WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

รมว.คลังยันเดินหน้าภาษีที่ดิน คาดสัปดาห์นี้ได้ข้อสรุปร่างพ.ร.บ.ฉบับสมบูรณ์

    นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปภาษี เพื่อให้ได้ข้อสรุปร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับสมบูรณ์ เพื่อส่งต่อให้ภาคสังคม และภาควิชาการไปพิจารณาการเก็บภาษีใน 4 อัตรา ว่าอัตราที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร คือ อัตราภาษีสำหรับที่ดินเพื่อการเกษตร,อัตราภาษีสำหรับที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย, อัตราภาษีสำหรับที่ดินที่ใช้เชิงพาณิชย์ และอัตราภาษีที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า โดยยืนยันว่าหากยังอยู่ในตำแหน่ง รมว.คลัง จะต้องมีการผลักดันให้ภาษีที่ดินเกิดขึ้นให้ได้ เนื่องจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคงจะไม่ยอมดำเนินการ เพราะจะกระทบกับคะแนนเสียง

  รมว.คลัง กล่าวว่า กรณีที่มีการออกมาคัดค้านภาษีที่ดิน สะท้อนให้เห็นว่าคนในสังคมสนใจแต่เรื่องส่วนตัว เป็นห่วงเฉพาะภาษีที่อยู่อาศัย ไม่ได้มองว่ารัฐบาลก็มีการจัดเก็บภาษีที่ใช้เชิงพาณิชย์ ที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งจัดเก็บในอัตราที่สูงเพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่มีที่ดินมากๆ นำออกมาใช้เพิ่มกระบวนการผลิต เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ แต่ก็ไม่มีใครพยายามทำความเข้าใจ จึงเป็นเรื่องน่าเศร้ามากที่คนส่วนใหญ่เห็นแก่ตัว คนชั้นกลางบางกลุ่มก็เห็นแก่ได้

   "การชะลอภาษีที่ดินออกไป ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะไม่เอา และยังยืนยันว่ากฎหมายนี้จะจบก็ต่อเมื่อผมออกจากตำแหน่งแล้วเท่านั้น" นายสมหมาย กล่าว

   สำหรับ การจัดเก็บภาษีที่ดินจะสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นเพิ่มขึ้นจากปีละ 2 หมื่นล้านบาท เป็นปีละ 2 แสนล้านบาท ซึ่งรายได้ส่วนนี้ไม่ได้เข้ารัฐบาลกลาง ดังนั้นหากไม่เดินหน้าเก็บภาษีที่ดิน ในระยะต่อไปจะส่งผลให้รัฐบาลมีความเสี่ยงด้านการคลัง

    "ที่ผ่านมา มีการทำงบประมาณแบบขาดดุลมานาน รัฐบาลก่อนหน้ามีการใช้งบประมาณแบบล้างผลาญกันมาก ในระยะต่อไปรัฐบาลก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีรายได้เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ ก็ต้องมีการกู้เพิ่ม ทำงบขาดดุลต่อเนื่อง ดังนั้นไม่ควรชะล่าใจกับเพดานหนี้สาธารณะแม้ว่าวันนี้จะยังต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลัง" รมว.คลัง กล่าว

   พร้อมระบุว่า ภาษีที่ดินที่จะจัดเก็บสำหรับที่อยู่อาศัยนั้น ในหลักการต้องการให้ผู้ที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยเพิ่มอัตราลดหย่อนจากเดิมอัตราจัดเก็บที่ 0.1% ของราคาประเมิน โดยเก็บล้านละ 1 พันบาท ให้ยกเว้นเป็น 1-2 ล้านบาทแรกเสียภาษี 25% ของอัตรา 0.1% จากราคาประเมิน หรือล้านละ 250 บาท บ้าน 2 ล้านเสีย 500 บาทต่อปี โดยบ้านราคาที่ 3-4 ล้านบาท เสียภาษี 50% ของอัตรา 0.1% จากราคาประเมิน หรือล้านละ 500 บาท ดังนั้นถ้าบ้านไม่เกิน 4 ล้านบาท จะเสียภาษีไม่เกิน 1,500 บาทต่อปีเท่านั้นซึ่งถือว่าไม่เป็นภาระมาก

อินโฟเควสท์

นักวิชาการยุหารายได้จากที่ดิน/ชลอภาษีมูลค่าเพิ่ม คลังยันคง VATไว้ที่เดิม 7%

   แนวหน้า : ปลัดคลัง เสียงแข็งไม่ขึ้น VAT หลังชะลอเก็บภาษีบ้าน-ที่ดินฯ นักวิชาการ “ม.รังสิต” ชี้การชลอออกไปจะกระทบเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลาง-ระยะยาว เกิดความเหลื่อมล้ำ พร้อมค้านขยับVAT ชี้ซ้ำเติมเศรษฐกิจ

   นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังยังไม่มีแนวคิดที่จะเพิ่มอัตราจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT ) จากปัจจุบันที่จัดเก็บอยู่ในอัตรา 7% จากเพดานจัดเก็บที่ 10% แม้ว่าก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า หากไม่ดำเนินการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็จะต้องขึ้นVAT เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น

   “ถ้ารัฐบาลยังไม่มีนโยบาย กระทรวงการคลังก็ขึ้นภาษีไม่ได้ ดังนั้นคงยังไม่มีการขึ้นภาษีVAT”นายรังสรรค์ กล่าว

    ส่วนการจัดเก็บรายได้รัฐบาล ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ต.ค.2557-ก.พ.2558) รัฐบาลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต่ำกว่าเป้าหมาย ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว และภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า เป็นผลมาจากปัจจัยราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง

   แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเก็บภาษีขณะนี้ยังต่ำกว่าเป้า ในขณะที่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ถูกชะลอออกไป แต่นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ก็ยังจะดำเนินการต่อ โดยจะพิจารณาอย่างรอบคอบและให้มีความเหมาะสมที่สุด เพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ และจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนการจัดเก็บภาษีตัวอื่นๆเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ในขณะนี้

    ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ยังไม่สรุปว่า ร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะยกเลิกไปหรือไม่ แต่ระหว่างนี้ กระทรวงการคลังก็พิจารณาความเหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้มีรายได้น้อย ยืนยันว่า คงไม่สามารถไปจัดเก็บภาษีบ้านเฉพาะผู้ที่มีร่ำรวยได้เพียงอย่างเดียว เนื่องจากภาษีที่ดินเป็นภาษีที่จัดเก็บบนฐานการใช้สาธารณูปโภค ต้องเสียภาษีบนหลักการเดียวกัน ซึ่งต่างจากภาษีมรดก ที่เก็บจากความมั่งคั่ง

   ทั้งนี้ ยืนยันว่าไทยจำเป็นต้องปฏิรูปภาษี เนื่องจากปัจจุบันจัดเก็บได้เพียง 16-17% ของจีดีพี ซึ่งความเป็นจริงควรจะจัดเก็บได้มากกว่า 20% เพื่อนำมาใช้พัฒนาประเทศ โดยที่ผ่านมามีการระบุว่าไทยเสียภาษีสูงสุดในอาเซียน ซึ่งในข้อเท็จจริง ประเทศอื่นๆคิดเฉพาะในส่วนที่รัฐบาลกลางจัดเก็บภาษีเท่านั้น ซึ่งหากรวมในส่วนท้องถิ่นจะพบว่ามีการจัดเก็บภาษีที่สูงกว่าไทยมาก

  นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมขณะนี้ สศค.อยู่ระหว่างรอข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ทำหนังสือรายการข้อมูลบริษัท ที่ยื่นเสนอขอใบอนุญาต ดำเนินธุรกิจบริษัทสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ โดยเบื้องต้นมีผู้ผ่านการเห็นชอบ มาแล้ว 3 ราย และอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมอีก 4 ราย โดยคาดว่ารมว.คลัง จะเซ็นให้ใบอนุญาต 3 รายแรกได้ภายในเดือน มี.ค.นี้

    ส่วน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตได้ให้ความเห็นต่อผลของการไม่ดำเนินการปฏิรูประบบภาษีและชะลอการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะทำให้เศรษฐกิจไทยในระยะปานกลาง (3-5 ปี) และในระยะยาว (5 ปีขึ้นไป) ประสบปัญหาทั้งในมิติความเป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ มิติประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรโดยเฉพาะที่ดิน มิติการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน (ไม่มีเงินเพียงพอลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจสำคัญ) ปัญหาการวางผังเมืองและการทำโซนนิ่ง รวมทั้งปัญหาฐานะทางการคลังและหนี้สาธารณะ เนื่องจากการจัดเก็บจะเกิดขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้าหากมีการผ่านกฎหมายนี้มาบังคับใช้ในปีนี้ จึงไม่ได้มีผลโดยตรงต่อภาวะเศรษฐกิจในเวลานี้

  “การเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มต่างหาก จะมีผลกดดันให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง” ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว

 ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีแผนจัดเก็บเพิ่มในเดือนก.ย.เพราะรายได้รัฐไม่เพียงพอต่อรายจ่ายและมีการเลื่อนการจัดเก็บมาหลายครั้ง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!