WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

คลังกล่อมภาคธุรกิจอย่าวิตกเงินฝืดยันเศรษฐกิจขยายตัวได้แต่ช้า

    แนวหน้า : คลังกล่อมภาคธุรกิจอย่าวิตกเงินฝืดยันเศรษฐกิจขยายตัวได้แต่ช้า สินค้ายังขายดีแต่ราคาถูกลง

    นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ติดตามผลกระทบและแนวโน้มของเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ม.ค. 2558 ขยายตัวติดลบ 0.4% เพราะตอนนี้ประชาชนและนักลงทุนเริ่มมีความกังวลว่าเศรษฐกิจจะมีปัญหาเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ซึ่งได้สั่งให้หามาตรการต่างๆ เตรียมรองรับกระตุ้นเศรษฐกิจไว้ด้วยหากเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจเงินฝืด

     อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงการคลัง ความเห็นทิศทางเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะหากดูอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ตัดราคาพลังงานและสินค้าทางการเกษตร จะเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อยังขยายตัวเป็นบวกอยู่

      “คลังไม่ต้องการให้ประชาชน และนักลงทุน วิตกกังวลและเข้าใจผิดว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด คลังจึงให้ สศค. ติดตามข้อมูลเพื่อได้ชี้แจงให้ประชาชนและนักลงทุนมีความมั่นใจเศรษฐกิจต่อไปนายรังสรรค์ กล่าว

      นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สศค. เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนม.ค. 2558 ที่ขยายตัวติดลบ 0.4% พบว่า มีหมวดพาหนะ และขนส่งที่ขยายตัวติดลบ แต่หมวดอื่นที่เหลือทั้งหมด เช่น หมวดอาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ เครื่องนุ่งห่ม ยังขยายตัวเป็นบวกทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าเงินเฟ้อที่ติดลบเป็นเรื่องของราคาที่ลดลง ไม่ได้เป็นเรื่องของความต้องการซื้อลดลง

     “ภาวะเงินฝืดต้องดูเรื่องความต้องการปริมาณสินค้าลดลง แต่ขณะนี้ความต้องการสินค้าไม่ได้ลดลง ดูจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มใน 3 เดือนที่ผ่านมาขยายตัวเป็นบวกอยู่ แสดงว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้มีปัญหาเงินฝืด ยิ่งดูจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็ยังขยายตัวถึง 1.6% ก็ยิ่งชัดมากขึ้นว่าไทยไม่ได้มีปัญหาเงินฝืด เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการประมาณการเชื่อว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ 3.9% ต่อปี จากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวดีขึ้น การลงทุนภาครัฐเริ่มเบิกจ่ายได้รวดเร็ว แต่ยังมีปัญหาการขยายตัวการส่งออก จากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลร่วมกับทุกฝ่ายรับมือปัญหาการส่งออกนายกฤษฎา กล่าว

     ด้านนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่ายภายหลังนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจสอบราคาสินค้าโดยเฉพาะอาหารปรุงสำเร็จ ที่ตลาดสดโพธิ์สุวรรณ รามอินทรา 40 หลังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนผ่านสายด่วน 1569 ว่า มีร้านค้าจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จจำหน่ายอาหารสูงกว่าราคาที่กรมการค้าภายในได้ทำการวิเคราะห์ต้นทุน เช่น ข้าวขาหมู ข้าวหมูกรอบ และข้าวราดแกง ที่จำหน่ายจานละ 40-60 บาท ขณะที่ราคาวัตถุดิบ อาทิ เนื้อสุกร เนื้อไก่ และไข่ไก่ ยังไม่มีการปรับขึ้นราคา ดังนั้น การจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จรูปควรจำหน่ายให้สอดคล้องกับราคาต้นทุน โดยจำหน่ายเฉลี่ยจานละ 30-45 บาท เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภค

    อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะเชิญห้างสรรพสินค้าต่างๆ เข้าหารือร่วมกันเพื่อขอความร่วมมือให้ปรับลดราคาอาหารปรุงสำเร็จในศูนย์อาหาร แต่ยอมรับว่า การขอความร่วมมือครั้งนี้ไม่ได้กดราคาจำหน่ายอาหารในห้างให้ลดลง แต่ต้องการให้พิจารณาถึงราคาต้นทุนที่แท้จริงตามราคาน้ำมันที่ลดลง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!