่งออกของไทยปีนี้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามจะต้องติดตามตัวเลขการส่งออกในปีนี้ที่ตั้งไว้ 4% อีกครั้ง เนื่องจากสัญญาณการส่งออกยังไม่ฟื้นตัวขึ้น

    พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์ยืนยันดูแลราคาสินค้าเกษตรและค่าครองชีพของประชาชนอย่างเต็มที่ โดยราคาสินค้าเกษตรนั้น ได้สั่งการกรมการค้าภายในติดตามราคาแต่ละจังหวัดให้เหมาะสมที่สุด ขณะที่การดูแลค่าครองชีพ กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับห้างโมเดิร์นเทรดให้จำหน่ายสินค้าราคาประหยัด และตรวจราคาสินค้าตามตลาดสดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีโครงการธงฟ้าจำหน่ายสินค้าราคาถูกให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย จึงเชื่อว่าจะข่วยลดค่าครองชีพของประชาชนได้

   ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่า ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น สร้างความเสียหายในพื้นที่ 1.4 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่า 5,835 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลต่อจีดีพีภาคการเกษตรให้ลดลง 0.24% ดังนั้นกระทรวงเกษตรจึงมีแผนปรับโครงสร้างกลุ่มสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว ปศุสัตว์และประมง วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการผลิตที่ลดต้นทุนอย่างเป็นรูปธรรม

  สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

คลังคาดศก.ไทยปีนี้โต 3.9% ได้แรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐ-มาตรการการคลัง

    นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง รายงานสถานการณ์และผลการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการคลัง โดยคาดว่าในปี 58 กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจน่าจะโตได้ที่ระดับประมาณร้อยละ 3.9 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.4-4.4 ต่อปี) โดยได้รับแรงส่งของการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น รวมทั้งมาตรการของกระทรวงการคลังในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่คอยช่วยบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจ ประกอบกับอุปสงค์จากต่างประเทศคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศคลี่คลายลง นอกจากนี้ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจภาพรวมที่ฟื้นตัวขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคให้ปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีต่อไป

     ประกอบกับการส่งเสริมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะทำให้ปริมาณการส่งออกกับประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านสูงขึ้น ทดแทนการส่งออกในภาพรวมที่ลดลงได้ โดยในปีนี้คาดการณ์การส่งออกจะขยายตัวได้ 1.4% ซึ่งหากการส่งออกโตได้ 4% ตามที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ อาจทำให้เศรษฐกิจปีนี้โตได้มากกว่า 3.9% แต่ต้องดูอยู่บนเงื่อนไขที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านอื่นไม่ได้แย่ลง ขณะที่การท่องเที่ยวเริ่มกลับมาสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกครั้งจากเดือนม.ค.-13 มี.ค.58 ขยายตัวได้ 27.6% ส่วนฐานะการคลังยังมีความมั่นคง และหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับต่ำที่ 46.5%

    โดยในไตรมาสที่ 1 สศค.คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 3 แม้ว่าการเบิกจ่ายงประมาณในไตรมาสที่ 1 ของปี 58 จะขยายตัวต่ำ แต่ล่าสุด ณ วันที่ 13 มี.ค.58 รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจได้เบิกจ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้ว 1.54 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 44.3 ของกรอบวงเงินการใช้จ่ายของปีงบประมาณ 58 แบ่งเป็นการเบิกจ่ายการลงทุนของภาครัฐร้อยละ 25.3

    สำหรับ นโยบายการคลังที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยว่า ได้แก่ 1. ภาครัฐบาลได้มีการอัดฉีดเม็ดเงินงบประมาณเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.57-13 มี.ค.58 รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจได้เบิกจ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 1.54 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44.3 ของกรอบวงเงินการใช้จ่ายของปีงบประมาณ 58

    นอกจากนี้ ในระยะต่อไปรัฐบาลจะได้เร่งดำเนินการตามแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแผนพัฒนาระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน ในกรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 8 หมื่นล้านบาท

     2. ฐานะการคลังมีความมั่นคงและหนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่ารัฐบาลจะใช้นโยบายการคลังเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ดุลการคลังของรัฐบาลในช่วง 5 เดือนแรกของปี 58 ขาดดุล -4.1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงบทบาทภาครัฐในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ในช่วงที่เอกชนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังยังรักษาไว้ซึ่งวินัยการคลังอย่างเคร่งครัดอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดให้หนี้สาธารณะคงค้างต้องไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP โดยหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนม.ค.58 อยู่ที่ร้อยละ 46.5 ของ GDP

   สำหรับ มาตรการสำคัญของกระทรวงการคลังเพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจในระยะยาว ประกอบด้วย 1.มาตรการทางการคลังเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ได้แก่ มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters: IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Centers: ITC) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้าและบริการในภูมิภาค โดยจะสามารถได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการให้บริการแก่วิสาหกิจในเครือในต่างประเทศ และลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 10 สำหรับการให้บริการแก่วิสาหกิจในเครือในประเทศ และลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงต่างด้าวเหลือร้อยละ 15 เป็นต้น

     มาตรการการคลังการเงินเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 5 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ตาก จ.มุกดาหาร จ.สระแก้ว จ.ตราด และ จ.สงขลา โดยมีมาตรการ 1.มาตรการทางการเงินให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารออมสิน และการค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ 2.มาตรการทางภาษี โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 เป็นระยะเวลา 10 ปี สำหรับกิจการทั่วไปที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

     มาตรการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ให้มีต้นทุนทางภาษีที่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้โดยจะปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท สำหรับช่วงกำไรสุทธิช่วง 1,000,000 บาท ถึง 3,000,000 บาท จากอัตราร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 15 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค.58 เป็นต้นไป

    การจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (SMEs Private Equity Trust Fund) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ของประเทศ ให้เติบโตและแข็งแรง โดยเข้าร่วมทุน ผ่านกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs ซึ่งจะเป็นการช่วยลดสัดส่วนหนี้สินต่อทุนของกิจการ SMEs ทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตอย่างเข้มแข็งมากขึ้นโดยได้กำหนดแนวทางให้มีลักษณะเป็นกองทุนเปิด ระหว่างภาครัฐและเอกชน กำหนดขนาดวงเงิน 10,000-25,000 ล้านบาท (เบื้องต้นรัฐบาลจะร่วมทุนผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SMEs Bank) จำนวนเงิน 500 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นภาคเอกชน) โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเฉพาะกลุ่มที่มีศักยภาพ อาทิ อุตสาหกรรมด้านเกษตร และอุตสาหกรรมเกี่ยวกับดิจิตอล

    มาตรการปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อลดภาระต้นทุนการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศ โดย (1)ยกเว้นอากรขาเข้ากลุ่มสินค้าวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิตที่ไม่มีผลิตในประเทศ เครื่องจักร เครื่องมือ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีอัตราอากรขาเข้าต่ำอยู่แล้ว จำนวน 1,274 ประเภทย่อย เช่น มอลต์ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เครื่องจักรสำหรับประกอบแผงวงจรย่อย ท่อส่งน้ำมันและก๊าซ เป็นต้น และ (2) ปรับลดอัตราอากรขาเข้าสินค้าในกลุ่มเครื่องจักร เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตลงที่ยังมีอัตราอากรขาเข้าสูงเหลือร้อยละ 10 จำนวน 258 ประเภทย่อย เช่น เครื่องจักรกลที่ใช้แรงงาน เครื่องจักรใช้เชื่อม เป็นต้น

   2. มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่คอยช่วยบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจ โดยในส่วนมาตรการที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย กระทรวงการคลังได้ดำเนินการผ่านมาตรการทั้งในรูปแบบการให้สินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ครอบคลุมทั้งกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ตลอดจนกลุ่มประชาชนทั่วไป วงเงินรวมกว่า 5 แสนล้านบาท รวมถึงการจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรวงเงินประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการขนาดเล็กมีโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้น จากการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพ

    นอกจากมาตรการที่กล่าวมาข้างต้น กระทรวงการคลังยังได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบอาชีพรายย่อย โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่ใช้บริการหนี้นอกระบบกว่า 5.8 แสนครัวเรือน และที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อจากสถาบันการเงินใดๆ 1.3 ล้านครัวเรือน (ข้อมูลจากการสำรวจของ ธปท.ปี 56) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพได้ ผ่านมาตรการสินเชื่อ Nano-Finance ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้สนใจยื่นขอจดทะเบียนมาแล้วทั้งสิ้น 14 ราย โดยยื่นเอกสารครบแล้ว 3 ราย และอีก 11 รายกำลังตรวจสอบเอกสาร คาดว่าจะเริ่มให้สินเชื่อได้ในเดือนพ.ค.58

   รองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 57 ที่ผ่านมา เริ่มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี ทั้งการบริโภค การลงทุน การส่งออกสินค้าและบริการ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงเปราะบางจากการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่ฟื้นตัวช้าและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก กระทรวงการคลังจึงเร่งใช้จ่ายเพื่อพยุงเศรษฐกิจในยามที่ภาคเอกชนยังฟื้นตัวเปราะบาง นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวและมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่คอยช่วยบรรเทาผลกระทบทางลบจากเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

   ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 57 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากวิกฤติการเมืองในช่วงครึ่งแรกของปี 57 ทำให้การใช้จ่ายภายในประเทศหดตัว อีกทั้งในขณะนั้นรัฐบาลไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณและดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สถานการณ์การเมืองปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 57 และมีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศและสามารถออกนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ และกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 57 ที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี เทียบกับครึ่งแรกของปีที่ไม่ขยายตัว

   นอกจากนี้ ในปี 57 เสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในระดับมั่นคง ดังจะเห็นได้จากอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงาน และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่เพียงร้อยละ 1.9 ต่อปี ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกก็มีความมั่นคงจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึงร้อยละ 3.8 ของ GDP และมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 154.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเทียบเป็น 2.7 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น

    ส่วนภาคอุตสาหกรรมนั้น นายสมชาย หาญหิรัญ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ความเชื่อมั่นในส่วนของการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของนักลงทุนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เห็นได้จากตัวเลขการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อการผลิตมีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวกมากขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมหลักอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ยังจะขยายตัวได้ตามเป้าที่วางไว้ โดยคาดว่าจะมีปริมาณการผลิตรถยนต์ในปีนี้ที่ 2.15 ล้านคัน ปริมาณจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ 9.5 แสนคัน ปริมาณส่งออกรถยนต์ 1.2 ล้านคัน สะท้อนให้เห็นว่าภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น และไทยจะสามารถแข่งขันด้านการผลิตกับต่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียนได้

    นอกจากนี้เพื่อเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย กระทรวงอุตสาหกรรมจึงทำกลยุทธ์เร่งด่วนในการพัฒนาเอสเอ็มอีเพิ่มมากขึ้น ภายใต้โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยสู่การเป็นเถ้าแก่ใหม่ โดยตั้งเป้ามีผู้ประกอบการใหม่ 1,890 ราย

    ส่วนด้านการค้านั้น นางดวงกมล เจียมบุตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่า การส่งออกของไทยยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและการถูกตัดสิทธิ์จีเอสพี แต่จากตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในตะวันออกกลางยังสามารถขยายตัวได้ดี จึงเชื่อว่าจะช่วยให้การส่งออกของไทยปีนี้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามจะต้องติดตามตัวเลขการส่งออกหลังจบไตรมาสแรก เพื่อประเมินตัวเลขการส่งออกทั้งปีว่ายังคงเป็นไปตามเป้าที่ 4% หรือไม่ เนื่องจากสัญญาณการส่งออกยังไม่ฟื้นตัวขึ้น

    ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยืนยันดูแลราคาสินค้าเกษตรและค่าครองชีพของประชาชนอย่างเต็มที่ โดยราคาสินค้าเกษตรนั้น ได้สั่งการกรมการค้าภายในติดตามราคาแต่ละจังหวัดให้เหมาะสมที่สุด ขณะที่การดูแลค่าครองชีพ กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับห้างโมเดิร์นเทรดให้จำหน่ายสินค้าราคาประหยัด และตรวจราคาสินค้าตามตลาดสดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีโครงการธงฟ้าจำหน่ายสินค้าราคาถูกให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย จึงเชื่อว่าจะช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนได้

     ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น สร้างความเสียหายในพื้นที่ 1.4 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่า 5,835 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลทำให้จีดีพีภาคการเกษตรลดลง 0.24% ซึ่งจากปัญหาภัยแล้งส่งผลต่อการปลูกข้าวนาปรังและการปลูกมันสำปะหลัง ส่วนราคาสินค้าเกษตรในปีนี้คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มทรงตัวทั้ง ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา

   ทั้งนี้ กระทรวงฯ มีโครงการรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง โดยให้ชุมชนออกแบบโครงการเอง เพื่อให้เกษตรมีงานทำและมีรายได้ในช่วงฤดูแล้ง ในพื้นที่เป้าหมาย 3,052 ตำบล ตำบลละ 1 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของชุมชน การจ้างแรงงาน และสนับสนุนความต้องการของชุมชนผ่านการมีส่วนร่วม ซึ่งคาดว่าทั้ง 3,052 ตำบล จะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนเม.ย.58 แล้วจึงจะมีการจ่ายเงินลงสู่พื้นที่ให้ชุมชนนำไปบริการจัดการพัฒนาการเกษตรตามเป้าหมายตอไป

     นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ มีแผนปรับโครงสร้างกลุ่มสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว, ปศุสัตว์ และประมง วงเงิน 30,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นแผนระยะยาวภายใน 3 ปี เพื่อส่งเสริมการผลิตที่ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างเป็นรูปธรรม

อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!