- Details
- Category: คลัง
- Published: Thursday, 08 January 2015 01:33
- Hits: 3164
'คลัง'ชี้เร็วไปปรับเป้ารายได้ปี 58 สศค.ยอมรับจีดีพี 57โตไม่ถึง 1%
แนวหน้า : นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่า การปรับคาดการณ์จัดเก็บรายได้ในปี 2558 มองว่ายังเร็วเกินไปที่จะต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 2.325 ล้านล้านบาท เนื่องจากยังมีโอกาสในการจัดเก็บรายได้ใหม่ๆ และรายได้บางรายการที่หายไป ก็ต้องไปดำเนินการจัดเก็บให้ได้ตามเป้าหมาย ส่วนปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับลดลงนั้น ขณะนี้คงยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ราคาน้ำมันจะลดลงจนถึงสิ้นปี และแม้ว่าจะกระทบจากภาษีนำเข้า แต่เมื่อพิจารณาจากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน การจัดเก็บรายได้ก็ไม่ได้หายไปมาก
ด้าน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การปรับคาดการณ์จัดเก็บรายได้ในแต่ละปีงบประมาณเมื่อเห็นภาวะเศรษฐกิจจริงถือเป็นเรื่องปกติ โดยปีงบประมาณ 2558 การจัดเก็บรายได้มีโอกาสปรับลดลง เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ลดลงจากปกติที่เฉลี่ย 100 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล รัฐจะจัดเก็บได้ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท แต่ขณะนี้น้ำมันลงมาอยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังได้การจัดเก็บภาษีน้ำมันมาชดเชย โดยการขึ้นภาษีทุก 1 บาทต่อลิตร จะทำให้มีรายได้ 2 หมื่นล้านบาท ส่วนภาษีอื่นๆ เช่น รถยนต์ สุรา ที่การจัดเก็บยังต่ำกว่าที่คาด
ทั้งนี้ ช่วงสิ้นเดือน ม.ค.58 สศค.จะมีการปรับประมาณอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ของปี 2557 ใหม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ปี 2557 ที่คาดว่าจะโตได้เพียง 3% จากภาคส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว และมาตรการของรัฐที่ออกมา ทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณ และงบอื่นๆ พบว่ายังต่ำกว่าที่คาดไว้ ส่งผลให้ทั้งปีคาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดไว้เดิมที่ 1.4% ต่อปี เหลือไม่เกิน 1% ต่อปี มาอยู่ใกล้เคียงกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดไว้ที่ 0.8%
"โอกาสที่จีดีพีปี 2557 จะโตกว่า 1% คงไม่มี แต่ไม่น่าจะต่ำกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายขยายตัวไม่มาก โดยหากเติบโตได้ 3% ซึ่งที่กว่าที่คาดไว้ที่ 3.2% จะส่งผลให้จีดีพีทั้งปีโตได้ 0.8 - 0.9% ส่วนส่งออกก็ไม่น่าจะโตเกิน 0% ไม่ต้องไปหวังเพราะยังไม่ค่อยดี" นายกฤษฎา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการขยายตัวเศรษฐกิจในปี 2558 ยังคงประมาณการไว้ที่ 4% การส่งออกขยายตัว 3 - 5% โดยปัจจัยที่ต้องจับตา เช่น ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และอาจจะมีการเคลื่อนย้ายเงินทุน อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปัจจุบันอยู่ที่ 2% ยังไม่มีแนวโน้มปรับเปลี่ยน ราคาน้ำมันที่ปรับลดลง เฉลี่ย 65 เหรียญต่อบาเรล แม้จะดีในแง่การผลิต แต่จะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รวมถึงปัญหาภัยพิบัติ การขาดแคลนแรงงานเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เป็นต้น