- Details
- Category: คลัง
- Published: Wednesday, 24 December 2014 01:22
- Hits: 2849
รมว.คลัง ชงครม.พรุ่งนี้แผนปรับโครงสร้างหนี้ 2 แสนลบ. ยอมรับปี 59 ยังต้องตั้งงบประมาณขาดดุล เพื่อกระตุ้น ศก.
รมว.คลัง เตรียมเสนอ ครม.รับทราบแผนปรับโครงสร้างหนี้ 2 แสนลบ.-ยันไม่เพิ่มหนี้สาธารณะ พร้อมแนะผู้เกี่ยวข้องเร่งศึกษารายละเอียด กอช.หลังซ้ำซ้อนประกันสังคมมาตรา 40 ขณะที่ล่าสุดวันนี้ สปช.มติเอกฉันท์ให้รัฐบาลเดินหน้าตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ ด้านปลัดคลังระบุปี 59 ยังจำเป็นต้องตั้งงบประมาณขาดดุลเพื่อกระตุ้น ศก.
นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในการประชุม ครม.พรุ่งนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอแผนปรับปรุงบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2558 ครั้งที่ 1ให้ ครม.พิจารณา วงเงิน 200,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการออกพันธบัตรออมทรัพย์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.50,000 ล้านบาท เพื่อนำมาปรับปรุงโครงสร้างหนี้จำนำข้าว และของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน.ที่ออกพันธบัตรออมทรัพย์ขายให้ประชาชน 50,000 ล้านบาท และที่เหลืออีก 100,000 ล้านบาท เป็นการบริหารหนี้ปกติ
โดยการเสนอ ครม.ครั้งนี้ ยืนยันว่า ไม่ส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น เนื่องจากวงเงินดังกล่าวยังอยู่ในกรอบแผนการก่อหนี้เดิม
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ยืนยันว่าแผนดังกล่าวจะไม่ส่งผลให้หนี้สาธารณะปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 4/2557 หากโตต่ำกว่าคาดและทำให้จีดีพีทั้งปีโตต่ำกว่า 1.4% จะมีผลทำให้หนี้สาธารณะปรับเพิ่มบ้างเล็กน้อย
นอกจากนี้ มองว่าการจัดทำงบประมาณปี 59 ยังมีความจำเป็นที่จะต้องทำงบประมาณขาดดุลต่ออีกระยะหนึ่ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จะต่อเนื่องกี่ปีนั้นคงไม่สามารถระบุได้ คงต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลในการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของภาษีมรดก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VATเป็นต้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้งบประมาณกลับมาสมดุลได้
"ปีงบประมาณ 59 คงยังต้องทำงบขาดดุลต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนจะกี่ปีคงไม่สามารถตอบได้"นายรังสรรค์ กล่าว
นายสมหมาย กล่าวต่อว่า ตนได้มอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาเกี่ยวกับการออมชราภาพว่าควรจะใช้เครื่องมือของกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.)ที่แจ้งเกิดโดยพรรคประชาธิปัตย์ หรือจะใช้แนวทางของกองทุนประกันสังคม มาตรา 40 ของพรรคเพื่อไทย โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ หลังจากนั้นจะเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป
"คงให้ไปดูรายละเอียด เพราะทั้ง 2 แนวทางมีความซ้ำซ้อนกัน ต้องดูว่าแนวทางไหนจะดีที่สุด"นายสมหมาย กล่าว
ด้านที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)วันนี้ โดยนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.เป็นประธานการประชุม ได้ลงมติเห็นชอบรายงานและข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็กเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส เรื่อง หลักประกันความมั่นคงด้านรายได้เพื่อการยังชีพของผู้สูงอายุ การเร่งรัดการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 โดยเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)เร่งปฏิบัติตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมฯ ทันที และเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)เพื่อติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาลเป็นระยะต่อไป ด้วยเสียงเอกฉันท์ 212 เสียง
ทั้งนี้ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ประธาน กมธ.ปฏิรูปสังคมฯ นำเสนอรายงาน ว่าการจัดตั้งกองทุนการออม(กอช.)ภายใต้ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันให้กับผู้สูงอายุ และผู้ใช้แรงงานนอกระบบด้านเศรษฐกิจ,สุขภาพ และความมั่นคงทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมาระดับนโยบายยังไม่ถูกนำไปปฏิบัติใช้ให้เป็นรูปธรรม แม้รัฐบาลชุดต่อมาได้ผลักดันช่องทางใหม่เพื่อสร้างหลักประกันที่เหมือนกับกอช.โดยการบังคับใช้ตามมาตรา 40ของ พ.ร.บ.ประกันสังคมแทน โดยเปิดช่องให้คนที่ได้รับสวัสดิการอยู่แล้ว เช่นบำเหน็จ บำนาญ ประกันสุขภาพ เสียชีวิต ชราภาพ โดยการออกกฤษฎีกาเพื่อขยายหลักเกณฑ์การปฏิบัติของกฎหมาย แต่ กอช.เน้นการออมให้ได้บำนาญ เพื่อให้ได้จนวาระสุดท้ายของชีวิต ไม่ให้นำบำเหน็จมาใช้จนเป็นภาระของสังคม
ทั้งนี้ เป็นสิ่งที่น่าแปลก คือให้พนักงานของรัฐ ข้าราชการบำนาญที่มีสวัสดิการ บำเหน็จ บำนาญที่อายุ 60ปีขึ้นไปได้รับสวัสดิการภายใต้ มาตรา 40 ด้วย จึงทำให้คนที่ได้รับสวัสดิการอยู่แล้ว ได้เพิ่มมากขึ้น ส่วนประชาชน ผู้ด้อยโอกาส และแรงงานนอกระบบอีกกว่า 24.6 ล้านคนไม่มีโอกาส เนื่องจาก กอช.ไม่ได้บังคับใช้ ทั้งที่กระทรวงคลังมีความพร้อมที่จะดำเนินการ
"ผมลองไปสมัครตามมาตรา 40 พ.ร.บ.ประกันสังคม ช่องทางเลือกที่ 3 คือ ส่งเงินออมย้อนหลังและล่วงได้ 1ปี ผมไปสมัครไม่ได้ต้องการเงิน เพราะมีสวัสดิการฐานะข้าราชการบำนาญ ทราบหรือไม่ว่าหากผมไปลาออกรัฐบาลจะจ่ายให้ 100เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้ผมจ่ายไป 4,000บาท ถ้าลาออกรัฐบาลจ่ายให้ผม 100เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้มีคนแห่ไปทำ และอธิบายให้ฟังว่าไม่มีเงินฝากที่ไหนดีเท่านี้ ดังนั้น ถือเป็นการผิดกลุ่มเป้าหมาย และหลายคนมีความสับสนเรื่องนี้ และมีบางส่วนคิดขยายเวลาทั้งที่เป็นช่องทางที่ไม่ถูกเป้าหมาย การเดินหน้าตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ถือเป็นการเพิ่มความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่ให้คนมีโอกาสแล้วได้โอกาสซ้ำอีก ดังนั้น เป้าหมายหลักที่ควรเดินไปอย่างรวดเร็ว โดยไม่เอามาตรา 40 มาเป็นสิ่งที่ขัดขวาง น่าเป็นบททดสอบการปฏิรูปของ สปช.ว่าการดำเนินงานเรื่องที่มีประโยชน์ เป็นประเด็นปฏิรูปที่ชัดเจน ข้อเสนอจะไปสู่การปฏิบัติหรือไม่ หากติดขัดจะกระทบต่อทิศทางการปฏิรูปของ สปช.เช่นกันว่าหากเรื่องที่ใหญ่กว่านี้เราจะเดินหน้าได้หรือไม่"นพ.อำพล กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการประชุมวาระดังกล่าว ได้มี สปช.จำนวน 20 คนอภิปรายสนับสนุนรายงานและความเห็น ทั้งนี้ มีประเด็นให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม อาทิ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สปช.อภิปรายเสนอว่า 1.ปัจจุบันพบว่าผู้สูงอายุยังมีสุขภาพดีด้วยเทคโนโลยีมีจำนวนมาก รัฐควรขยายเวลาเกษียณ จากเดิม 60ปี ไปเป็น 65-70 ปี โดยพิจารณาตามอาชีพหรือวิชาชีพ
2.ส่งเสริมการออมและวินัยการออมอย่างแท้จริงให้กับแรงงานนอกระบบ 3.สร้างทัศนคติที่ไม่ทำลายศักยภาพของผู้สูงอายุต่อการทำงาน 4.สร้างแรงจูงใจให้ครอบครัวที่มีความพร้อมมีบุตรทันทีหลังแต่งงาน เช่น เพิ่มอัตราลดหย่อนภาษี 5.ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในงานสาธารณะตามประสบการณ์ เช่น ชุมชน สถานศึกษา 6.ส่งเสริมแนวทางให้บุตรดูแลพ่อแม่วัยชรา รวมถึงเพิ่มนโยบายเพื่อคนชราของรัฐ อาทิ บ้านพักคนชรา และ 7.ให้คนต่างชาติที่มีคุณภาพซึ่งอาศัยในประเทศไทยได้รับสัญชาติไทย
นายพิสิฐ ลี้อาธรรม สปช.อภิปรายว่า ปัญหาสำคัญของประเทศไทยที่อนาคตจะมีสัดส่วนคนชราเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่มีระบบการออมเงินที่เพียงพอและเหมาะสม ที่อาจส่งผลกระทบต่อการรวมตัวในฐานะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดังนั้น การมองนโยบายประชากร กับข้อเสนอที่ระบุว่าให้ทบทวนอายุการทำงาน เปิดช่องให้มีอายุเกิน 60ปีขึ้นไป ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสิทธิของพลเมืองในรัฐธรรมนูญที่หลายประเทศยึดถือ ทั้งนี้ ในส่วนของการส่งเสริมและจัดระบบการออมต้องมีหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาให้การออมเป็นไปอย่างทั่วถึง
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย