WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

'หม่อมอุ๋ย'หารือ'รมว.คลัง'เล็งออกกม.พิเศษล้างหนี้จำนำข้าว

    แนวหน้า :   แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับ นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ที่จะออกกฎหมายพิเศษล้างหนี้จากการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งมีผลขาดทุนไม่ต่ำกว่า 7 แสนล้านบาท โดยการดำเนินนี้จะทำเหมือนการออก พ.ร.ก.แก้ไขปัญหาหนี้เสียของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จำนวน 1.4 ล้านล้านบาท เพื่อให้มีความชัดเจนกว่าที่ผ่านมา

   ทั้งนี้ คาดว่าการออกกฎหมายดังกล่าว จะดำเนินการได้ภายในเดือน ก.พ.นี้ หลังจากที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ที่มี นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงคลังเป็นประธาน สรุปปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวรอบ 30 ก.ย.57 จากที่ก่อนหน้านี้ปิดไปถึงรอบ 22 พ.ค.57 มีผลขาดทุน 6.82 แสนล้านบาท

  แหล่งข่าวกล่าวว่า การปิดบัญชีรอบถึง ณ วันที่ 30 ก.ย.57 เป็นฐานความเสียหายในการออกกฎหมายพิเศษล้างหนี้จำนำข้าว เพราะมองว่าสะท้อนความเสียหายได้ใกล้เคียงมากที่สุด เพราะจะมีการนำข้อมูลตรวจสอบปริมาณข้าวของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาใช้ประกอบการปิดบัญชี ซึ่งจะตีราคาข้าวตามคุณภาพข้าว จากที่ก่อนหน้านี้คิดราคาข้าวหักแค่ค่าเสื่อมปีละ 10% ซึ่งจะหักแค่ 4 ปี หรือไม่เกิน 40% รวมถึงกรณีข้าวหายก็จะหักเป็นขาดทุนทันที จากที่ก่อนหน้านี้ยังไม่มีการคิดในส่วนนี้

  สำหรับ การปิดบัญชีใหม่คาดว่า จะมีผลขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 7 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาชำระหนี้ไม่ต่ำกว่า 20 ปี โดยในกฎหมายพิเศษจะมีการบุเวลาที่ใช้หนี้ชัดเจน และจำนวนหนี้ที่ต้องชำระในแต่ละปี โดยจะจัดสรรมาจากงบประมาณรายจ่ายแต่ละปี

   นายสมหมาย กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลเป็นหนี้จากโครงการรับจำนำข้าวไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท มีข้าวที่เหลืออยู่ในในโกดังกว่า 10 ล้านตัน เสียหายไม่น้อยกว่าครึ่ง ทำให้ขายข้าวไม่ออก ทำให้ไม่มีเงินมาใช้หนี้ และหนี้ที่เป็นอยู่ก็สะเปสะปะ ไม่สามารถใช้ให้หมดได้เร็วๆ เพราะหนี้จำนวนมากเงินงบประมาณมีไม่พอ ต้องทยอยอย่างน้อยอีก 20 ปี จึงต้องมีการบริหารใช้หนี้ตรงนี้ให้ชัดเจน โดยการรวมกันให้เป็นก้อนเดียวกันและจัดสรรงบประมาณมาชำระหนี้ระยะยาว

   แหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า เตรียมเสนอขอวงเงินงบประมาณปี 59 วงเงินรวมกว่า 1 แสนล้านบาท สูงปีงบประมาณ 58 ที่ได้รับการจัดสรร 8.4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปีที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ได้ดำเนินตามนโยบายรัฐบาลทั้งการจ่ายเงินให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท และจ่ายให้ชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท วงเงิน 8,200 บาท ส่วนเงินที่จะนำมาใช้หนี้โครงการรับจำนำข้าวของปีก่อนหน้านั้น คณะจัดทำได้ระบุลงไปในแผนไว้ แต่จะอนุมัติหรือไม่ขึ้นอยู่ที่กระทรวงการคลังว่าจะบริหารจัดการหนี้ก้อนนี้อย่างไร

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!