- Details
- Category: คลัง
- Published: Thursday, 25 December 2014 07:24
- Hits: 2325
คลังชง ครม.ปรับแผนจัดการหนี้ 'สมหมาย' รับ มีกลุ่มบุคคลปั่นหุ้นสั่ง ก.ล.ต.เอาผิด
บ้านเมือง : กระทรวงการคลังเสนอ ครม. ปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะ 2 แสนล้านบาท โดย 1 แสนล้านให้ ธ.ก.ส.ออกพันธบัตรระดมเงินมาชดเชยขาดทุน รับจำนำข้าวและขาดดุลงบประมาณส่วนอีก 1แสนล้านปรับปรุงหนี้เงินกู้ ส่วน หุ้นตกกว่า 140 จุด ยอมรับมีความพยายามปั่นหุ้น มอบหมาย ก.ล.ต. ตามแกะรอย เอาผิด ขณะที่ ธปท. ยันเงินรูเบิลอ่อนค่าไม่กระทบโดยตรงไทย
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 23 ธ.ค.นี้ เพื่อพิจารณาแผนปรับปรุงการบริหารหนี้สาธารณะ ในปีงบประมาณ 2558 ครั้งที่ 1 วงเงิน 2 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวน 1 แสนล้านบาทนี้จะแบ่งเป็น การออกพันธบัตรออมทรัพย์โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 5 หมื่นล้านบาท อายุ 5 ปี เพื่อชดเชยการขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าว และอีก 5 หมื่นล้านบาท จะเป็นการออกพันธบัตรรัฐบาล อายุ 10 ปี เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 58 ส่วนที่เหลืออีก 1 แสนล้านบาท จะเป็นการปรับปรุงหนี้เงินกู้ให้มีความเหมาะสม
สำหรับ กรณีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงกว่าเกือบ 140 จุดในช่วงที่ผ่านมา เป็นเหตุมาจากปัจจัยในส่วนของภายนอกประเทศ หรือเฉพาะในส่วนของตลาดหุ้นสหรัฐ ยุโรป ที่ปรับตัวลดลง นอกจากนี้สถานการณ์ที่บริษัทน้ำมันในตลาดหุ้น ยังปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ทั้งนี้ ยืนยันว่า ไม่มีปัจจัยกดดันจากภายในประเทศอย่างแน่นอน ที่เป็นแรงกดดันให้ตลาดปรับตัวลดลง แต่ทั้งนี้ยอมรับว่ามีกลุ่มบุคคลที่พยายามปั่นตลาดหุ้นอยู่ และรอจังหวะในการช้อนซื้อหุ้น ซึ่งได้มอบหมายให้ทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เป็นผู้ดำเนินการและจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ด้านนายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจในรัสเซียจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและภาวะเงินรูเบิลอ่อนค่าว่า ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากนัก เนื่องจากมูลค่าเศรษฐกิจของรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2% ของเศรษฐกิจโลกเท่านั้น แต่อาจจะมีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนในตลาดเกิดใหม่มากกว่า ซึ่งขณะนี้คงยังไม่สามารถประเมินได้ชัด เนื่องจากเป็นช่วงท้ายปีที่นักลงทุนไม่ค่อยทำธุรกรรมกันมากนัก คงต้องรอไปติดตามในช่วงเดือนม.ค.ปีหน้าที่นักลงทุนเริ่มกลับมา ซึ่งอาจจะเริ่มเห็นการกระจายการลงทุนไปยังภูมิภาคต่างๆ
"เคสรัสเซียเป็นเคสเฉพาะของเขา แต่อาจกระทบในเชิง sentiment ของนักลงทุนได้ แต่นักลงทุนคงต้องรอ ม.ค. เพราะขณะนี้ตลาดบาง แต่ถ้ามองความน่าเป็นห่วงของตลาดใหม่แล้ว ความผันผวนจะเกิดขึ้นเป็นปกติ โดยตลาดเอเชียไม่น่ากังวลเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เพราะพื้นฐานด้านเสถียรภาพมีความเข้มแข็ง"
ที่ผ่านมา รัสเซียมีปัญหาที่เกิดจากการดูแลนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ใช้กลไกตลาดอย่างเต็มที่ แต่ยึดนโยบายของรัฐบาลเป็นสำคัญ นอกจากนี้รัสเซียยังเจอมาตรการคว่ำบาตรจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงทำให้การค้าสะดุดและมีปัญหาเงินเฟ้อสูง ซึ่งทำให้รัสเซียต้องใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่เข้มงวดเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างมากส่งผลกระทบต่อรายได้ของ รัสเซีย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีรายได้จากการส่งออกน้ำมันสูงถึง 60%
นายจิรเทพ กล่าวว่า ความผันผวนในเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนจะมีต่อเนื่องไปเรื่อยๆ อยู่ที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศหรือแต่ละภูมิภาคจะมีความมั่นคงมากน้อยเพียงใด ซึ่งในส่วนของประเทศในเอเชียนั้น เชื่อว่าจะไม่น่ากังวลเพราะมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเข้มแข็ง ประกอบกับการดูแลเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ต่างมีนโยบายที่มุ่งดูแลอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก
เชื่อว่า สถานการณ์ของรัสเซียจะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย แต่อาจเป็นผลกระทบทางอ้อมในภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียที่เดินทางมาไทยลดลงไปบ้างตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ภูเก็ต พัทยา ทั้งนี้ ธปท.จะติดตามข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในส่วนของธุรกิจที่เชื่อมโยงอื่นๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ การลงทุนโดยตรงจากรัสเซียต่อไป
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2558 มี 4 ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยอาจจะมีผลกระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย ความผันผวนของค่าเงินรัสเซีย การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การอ่อนของค่าเงินเยน และราคาน้ำมันปรับตัวลดลง โดยเฉพาะปัจจัยจากต่างประเทศ ที่จะเข้ามามีผลกระทบกับอัตราแลกเปลี่ยนและความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายมากขึ้น ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนมากกว่าปกติ