WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

คนร.ให้ตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติกำกับดูแล รสก.ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

     นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(ซุปเปอร์บอร์ด) หรือ คนร. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.เป็นประธาน มีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางการปรับปรุงการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ โดยให้มีหน่วยงานทำหน้าที่คล้ายกับเจ้าของรัฐวิสาหกิจในลักษณะรวมศูนย์ หรือ โฮลล์ดิ้ง แบ่งเป็น 2 หน่วยงาน คือ 1.บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นองค์กรเข้าของสำหรับรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทมหาชน และบริษัทจำกัด เช่น บมจ.ปตท.(PTT)/ บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT)/บมจ.อสมท.(MCOT) เป็นต้น และ 2.ให้ สคร.ทำหน้าที่ดูแลรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งโดยกฎหมายเฉพาะ เช่น การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)/ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นต้น

     หลังจากนี้ จะมอบหมายให้คณะอนุกรรมการที่รับผิดชอบไปยกร่างกฎหมาย ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ การกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจทุกแห่งในภาพรวมที่เกี่ยวกับการจัดทำแผนกลยุทธ์รัฐวิสาหกิจ การสรรหา แต่งตั้ง ถอดถอน คณะกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ จัดทำระบบธรรมาภิบาล และติดตามประเมินผล คณะกรรมการและองค์กรการตรวจสอบและการเปิดเผยข้อมูล

                และส่วนที่ 2 จะเป็นการจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติที่เป็นแนวทางการสรรหาคระกรรมการบรรษัท และกรรมการผู้จัดการบรรษัท รวมไปถึงอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ และแนวทางการทำงานของบรรษัท โดยคาดว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้ในเดือนมิถุนายนนี้

     ผู้อำนวยการ สคร.กล่าวว่า การจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติจะเป็นการลดสัดส่วนข้าราชการลงเพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความเป็นมืออาชีพ มีความโปร่งใสเข้ามาทำหน้าที่แต่ละด้าน เชื่อมั่นว่าจะไม่ทำให้เกิดความกังวลต่อนักลงทุน แต่จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้รัฐวิสาหกิจ และลดค่าใช้จ่ายของรัฐวิสาหกิจที่ไม่จำเป็นลงไป ยืนยันการจัดตั้งบรรษัทนี้ จะเป็นองค์กรภายใต้กระทรวงการคลัง

    "บรรษัทนี้จะทำหน้าที่เหมือนผู้ถือหุ้น และไม่ได้ตั้งมาเพื่อขายหุ้น จะมากำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้รัฐวิสาหกิจเหล่านั้น" นายกุลิศ กล่าว

   เบื้องต้น การดำเนินงานนี้คล้ายกับการจัดตั้งกองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์ที่เริ่มดำเนินการครั้งแรก จากนั้นจะขยายหน่วยงานดูรัฐวิสาหกิจจนครบทุกแห่ง

    นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก ทำหน้าที่ออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการเดินรถทั้งหมดทั่วประเทศโดยตรง รวมถึง ขสมก.เพื่อเข้ามาดูแลเส้นทางที่ ขสมก.จะสามารถเดินรถร่วมได้ พร้อมทั้งจะดูแลการซื้อรถเมล์ NGV ให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ โดยดำเนินการจัดซื้อรถเมล์ NGV ล็อตแรก 489 คันเพื่อวางแผนการจัดซื้อรถครั้งต่อไป

    และเห็นชอบให้ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม เจรจายุติข้อพิพาทกับคู่สัญญาเอกชน ในเรื่องการใช้ประโยชน์จากเสาโทรคมนาคม ซึ่งการตีมูลค่าทรัพย์สินต้องเป็นธรรมต่อรัฐและเอกชน ทั้งนี้มอบให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศึกษารูปแบบการจัดตั้งบริษัท ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการเสาโทรคมนาคมต่อไป

                ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบแต่งตั้งอนุกรรมการการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้างภาครัฐ เพื่อทำหน้าที่กำหนดแนวปฎิบัติและเปิดเผยข้อมูล เสริมสร้างความโปร่งใสในโครงการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจ เริ่มจากโครงการปรับปรุงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและขยายสนามบินสุวรรณภูมิ โดยคณะอนุกรรมการดังกล่าว จะมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน รวมถึงองค์กรภาคเอกชน ซึ่งเป็นความร่วมมือจากรัฐบาลอังกฤษที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมด้วย จะมีการเปิดโครงการนี้ในวันที่ 6 มี.ค.โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานเปิดงานพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษที่โรงแรมเซนทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว

   ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของรัฐวิสาหกิจในสาขาพลังงานและขนส่ง มุ่งเน้นการสร้างความสมบูรณ์ของโครงสร้างอุตสาหกรรม และช่วยสนับสนุนให้เอกชน สามารถเข้าร่วมเป็นผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในแต่ละสาขาอย่างเท่าเทียม สำหรับภาคอุตสาหกรรมขนส่งนั้น เห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม จัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการบินของประเทศ สร้างความชัดเจนในการกำกับดูแลระบบรางของประเทศ โดยการจัดตั้งกรมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง และเตรียมแยกบทบาทภารกิจของกรมการขนส่งทางบก และบริษัทขนส่งจำกัดออกจากกัน เพื่อส่งเสริมกรแข่งขั้นอย่างเป็นธรรม

    ส่วนอุตสาหกรรมพลังงานเห็นควรให้กระทรวงการคลังพิจารณาการจัดให้มีการรวมศูนย์ด้านพลังงานเพื่อบูรณาการหน่วยงานด้านพลังงานอย่างแท้จริง ทั้งนี้ให้มีการศึกษาการให้เงินอุดหนุนรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินงานด้านสังคม โดยให้อุดหนุนภาคประชาชนโดยตรง

                        อินโฟเควสท์

‘ซูเปอร์บอร์ด’เล็งตั้ง‘องค์กรพิเศษ’คุมขุมทรัพย์รัฐวิสาหกิจ

    แนวหน้า : ‘ซูเปอร์บอร์ด’เล็งตั้ง‘องค์กรพิเศษ’คุมขุมทรัพย์รัฐวิสาหกิจ ห้าม‘นักการเมือง’แทรก

    คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือ 'ซูเปอร์บอร์ด'นัดประชุม 2 มี.ค. นี้ เล็ง “องค์กรพิเศษ” ใหม่ขึ้นมากำกับดูแลและบริหารงาน สกัดนักการเมืองเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ โดยศึกษาโครงสร้าง อาจยึด “แบงก์ชาติ” เป็นต้นแบบ

    นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุม คณะกรรมการนโยบาย และกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ(คนร.)หรือซูเปอร์บอร์ดวันที่ 2 มี.ค.2558 จะมีการหารือถึงการตั้งองค์กรพิเศษใหม่ขึ้นมากำกับดูแลและบริหารงานของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ซึ่งจะมีการพิจารณาว่ารูปแบบใดมีความเหมาะสม และเป็นเรื่องที่ยังต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

    ขณะที่ แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า องค์กรพิเศษที่จะตั้งขึ้นมามีหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่น่าเป็นไปได้ที่สุดที่จะมีการหารือกับในซูเปอร์บอร์ด คือ การตั้งเป็นองค์กรอิสระในรูปแบบบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ หรือ ซูเปอร์โฮลดิ้ง โดยจะเป็นผู้ถือหุ้นรัฐวิสาหกิจทั้งหมดแทน กระทรวงการคลัง พร้อมกันนี้ก็จะรวบอำนาจการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่กระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ มาไว้กับซูเปอร์โฮลดิ้งทั้งหมด เพื่อให้การบริหางานมีเอกภาพและไม่ให้การเมืองเข้าแทรกแซง หรือแสวงหาผลประโยชน์

    “ซูเปอร์โฮลดิ้งจะมีอำนาจในฐานะผู้ถือหุ้น แต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารที่เหมาสมเข้าไป รวมถึงเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติงานของรัฐวิสากิจด้วย โดยจะมีการออกแบบให้การเมืองแทรกแซงซูเปอร์โฮลดิ้งไม่ได้ง่ายๆ เช่น การปลดกรรมการผู้จัดการซูเปอร์โฮลดิ้งจะต้องมีความผิดร้ายแรงถึงจะทำได้ เหมือนกับปลดผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ไม่ใช่คิดจะปลดก็ปลดโดยให้เหตุผลเพื่อความเหมาะสมเท่านั้น”

   แหล่งข่าวกล่าวว่า การตั้งซูเปอร์โฮลดิ้งมาบริหารรัฐวิสาหกิจจะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจสำคัญๆ ทั้งสาขาขนส่ง พลังงาน การสื่อสาร รวมถึงสถาบันการเงิน ที่อำนาจกระจายอยู่ในกระทรวงต้นสังกัด ทั้งที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น แต่กลับไม่มีอำนาจบริหาร หรือ ส่งคนเข้าไปเป็นกรรมการ ปัญหาดังกล่าวก็จะหมดไป

   อย่างไรก็ตาม ซูเปอร์บอร์ดจะมีการหารือถึงการตั้งหน่วยงานอิสระรูปแบบอื่นด้วย เช่น การตั้งเป็นหน่วยงานขึ้นมาใหม่อยู่ภายใต้การดูแลของ สำนักนายกรัฐมนตรี แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการเมืองจะแทรกแซงได้ง่าย

    นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบหน่วยงานอิสระเหมือนกับ ธปท. หรือ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) แต่ก็มีข้อเสียว่าจะทำหน้าที่กำกับได้อย่างเดียว แต่ไม่มีอำนาจเข้าไปบริหาร ซึ่งเป็นจุดอ่อนสำคัญของรัฐวิสาหกิจที่เป็นอยู่ปัจจุบัน

     นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง หนึ่งในกรรมการซูเปอร์บอร์ด แสดงความเห็นว่า ต้องรับฟังความคิดของกรรมการซูเปอร์บอร์ด ว่าส่วนใหญ่เห็นว่ารูปแบบไหนเหมาะสม ในส่วนของกระทรวงการคลัง ก็ต้องเตรียมข้อมูลให้ซูเปอร์บอร์ดพิจารณาว่า หากมีการตั้งซูเปอร์โฮลดิ้งขึ้นมาดูแลรัฐวิสาหกิจแบบเบ็ดเสร็จ ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จะมีบทบาทหน้าที่อย่างไรต่อไป

    ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลัง ได้รายงานฐานะของรัฐวิสาหกิจ 9 สาขา จำนวน 55 แห่ง ณ เดือน มิ.ย. 2557 พบว่า มีทรัพย์สินรวมกัน 11.8 ล้านล้านบาท มีหนี้สิน 9.33 ล้านล้านบาท มีรายได้จากการดำเนินงาน 1.36 ล้านล้านบาท มีรายจ่ายการดำเนินงาน 1.21 ล้านล้านบาท มีกำไรสุทธิ 7.1 หมื่นล้านบาท มีเงินนำส่งรัฐในปีงบประมาณ 2557 ที่ผ่านมา 1.36 แสนล้านบาท

ปิ๊งผุด'โฮลดิ้ง'คุมรัฐวิสาหกิจ หวังรวมอำนาจป้องการเมืองแทรก

     ไทยโพสต์ *'สมหมาย' แจงถกซูเปอร์บอร์ดตั้ง'ซูเปอร์โฮลดิ้ง'คุมรัฐวิสาหกิจเบ็ดเสร็จ รวบอำนาจการบริหารไว้จุดเดียว พร้อมร่างเกณฑ์เบรกการเมืองแทรกแซงการทำงาน

    นายสมหมาย ภาษี รมว.การคลัง เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ในวันที่ 2 มี.ค.นี้ จะมีการหารือการตั้งองค์กรพิเศษใหม่ขึ้นมากำกับดูแลและบริหารงานของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ซึ่งจะมีการพิจารณาว่ารูปแบบใดมีความเหมาะสม และเป็นเรื่องที่ยังต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

   แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า หน่วยพิเศษที่จะตั้งขึ้นมามีหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุดที่จะมีการหารือกับในซูเปอร์บอร์ด คือ การตั้งเป็นองค์กรอิสระในรูปแบบบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ หรือซูเปอร์โฮล ดิ้ง โดยจะเป็นผู้ถือหุ้นรัฐวิสาหกิจทั้งหมดแทนกระทรวงการคลัง พร้อมกันนี้ก็จะรวบอำนาจการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่กระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ มาไว้กับซูเปอร์โฮลดิ้งทั้งหมด เพื่อให้การบริหารงานมีเอกภาพและไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง

    "ซูเปอร์โฮลดิ้งจะมีอำนาจในฐานะผู้ถือหุ้น แต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารที่เหมาะสมเข้าไป รวมถึงเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติงานของรัฐวิสาหกิจด้วย โดยจะมีการออกแบบให้การเมืองแทรกแซงซูเปอร์โฮลดิ้งไม่ได้ง่ายๆ เช่น การปลดกรรมการผู้จัดการจะต้องมีความผิดร้ายแรงถึงจะทำได้ เหมือนกับปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)" แหล่งข่าวกล่าว

    แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า การ ตั้งซูเปอร์โฮลดิ้งมาบริหารรัฐ วิสาหกิจจะทำให้การทำงานของรัฐวิสาหกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจสำคัญๆ ทั้งสาขาขนส่ง พลังงาน การสื่อสาร รวมถึงสถาบันการเงิน ที่อำนาจกระจายอยู่ในกระทรวงต้นสังกัด ทั้งที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น แต่กลับไม่มีอำนาจบริหาร หรือส่งคนเข้าไปเป็นกรรมการ โดยแนว ทางนี้จะทำให้ปัญหาดังกล่าวหมดไป

    อย่างไรก็ตาม ซูเปอร์บอร์ดจะมีการหารือถึงการตั้งหน่วยงานอิสระรูปแบบอื่นด้วย เช่น การตั้งเป็นหน่วยงานขึ้นมาใหม่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการเมืองจะแทรกแซงได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีรูปแบบหน่วยงานอิสระเหมือนกับ ธปท. หรือคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แต่ก็มีข้อเสียว่าจะทำหน้าที่กำกับได้อย่างเดียว แต่ไม่มีอำนาจเข้าไปบริหาร

   นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง หนึ่งในกรรมการซูเปอร์บอร์ด เปิดเผยว่า ต้องรับฟังความคิดของกรรมการซูเปอร์บอร์ด ว่าส่วนใหญ่เห็นว่ารูปแบบไหนเหมาะสม โดยในส่วนของกระทรวงการคลังก็ต้องเตรียมข้อมูลให้ซูเปอร์บอร์ดพิจารณาว่า หากมีการตั้งซูเปอร์โฮลดิ้งขึ้น มาดูแลรัฐวิสาหกิจเบ็ดเสร็จ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จะมีบทบาทหน้าที่อย่างไรต่อไป

     ทั้งนี้ กระทรวงการคลังรายงานฐานะของรัฐวิสาหกิจ 9 สาขา จำนวน 55 แห่ง ณ มิ.ย.2557 มีทรัพย์สินรวมกัน 11.8 ล้านล้านบาท มีหนี้สิน 9.33 ล้านล้านบาท มีรายได้จากการดำเนินงาน 1.36 ล้านล้านบาท มีรายจ่ายการดำเนินงาน 1.21 ล้านล้านบาท มีกำไรสุทธิ 7.1 หมื่นล้านบาท มีเงินนำส่งรัฐในปีงบประมาณ 2557 ที่ผ่านมา 1.36 แสนล้านบาท.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!