WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

คลังยอมรับสภาพการส่งออกปลุกไม่ตื่น หั่นเป้าปี’58 เหลือแค่ 1.4%

     แนวหน้า : คลังยอมรับสภาพการส่งออกปลุกไม่ตื่น หั่นเป้าปี’58เหลือแค่1.4% เหตุเศรษฐกิจโลกยังแย่

     นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2557 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ 0.7% ต่อปี ปรับลดจากเดือนต.ค.ที่ได้ประมาณการจะขยายตัวได้ที่ 1.4% ต่อปี เนื่องจากการส่งออกสินค้าและบริการที่หดตัว ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ล่าช้าและความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่ลดลงในช่วงครึ่งปีแรก รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐยังค่อนข้างต่ำ อันเป็นผลจากการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นไปอย่างล่าช้าในช่วงที่มีปัญหาความไม่สงบทางการเมือง

      ขณะเดียวกันยังปรับประมาณการอัตราการเติบโตของภาคการส่งออกของปี 2557 ขยายตัวติดลบ -0.2 % ต่อปี จากเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่ดีตามคาด โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าอย่างกลุ่มสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงปลายปี 2557 โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่ดีขึ้น การจ้างงานและรายได้นอกภาคเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดี และต้นทุนการดำเนินงานของภาคธุรกิจที่ลดลงตามราคาพลังงาน ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2557 อยู่ที่ 1.9% ลดลง ตามราคาน้ำมันตลาดโลก

     นอกจากนี้ สศค.ยังปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 2558 มาอยู่ที่ 3.9% ต่อปี จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.1% ต่อปี จากแรงส่งของการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง เม็ดเงินจากงบกลางที่กันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีและงบไทยเข้มแข็ง การลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ยังเบิกจ่ายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปี 2559 ที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 5.4 แสนล้านบาท รวมถึงคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกด้วย

     อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าของไทยในปีนี้จะยังคงมีข้อจำกัดในการขยายตัวจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ สศค.ได้ประมาณการส่งออกปี 2558 ไว้อยู่ที่ 1.4% ต่อปี ปรับลดจากเดิมคาดว่าขยายตัว 3.5% ต่อปี ด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 จะอยู่ที่ 0.9% ลดลงตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่มีทิศทางลดลง เนื่องจากอุปทานที่มากกว่าอุปสงค์ในตลาดโลก

    สำหรับ การประมาณการเศรษฐกิจปี 2558 อยู่ภายใต้สมมุติฐาน เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ 3.83% ต่อปี ค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.06 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิมที่คาดไว้ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล การส่งออกขยายตัวได้ 1.4% และอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงไว้ที่ 2% รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณ 2558 ถึงไตรมาสแรกของปี 2559

    “ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอ ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน และแนวโน้มการลดลงของราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตร”นายกฤษฎา กล่าว

ศก.โลกฟื้นช้า!คลังหั่นจีดีพีปี 58 เหลือ 3.9%

   ไทยโพสต์ : พระรามหก * คลังทำใจหั่นตัว เลขเศรษฐกิจไทยปี 2557 เหลือโต 0.7% ส่งออกติดลบ 0.2% พร้อมเฉือนคาดการณ์จีดีพีปี 2558 เหลือ 3.9% จากเดิม 4.1% ห่วงเศรษฐกิจโลกฟื้นช้ากระทบชิ่งต่อ คาดเบิกจ่ายงบประมาณทำได้ดีขึ้นมาอยู่ที่ 74%

    นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ได้ปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2557 เหลือ 0.7% จากคาดการณ์เดิม 1.4% ขณะที่ตัวเลขการส่งออกติดลบ 0.2% จากเดิมโต 0% และนำเข้าติดลบ 8.6% เนื่องจากภาคการส่งออกสินค้าและบริการยังมีแนวโน้มหดตัวอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ล่าช้า ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีแรกได้รับผลกระทบอย่างหนักจากความไม่สงบทางการเมือง

    สำหรับ เสถียรภาพเศรษฐ กิจไทยปี 2557 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ระดับต่ำ 1.9% เงินเฟ้อฟื้นฐานอยู่ที่ 1.6% อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.8% ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ 3.3% ของจีดีพี อัตราการลงทุนรวมติดลบ 2.6% โดยการลงทุนภาคเอกชนติดลบ 2.1% การลงทุนภาครัฐติดลบ 4.7% ขณะที่อัตราการขยายตัวของการบริโภครวมอยู่ที่ 1% การบริโภคภาคเอกชนอยู่ที่ 0.5% และการบริโภคภาครัฐอยู่ที่ 3.7% อัตราการแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอยู่ที่ 32.5 บาทต่อดอลลาร์ จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีอยู่ที่ 24.8 ล้านคน ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 96.6 ดอลลาร์ต่อบาเรล

   นายกฤษฎา กล่าวว่า แนวโน้มตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2558 คาดว่าจะขยายตัว 3.9% โดยมีช่วงคาดการณ์ 3.4-4.4% จากเดิมคาด 4.1% การส่งออกขยายตัว 1.4% โดยมีช่วงคาดการณ์ติดลบ 0.6 ถึงบวก 3.4% และนำเข้าขยายตัว 4% โดยมีช่วงคาดการณ์ 2-6% เงินเฟ้อทั่วไป 0.9% เงินเฟ้อพื้นฐาน 1.2% อัตราการว่างงาน 0.8%

     อย่างไรก็ดี สศค.คาดการณ์การเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2558 ทำได้ดีขึ้น อยู่ที่ 73.9% โดยคาดว่ารายจ่ายรัฐบาลจะอยู่ที่ 2.63 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 5.9% โดยในส่วนนี้เป็นรายจ่ายงบประมาณรวมอยู่ที่ 2.61 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 5.5% เป็นรายจ่ายประจำ 2.06 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 5.3% รายจ่ายลงทุน 3.13 แสนล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 10.3% และรายจ่ายรัฐวิสาหกิจ 2.8 แสนล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 21.8%.

สศค.คาด GDP ปี 58 โตเร่งตัวเป็น 3.9% จาก 0.7% ในปี 57 ส่งออกยังมีข้อจำกัด

     นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 58 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมาอยู่ที่ 3.9% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.4 – 4.4%) จากในปี 57 ที่คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ 0.7% ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 2.9% โดยได้รับแรงส่งของการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง เม็ดเงินจากงบกลางที่กันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีและงบไทยเข้มแข็ง การลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ยังเบิกจ่ายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปี 59 ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งมาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพในการเบิกจ่าย ประกอบกับอุปสงค์จากต่างประเทศคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศคลี่คลายลง

     อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าของไทยในปีนี้จะยังคงมีข้อจำกัดในการขยายตัวจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจภาพรวมที่ฟื้นตัวขึ้นและนโยบายภาครัฐที่มีความชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นตาม ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 58 จะอยู่ที่ 0.9% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.4 – 1.4%) ลดลงจากปีก่อนหน้า ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่มีทิศทางลดลง เนื่องจากอุปทานที่มากกว่าอุปสงค์ในตลาดโลก

    “ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอ ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน และแนวโน้มการลดลงของราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตร"นายกฤษฎา กล่าว

     นายกฤษฎา กล่าวว่า สศค.ได้ประเมิน GDP ในปี 58 ว่าจะขยายตัวที่ 3.9% จากก่อนหน้าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 4% โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานที่สำคัญ 6 ประการ คือ 1.เศรษฐกิจโลกในปี 58 คาดว่าจะเติบโตได้ 3.83%  ฟื้นตัวจากในปี 57 ที่เติบโตได้ 3.6% 2.อัตราแลกเปลียนเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีที่ระดับ 33.06 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากในปี 57 ที่เฉลียที่ระดับ 32.49 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งปัจจัยที่จะมีผลต่อค่าเงินบาทที่ต้องติดตามในปีนี้ คือ นโยบายการเงินของประเทศที่พัฒนาแล้ว, ทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้าย, ความเสี่ยงของเศรษฐกิจรัสเซีย และความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศต่างๆ ที่อาจจะส่งผลต่อค่าเงิน

      3.ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมา โดย ณ วันที่ 27 ม.ค.58 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 45.87 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยปัจจัยที่อาจจะมีผลต่อราคาน้ำมันที่ต้องติดตาม เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก, สหรัฐ, จีน และยุโรป, ค่าเงินดอลลาร์, การปรับตัวของผู้ผลิต Shale Oil ในอเมริกาเหนือ, ท่าทีของกลุ่ม OPEC ในช่วงกลางปี, สภาวะอากาศและภัยธรรมชาติ รวมทั้งการปรับตัวด้านนโยบายพลังงานของประเทศต่างๆ

   4.ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้า 5.อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปีนี้ไว้ที่ระดับ 2% เพื่อช่วยสนับสนุนภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และ 6.การเบิกจ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะดีขึ้น และมีโครงการเบิกจ่ายเพิ่มเติมในปีงบประมาณ

    สำหรับ เศรษฐกิจไทยในปี 57 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ 0.7% ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 2.9% สาเหตุหลักจากการส่งออกสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มหดตัว ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ล่าช้าและความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่ลดลงในช่วงครึ่งปีแรกจากปัญหาความไม่สงบทางการเมือง นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังค่อนข้างต่ำ อันเป็นผลจากการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นไปอย่างล่าช้าในช่วงที่มีปัญหาความไม่สงบทางการเมือง

    อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงปลายปี โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่ดีขึ้น การจ้างงานและรายได้นอกภาคเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับต้นทุนการดำเนินงานของภาคธุรกิจที่ลดลงตามราคาพลังงาน สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 57 อยู่ที่ 1.9% ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศเป็นสำคัญ

อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!