WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

คลัง หั่นเป้าจีดีพีปี 58 เหลือโต 3.9% จากเดิมคาดโต 4.1% ส่วนส่งออกคาดเหลือโตแค่ 1.4% เหตุเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

   พิษ ศก.โลก กดคลัง หั่นเป้า จีดีพีปี 58 โต 3.9% จากเดิมคาดโต 4.1% ส่วนจีดีพี ปี57 คาดโตแค่0.7% หลังส่งออกชะลอตัว คาดปี 58 โต 1.4% จากเดิมคาดโต 3.5% ส่วนนำเข้าคาดโต 4% พร้อมหั่นเป้าเงินเฟ้อปี58 อยู่ที่ 0.9 % จากเดิมคาดอยู่ที่ 2.2% เหตุราคาน้ำมันชะลอตัวลง ส่วนจีดีพี ไตรมาส4/57 คาดโต 2.3% ดีขึ้นหลังการบริโภค- ลงทุนฟื้น

  นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เศรษฐกิจไทยในปี 2558 คาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.4 – 4.4) (อนึ่ง ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังคาดการณ์ จีดีพี ปี 58 โต 4.1% ) โดยได้รับแรงส่งของการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง เม็ดเงินจากงบกลางที่กันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีและงบไทยเข้มแข็ง การลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ยังเบิกจ่ายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปี 2559 ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งมาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพในการเบิกจ่าย ประกอบกับอุปสงค์จากต่างประเทศคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศคลี่คลายลง

   อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าของไทยในปีนี้จะยังคงมีข้อจำกัดในการขยายตัวจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจภาพรวมที่ฟื้นตัวขึ้นและนโยบายภาครัฐที่มีความชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นตาม

   สำหรับ เศรษฐกิจไทยในปี 2557 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 0.7 ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 โดยมีสาเหตุหลักจากการส่งออกสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มหดตัว ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ล่าช้าและความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่ลดลงในช่วงครึ่งปีแรกจากปัญหาความไม่สงบทางการเมือง นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังค่อนข้างต่ำ อันเป็นผลจากการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นไปอย่างล่าช้าในช่วงที่มีปัญหาความไม่สงบทางการเมือง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงปลายปี โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่ดีขึ้น การจ้างงานและรายได้นอกภาคเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับต้นทุนการดำเนินงานของภาคธุรกิจที่ลดลงตามราคาพลังงาน สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศเป็นสำคัญ

   “ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอ ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน และแนวโน้มการลดลงของราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตร”  นายกฤษฎา

   นอกจากนี้ สศค.ปรับประมาณการเป้าหมายการส่งออกปี 2558 ลงเหลือ 1.4% จากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5% และปรับเป้าหมายการนำเข้าลงเหลือ 4% จากครั้งก่อนที่คาดว่าจะเติบโตได้ 9.6% สำหรับสาเหตุที่มีการปรับเป้าหมายส่งออกลดลง เนื่องจาก เศรษฐกิจคู่ค้า โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลัก 15 ประเทศชะลอตัวลง โดยคาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 3.83%

    ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามในหลายด้านที่นอกเหนือจากเศรษฐกิจโลก คือ แนวโน้มค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับคู่ค้า แต่หากเทียบกับดอลลาร์จะอ่อนค่าลง 1.8% โดยคาดว่าค่าเงินบาทเฉลี่ยจะอยู่ที่ 33.06 บาทต่อดอลลาร์ จากปีที่ผ่านมาที่ 32.49 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ยังคงต้องติดตามเงินทุนเคลื่อนย้าย ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง ดัชนีราคาส่งออกและราคานำเข้าที่ยังคาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2557 รวมถึงราคาสินค้าเกษตรที่ยังชะลอตัวลงด้วย

   นายกฤษฎา คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 จะอยู่ที่ร้อยละ 0.9 จากเดิมคาดอยู่ที่ ร้อยละ 2.2% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.4 – 1.4) ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.2% จากเดิมคาดอยู่ที่ 1.6%  ลดลงจากปีก่อนหน้า ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่มีทิศทางลดลง เนื่องจากอุปทานที่มากกว่าอุปสงค์ในตลาดโลก

   ส่วนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ไตรมาส 4/2557 คาดจะขยายตัวได้ 2.3% โดยเศรษฐกิจในไตรมาส 4 มีสัญญาณดีขึ้นจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว ทั้งจากการใช้จ่าย การบริโภค การลงทุน และภาคการคลัง โดยการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 4/2557 เติบโต 1.3% สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาส 4 อยู่ที่ 69.6 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 3/2557 ที่ 69.3 ส่วนหนึ่งมาจากความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

    การลงทุนภาคเอกชนในไตรมาส 4 ขยายตัว 1.6% ต่อปี หลังสถานการณ์การเมืองคลี่คลาย ขณะที่การท่องเที่ยวในช่วงเดือน ธ.ค. ยังปรับตัวดีขึ้นโดยมีนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 2.84 ล้านคน ซึ่งนับเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยขยายตัวติดต่อกันเป็นเดินที่ 3 อยู่ที่ 11.8% จ่อปี โดยนักท่องเที่ยวจากจีนและมาเลเซียมีสัดส่วนมากที่สุด และไตรมาส 4/2557 นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าไทยมีทั้งสิ้น 7.45 ล้านคน ขยายตัว 7% ต่อปี

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!