WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ไฟเขียวตั้ง'ซูเปอร์โฮลดิ้ง'คุมรัฐวิสาหกิจ ถือหุ้นเบ็ดเสร็จแทน'คลัง'

      แนวหน้า : ไฟเขียวตั้ง’ซูเปอร์โฮลดิ้ง’ คุมรัฐวิสาหกิจ ถือหุ้นเบ็ดเสร็จแทน'คลัง’ บินไทย-ปตท.-ทีโอที-กสท.สกัด“การเมือง”แทรกแซง ลดสัดส่วนขรก.นั่งบอร์ด

     เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด โดย นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แถลงหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางปรับปรุงกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ โดยให้ตั้งองค์กรเจ้าของรัฐวิสาหกิจเพิ่มเติมนอกจาก สคร. คือ บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ

     โดย บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ จะทำหน้าที่เป็นองค์กรเจ้าของรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทจำกัด เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นต้น

    ขณะที่ สคร. จะทำหน้าที่ดูแลเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งโดยกฎหมายเฉพาะ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การประปานครหลวง (กปน.) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติทำงานดีมีประสิทธิภาพ ก็อาจมีการนำรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เข้ามาสู่ที่บรรษัทเพิ่มเติมได้ในอนาคต โดยขั้นตอนต่อจากนี้ไป คนร. ได้มอบหมายให้ คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบกำกับดูแลและระบบบรรษัทภิบาลของรัฐวิสาหกิจ ที่มี นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธาน ไปศึกษารายละเอียดและยกร่างกฎหมาย ก่อนจะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปพิจารณาภายในเดือนมิถุนายนนี้

    นายกุลิศ กล่าวอีกว่า เบื้องต้น การออกกฎหมายจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.กฎหมายการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ เพื่อให้อำนาจกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจทุกแห่งในภาพรวมที่เกี่ยวกับการจัดทำแผนกลยุทธ์รัฐวิสาหกิจ การสรรหา แต่งตั้ง ถอดถอนคณะกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ การจัดทำระบบบรรษัทภิบาลในรัฐวิสาหกิจ การติดตามประเมินผลคณะกรรมการ และองค์กร การตรวจสอบและเปิดเผยข้อมูล  2.เป็นกฎหมายอำนาจหน้าที่ของบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ แนวทางการสรรหาคณะกรรมการบรรษัท และกรรมการเช่นคณะกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ก็จะไม่มีข้าราชการเข้ามาเป็นคณะกรรมการแล้ว แต่จะมีมืออาชีพที่เชี่ยวชาญธุรกิจเข้ามาการบินไทย รวมถึงอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบและแนวทางการทำงาน

   ทั้งนี้ นายกุลิศ กล่าวอีกว่า ภายหลังที่มีการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ แล้วจะโอนหุ้นของบริษัทมหาชนและบริษัทจำกัดที่กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ มาให้บรรษัทบริหารจัดการทั้งหมด โดยจะมีการตั้งกรรมการสรรหา ที่จะทำอย่างเปิดเผย และโปร่งใส เพื่อเลือกกรรมการบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ โดยกรรมการบรรษัทฯจะทำหน้าที่ในการแต่งตั้งกรรมการบริหารรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง โดยจะเลือกมืออาชีพและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในแต่ละสาขาธุรกิจมาทำหน้าที่บริหาร อย่างมีประสิทธิภาพ

     “การจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ไม่ได้เป็นการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจ แต่จะให้มาทำหน้าที่บริหารและกำกับดูแลให้รัฐวิสาหกิจนั้นๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงจะเข้ามาช่วยควบคุมการบริหารงาน สร้างมูลค่าเพิ่มให้หุ้น สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่าย และกรรมการที่มาดูแลจะมีความเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่ให้รัฐมนตรีแต่งตั้ง หรือส่งคนของตัวเองมาเป็นบอร์ด หรือให้ข้าราชการเข้ามาทำหน้าที่บอร์ดเหมือนที่ผ่านๆมา” ผู้อำนวยการ สคร.ย้ำทิ้งท้าย

    มีรายงานข่าวระบุว่า สำหรับในการตั้ง “บรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ” หรือ'ซูเปอร์โฮลดิ้ง'เป็นองค์กรพิเศษใหม่ ตามที่คนร.หรือซูเปอร์บอร์ดได้เห็นชอบนั้น จะเป็นผู้ถือหุ้นรัฐวิสาหกิจทั้งหมดแทนกระทรวงการคลัง พร้อมจะรวบอำนาจการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่กระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ มาไว้กับซูเปอร์โฮลดิ้งทั้งหมด เพื่อให้การบริหางานมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีเอกภาพ ไม่ให้การเมืองเข้าแทรกแซง หรือ แสวงหาผลประโยชน์ สิ่งสำคัญซูเปอร์โฮลดิ้งจะมีอำนาจ ในฐานะผู้ถือหุ้น แต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารที่เหมาะสมเข้าไปรวมถึงเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์ และ แผนปฏิบัติงานของรัฐวิสากิจด้วย

   โดยจะมีการออกแบบ สกัดการเมืองไม่ให้เข้าไปแทรกแซง ซูเปอร์โฮลดิ้งได้ง่ายๆ เช่น การปลดกรรมการผู้จัดการซูเปอร์โฮลดิ้งจะต้องมีความผิดร้ายแรงถึงจะทำได้ เหมือนกับ ปลดผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย( ธปท. )ไม่ใช่คิดจะปลดก็ปลด โดยให้เหตุผลเพื่อความเหมาะสมเท่านั้น

  รวมถึง รัฐวิสาหกิจสำคัญๆทั้งสาขาขนส่ง พลังงาน การสื่อสารรวมถึงสถาบันการเงินที่อำนาจกระจายอยู่ในกระทรวงต้นสังกัดทั้งที่กระทรวงการคลัง เป็นผู้ถือหุ้น แต่กลับไม่มีอำนาจบริหารหรือส่งคนเข้าไปเป็นกรรมการ ที่เป็นจุดอ่อนสำคัญของรัฐวิสาหกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็จะหมดไป

   ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลัง ได้รายงานฐานะของรัฐวิสาหกิจ 9 สาขา จำนวน 55 แห่ง ณ เดือนมิถุนายน 2557 พบว่ามีทรัพย์สินรวมกัน 11.8 ล้านล้านบาท มีหนี้สิน 9.33 ล้านล้านบาท มีรายได้จากการดำเนินงาน 1.36 ล้านล้านบาท มีรายจ่ายการดำเนินงาน 1.21 ล้านล้านบาท มีกำไรสุทธิ 7.1 หมื่นล้านบาท มีเงินนำส่งรัฐในปีงบประมาณ 2557ที่ผ่านมา 1.36 แสนล้านบาท

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!