- Details
- Category: คลัง
- Published: Monday, 02 June 2014 22:25
- Hits: 3754
คลังรับอานิสงส์'คสช.' กระตุ้นศก.รายได้เพิ่ม
ไทยโพสต์ : พระราม 6 * คลังใจชื้น คสช. เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หนุนแผนรีดภาษีต่ำเป้าไม่ถึงแสนล้านบาท จ่อชงต่ออายุลดภาษีดีเซลเหลือ 0.005 บาทต่อลิตร
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านทรัพย์สินและรายได้ เปิดเผยว่า การจัดเก็บรายได้ในปี 2557 ของ 3 กรมภาษี ได้แก่ กรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต ขณะนี้มั่นใจว่าจะสามารถจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายไม่เกิน 1 แสนล้านบาทเท่านั้น จากเดิมที่คาดว่าจะต่ำกว่าเป้าหมาย 1.5 แสนล้านบาท เนื่องจากมีฝ่ายบริหารคือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้มาตรการทางเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนต่อไปได้ เช่น การจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าว ที่ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจฐานรากอีก 9.2 หมื่นล้านบาท
"ได้สั่งการให้ 3 กรมภาษีเร่งประเมิน และประสิทธิภาพการจัดเก็บในส่วนที่ยังมีช่องโหว่ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากปัญหาการเมือง ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งให้การจัดเก็บรายได้ แม้จะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้ตามเป้าหมายที่ตั้ง 2.27 ล้านล้านบาท" นายจักรกฤศฏิ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาการเมืองจะได้ข้อยุติแล้ว แต่เชื่อว่าการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตดีเซลคงยังไม่สามารถทำได้ในสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ และคิดว่า คสช.จะยังไม่ตัดสินใจให้ขึ้นภาษีดีเซลในช่วงปีงบ 2557 แน่ โดยขณะนี้ภาษีดีเซลลดให้อยู่ที่ 0.005 บาท/ลิตร จากที่เคยเก็บ 5.31 บาท/ลิตร มีกำหนดลดให้จนถึง 30 มิถุนายน 2557 ซึ่งคาดว่าจะมีการเสนอต่ออายุไปยัง คสช.ต่อไปอีก กำลังดูว่าจะเสนอต่ออายุในลักษณะเดือนต่อเดือนเหมือนที่ผ่านมา หรือต่ออายุลดยาวไปเลย
สำหรับกรมสรรพสามิตกำลังอยู่ระหว่างการปรับโครง สร้างภาษีใหม่ทั้งระบบให้เหมาะสม เพราะในระยะยาวหากจะให้เก็บภาษีเพิ่มขึ้น ต้องเพิ่มสัดส่วนการจัดเก็บภาษีในส่วนของสินค้าฟุ่มเฟือย และสินค้าที่ทำลายสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น จากขณะนี้เน้นเฉพาะภาษีจากสินค้าบาป
นอกจากในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพของกรมภาษีแล้ว กระทรวงการคลังก็ต้องทบทวนเรื่องการบริหารทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ และรายได้มากขึ้น เช่น ทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจต่างๆ รวมถึงทรัพย์ของกรมธนารักษ์ ในส่วนที่เป็น ที่ราชพัสดุต่างๆ ซึ่งมองว่ายัง สามารถทำรายได้ในเชิงพาณิชย์ได้มากกว่านี้ เมื่อเทียบกับการบริหารทรัพย์สินของเอกชน ซึ่งส่งผลให้การจัดรายได้ของกรมธนารักษ์เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่จัดเก็บได้เฉลี่ยแค่ 4,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่มีแนวโน้มการขยายตัว.
ติดเทอร์โบโครงสร้างพื้นฐานคลังเร่งจัดสรรงบ-เงินกู้สอดคล้องแผนลงทุน
บ้านเมือง : แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว จะดำเนินการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น หลังจากสำนักงบประมาณและสำนักบริหารหนี้สามารถวางแผนการจัดสรรงบประมาณและเงินกู้ให้สอดคล้องกับแผนการลงทุน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ในบางครั้งแผนการเงินไม่มีประสานสอดคล้องกันระหว่าง สำนักงบประมาณกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เนื่องจากแหล่งเงินที่จะใช้ลงทุนจะต้องมาจากทั้งเงินงบประมาณที่บริหารโดยสำนักงบประมาณ และแหล่งเงินกู้ที่บริหารโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ โดยงบลงทุนเพื่อการศึกษาและออกแบบ รวมถึงการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เวนคืน จะต้องใช้เงินงบประมาณ ขณะที่การลงทุนในตัวโครงการสามารถใช้แหล่งเงินกู้ได้
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา การพิจารณางบเพื่อการศึกษาและออกแบบโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ทางสำนักงบประมาณมักจะพิจารณาความพร้อมของโครงการ โครงการใดมีความพร้อมสูงก็ได้ได้รับงบประมาณก่อน ดังนั้นในกรณีที่มีโครงการที่พร้อมลงทุนทันทีกับโครงการที่เพิ่งของบศึกษาและออกแบบ ทางสำนักงบประมาณย่อมให้ Priority แก่โครงการที่พร้อมลงทุนก่อน เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด ซึ่งเมื่อไม่ได้รับงบประมาณในการศึกษาออกแบบโครงการก็ไม่สามารถเดินหน้าได้
แหล่งข่าวกล่าวว่า หลังจากที่สำนักบริหารหนี้ และสำนักงบประมาณได้หารือร่วมกันแล้ว ได้ตกลงว่า สำหรับโครงการที่เป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลนั้นจะต้องดึงขึ้นมาเป็น Priority โดยต้องจัดงบประมาณและเงินกู้ให้ประสานสอดคล้องกัน ตั้งแต่ต้นน้ำถึง
ปลายน้ำ หรือตั้งแต่งบ ศึกษาออกแบบ เวนคืน จนถึงการกู้เงินเพื่อลงทุน และการจัดหาเอกชนมา Operate โดยเฉพาะโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
ทั้งนี้ คาดว่าในปีงบประมาณ 58 การลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบขนส่งและคมนาคม จะใช้เงินในปีแรกไม่เกิน 1 แสนล้านบาท ที่จะลงทุนในโครงการระบบรถไฟรางคู่, โครงการถนน 4 เลน ซึ่งมีความพร้อมมากกว่าโครงการอื่นๆ และรวมถึงโครงการรถไฟฟ้าในเมืองและปริมณฑล ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง
สำหรับโครงการรถไฟรางคู่ เฟสแรกที่คาดว่าจะเริ่มลงทุน คือ เส้นทางโคราช เชื่อมต่อกับท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งอนุมัติโครงการ และได้เริ่มประกวดราคาไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการรอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ลงนามอนุมัติผลการทำ EIA ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะกรรมการชุดนี้ ที่มีอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นประธาน ยังไม่ลงนาม เนื่องจากเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าในเมืองและปริมณฑลนั้นมีโครงการที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง และต้องมีการเบิกจ่ายเงินกู้ในปีงบประมาณ 2015 คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ และสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระหัวลำโพง-บางแค ส่วนสายสีเขียวเข้ม ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ อยู่ในระหว่างการประกวดราคา ซึ่งถ้าอนุมัติผู้ชนะการประมูลแล้วก็สามารถเริ่มกู้ได้ทันที
อย่างไรก็ตาม ส่วนเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี กำลังรอรัฐบาลใหม่ว่าจะปรับแผนอย่างไรหรือไม่ โดยเฉพาะตัวที่ตั้งสถานี ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ล่าช้าก็คือ เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลแล้วจะมีการรื้อโครงการ ซึ่งกว่าจะปรับปรุงใหม่ก็ใช้เวลาเป็นปี
น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 3 มิ.ย.นี้ สบน.จะเปิดซองประมูลเงินกู้ลักษณะ Term Lone วงเงินทั้งสิ้น 50,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าว และหลังจากนั้นจะทยอยกู้เงินอีก 40,000 ล้านบาทให้ครบ 90,000 ล้านบาท โดย สบน.จะเร่งกู้เงินจากตลาดให้เร็วขึ้นหลังจากสัปดาห์ที่แล้ว ธ.ก.ส.เร่งจ่ายเงินให้แก่ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเพียงแค่ 5 วัน (วันที่ 26-30 พ.ค.) ได้จ่ายเงินไปแล้วมากกว่า 30,000 ล้านบาท ทำให้ ธ.ก.ส.เหลือสภาพคล่องที่ยังสามารถนำมาใช้ได้อีกเพียง 10,000 ล้านบาท ซึ่งอาจทำให้การจ่ายเงินให้แก่ชาวนาสะดุดได้
ขณะนี้ สบน.ได้ทำหนังสือถึงสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชนที่สนใจปล่อยกู้แก่ สบน.วงเงินก้อนแรก 50,000 ล้านบาท ในวันที่ 3 มิ.ย.นี้ ซึ่งมีเงื่อนไขระบุว่าผู้ที่ชนะการประมูลต้องนำเงินมาให้ สบน.ในวันที่ 6 มิ.ย.จำนวน 30,000 ล้านบาท และในวันที่ 31 มิ.ย.อีก 20,000 ล้านบาท แต่เนื่องจาก ธ.ก.ส.ได้เร่งจ่ายเงินให้แก่ชาวนาเร็วมากๆ จากเดิมที่ ธ.ก.ส.มีศักยภาพในการจ่ายเงินได้วันละ 3,000-4,000 ล้านบาท ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา เพียงวันเดียวได้จ่ายเงินไปถึง 10,000 ล้านบาท ทำให้ สบน.ต้องปรับปรุงแผนในการรับเงินให้เร็วขึ้นตามไปด้วย