WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สั่ง'คลัง'สร้างความเข้าใจปมภาษี หวังพัฒนาประเทศ-ไม่ใช่รีดไถ

     แนวหน้า : ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า สืบเนื่องจากตัวเลขภาษี ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในปัจจุบัน เมื่อมีการหยิบยกขึ้นมา และเป็นที่ตำหนิในบางส่วนที่ข้อมูลยังไม่ชัดเจน จึงได้ให้แนวทางต่อกระทรวงการคลังไปว่า เรื่องดังกล่าวต้องเล่าให้เป็นระบบ โดยมอบหมายให้ไปทำความเข้าใจต่อประชาชนให้ครบทั้งระบบ ว่าในปัจจุบันรัฐบาลมีรายได้จากภาษีจำนวนเท่าไร ซึ่งจากการตรวจสอบมีประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ประชาชาติ

    ส่วนรายจ่ายภาครัฐสำหรับดูแลประชาชน ทั้งสวัสดิการ โครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาประเทศ ให้ตรวจสอบว่ามีเท่าไร เพื่อให้ประชาชนเห็นว่า ถ้าเรามีรายได้น้อย แต่รายจ่ายเยอะ จะทำให้การพัฒนาประเทศ ไปไม่ทันกับชาติอื่นที่มีรายได้จากการเก็บภาษีถึง 40 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นการเก็บภาษีดังกล่าวไม่ได้เป็นการรีดไถประชาชน เพียงอยากให้ทำความเข้าใจ ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเขาจะไม่ทำ เพราะกลัวเสียคะแนนเสียงทางการเมือง แต่เราไม่ได้ต้องการคะแนนเสียง ต้องการที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ประกอบกับสร้างพื้นฐานที่ดี สำหรับลูกหลานในอนาคต ซึ่งตัวเลขที่ออกมาในเบื้องต้นนี้ เป็นสูตรคำนวณเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่เท่านั้น แต่การกำหนดสูตรดังกล่าวนั้น ต้องให้ประชาชนทุกภาคส่วนตระหนักถึงภาระที่จะต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อการพัฒนาประเทศ

      พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า การจัดตั้งเพดานภาษี และการกำหนดอัตราบ้าน หรือที่ดิน ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการคำนวณภาษี ต้องคำนึงถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งทางกระทรวงการคลังจะรับไปทำรายละเอียดต่อไป

นายกฯสั่งคลังแจงความจำเป็นเก็บภาษีที่ดินฯไปใช้พัฒนาประเทศ ยันไม่ได้ขูดรีด

    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงความวิตกกังวลต่อกรณีการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยระบุว่าในที่ประชุมคระรัฐมนตรี (ครม.)วันนี้ ได้หยิบยกข้อกังวลจากภาคส่วนต่างๆมาพิจารณา ซึ่งย้ำว่าประเด็นดังกล่าวยังไม่มีข้อสรุป เพราะยังต้องผ่านการพิจารณาอีกหลายขั้นตอน และส่วนตัวได้กำชับในหลักการที่ว่า ทำอย่างไรให้ประเทศมีรายได้จากการจัดเก็บภาษี มีมาตรการยกเว้นและไม่ส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย และลดความเหลื่อมล้ำ และเกิดความเป็นธรรมกับทุกคนในสังคม โดยขอร้องให้หยุดพูดถึงเรื่องภาษีได้แล้ว

    ด้านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แนวทางแก่กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับประชาชนถึงข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้ และรายจ่ายของภาครัฐในทั้งระบบ หลังจากที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในเรื่องการเตรียมจัดเก็บภาษี เช่น ภาษีที่และสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งอาจเกิดจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง

   "ขอให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์ไปทำความเข้าใจกับประชาชนให้ครบทั้งระบบ ว่าปัจจุบันรัฐบาลมีรายได้จากภาษีจำนวนเท่าใด จากที่ตรวจสอบแล้วมี 18% ของรายได้ประชาชาติ ส่วนรายจ่ายของภาครัฐที่ต้องดูแลประชาชน สวัสดิการ โครงสร้างพื้นฐานในประเทศมีเท่าใด เพื่อให้ประชาชนเห็นว่า ถ้าเรามีรายได้น้อย แต่รายจ่ายเยอะ จะทำให้เราพัฒนาประเทศไม่ทันประเทศอื่นๆ" รองโฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี กล่าว

   พร้อมระบุว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีคิดเป็นมูลค่าถึง 40% ของรายได้ประชาชาติ ในขณะที่ประเทศไทย รัฐบาลมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีราว 18% เท่านั้น

   พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีต้องการให้ทำความเข้าใจกับประชาชนว่า หากเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คงจะไม่ดำเนินการในเรื่องการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติม เพราะเกรงจะเสียฐานคะแนนเสียง แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต และยืนยันว่าไม่ได้เป็นการขูดรีดประชาชนแต่อย่างใด แต่สิ่งสำคัญคือต้องการให้ประชาชนทุกคนตระหนักว่ามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการพัฒนาประเทศไปด้วยกัน

  "ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เขาจะไม่ทำสิ่งเหล่านี้ เพราะจะเสียคะแนนเสียง เสียการยอมรับ แต่เราไม่ได้ต้องการคะแนนเสียง เราต้องการทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และสร้างพื้นฐานที่ดีต่อลูกหลานในอนาคต จึงพยายามจัดระเบียบสังคม...ท่านให้หลักการว่า การกำหนดสูตรต้องให้ประชาชนทุกคนตระหนักว่าต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบกับการพัฒนาประเทศ ผู้มีรายได้มากจ่ายมาก รายได้น้อยจ่ายน้อย" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

  อินโฟเควสท์               

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!