- Details
- Category: คลัง
- Published: Saturday, 20 December 2014 00:26
- Hits: 3082
ภาษีมรดกเพดานเดิม 10% สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดกวาระแรกลุ้นวาระ 2
บ้านเมือง ; ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ลงมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก อัตราภาษีที่ 10% ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 160 ต่อ 16 เสียง พร้อมให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ 25 คน และกำหนดกรอบเวลาการทำงานของกรรมาธิการวิสามัญรวม 90 วัน พร้อมลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ด้วยเสียงข้างมาก 172 ต่อ 8 เสียง พร้อมแปรญัตติ 15 วัน ระยะเวลาทำงาน 90 วัน
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สนช.ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก ในวาระแรก ซึ่งการพิจารณาของที่ประชุม สนช.ในวาระแรกไม่พบว่ามีปัญหาใดๆ และได้มีการรับหลักการในวาระแรกไปแล้ว ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการเสนอให้จัดเก็บภาษีดังกล่าวในอัตราก้าวหน้า ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วมองว่าไม่จำเป็น เพราะไม่ต้องการให้อัตราภาษีที่สูงเป็นเหตุที่จะทำให้มีการนำเงินออกนอกประเทศ
"ในที่ประชุมได้เสนอให้มีการเก็บภาษีแบบยืดหยุ่น โดยให้พิจารณาถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในอนาคต ซึ่งส่วนตัวมองว่าอัตราภาษีที่ 10% อยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว และจะไม่เป็นการผลักดันให้มีการโยกออกนอกประเทศ" รมว.คลัง กล่าว
อย่างไรก็ดี สำหรับภาษีมรดกที่เสนอจัดเก็บในอัตราเพดานที่ 10% นั้นจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันได้กำชับให้ที่ประชุมพิจารณากฎหมายนี้อย่างรอบคอบและเป็นกลางที่สุด ทั้งนี้อีก 90 วันจึงจะมีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกเป็นวาระที่ 2
นายสมหมาย กล่าวว่า การถ่ายโอนมรดกในปัจจุบันได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ไม่ว่าทรัพย์สินจะมีจำนวนมากน้อยเพียงใด จึงก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม สมควรที่จะต้องจัดเก็บภาษีตามสมควรจากการรับมรดกที่มีมูลค่าจำนวนมาก เพื่อนำไปพัฒนาประเทศและยกระดับการดำรงชีวิตของประชาชนที่ยากไร้ให้ดีขึ้น
ทั้งนี้ หากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น 20-21% แต่ยืนยันว่าจะไม่ให้กระทบถึงผู้ที่ได้รับมรดกพอสมควรแก่การดำรงชีพ เพราะสามารถผ่อนชำระภาษีได้ถึง 5 ปี โดย 2 ปีแรกไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ อีกทั้งในต่างประเทศล้วนจัดเก็บภาษีในลักษณะนี้เช่นกัน สำหรับร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก จะมีทั้งหมด 38 มาตรา โดยมีสาระสำคัญ คือ การจัดเก็บภาษีมรดก จะเก็บจากผู้ที่ได้รับมรดกที่มีมูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไป ในอัตรา 10% โดยจะต้องเป็นการโอนมรดกให้กับทายาทโดยตรงเท่านั้น ส่วนการโอนทรัพย์สินให้บุคคลอื่นโดยเสน่หานั้น จะต้องเข้าข่ายต้องเสียภาษีการรับให้ ซึ่งกระทรวงการคลังเสนอให้มีการแก้ไขประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากร โดยเรียกเก็บภาษีในอัตรา 5% สำหรับทรัพย์สินที่มีการโอนมากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป และผู้ได้รับทรัพย์สินดังกล่าวยังต้องมีภาระในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บในอัตราสูงสุดที่ 35% ทำให้ผู้ที่ต้องการผ่องถ่ายทรัพย์สินจะโดนจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อนมากขึ้น
ในระหว่างการอภิปราย มีสมาชิก สนช.ได้ท้วงติงว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมได้จริงในทางปฏิบัติ และเสนอให้ปรับการจัดเก็บเป็นแบบขั้นบันได แต่ยังสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะอาจจะมีคนที่เลี่ยงการเสียภาษีในส่วนนี้ไปตั้งเป็นกองทุนสาธารณะกุศล เหมือนในต่างประเทศที่เมื่อมีกฎหมายภาษีมรดกจะเกิดกองทุน, มูลนิธิ, องค์กรสาธารณะกุศลเพื่อสังคมจำนวนมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวางแล้ว นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ได้ชี้แจงถึงการไม่จัดเก็บภาษีแบบขั้นบันไดหรืออัตราก้าวหน้าว่า เพราะต้องการเก็บภาษีจากผู้ที่มีรายได้สูงจริงๆ ซึ่งคณะรัฐมนตรีคำนึงถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยที่เกิดขึ้นมาก จึงผลักดันกฎหมายฉบับนี้ออกมา
ขณะที่นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวย้ำว่า การเสียภาษีมรดกจะจัดเก็บเฉพาะทรัพย์สินที่ประเมินได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท โดยหากมีพิธีกรรมรับมรดกแล้วต้องจ่ายภาษีภายใน 150 วัน และหากสามารถค้นหาทรัพย์สินเจอภายหลังเสียชีวิต ประเมินราคาทรัพย์สินไม่เกิน 50 ล้านบาทก็ไม่จำเป็นต้องเสียภาษี ส่วนกรณีต่างชาติเข้ามาอาศัยในประเทศไทยโดยมีภรรยา หรือเข้ามาทำงาน หากเกินระยะเวลา 3 ปีจะต้องเสียภาษีมรดกด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล