- Details
- Category: คลัง
- Published: Thursday, 11 December 2014 14:41
- Hits: 2603
กม.ภาษีที่ดินไม่ทันใช้ปี 58 คลังสั่งกรมธนารักษ์เร่งประเมินราคาที่ดิน 30 ล้านไร่
บ้านเมือง : คลังสั่งกรมธนารักษ์ประเมินราคาที่ดิน 30 ล้านไร่ เพื่อคำนวณจัดเก็บภาษี ยอมรับกฎหมายล่าช้าใช้ไม่ทันปี 58 อดีต รมว.พลังงาน ชี้ 4 มาตรการใหม่ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เปรียบเหมือนใช้ขันตักน้ำไปดับไฟป่า แถมยังดับผิดที่
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการออกกฎหมายในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ในขณะนี้อยู่ในระหว่างการมอบหมายทางอธิบดีกรมธนารักษ์ เร่งประเมินที่ดิน กว่า 30 ล้านไร่ เพื่อประเมินราคาสถานการณ์ล่าสุด ในการนำมาคำนวณในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่อไป โดยในขณะนี้ ยังคงพบว่ามีปัญหาความล่าช้าที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเร่งรัดให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ ได้มีการสั่งการให้มีการประเมินที่ดินรวมไปถึงราคาต่างๆ ตั้งแต่ตนเองเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงการคลังแล้วแต่ไม่ทราบว่าติดปัญหาในการประเมินที่เรื่องใด โดยคาดว่าการดำเนินการดังกล่าวนั้นอาจล่าช้าและไม่สามารถทำให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ได้ ในปี 2558
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในช่วง 1-2 สัปดาห์ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเข้าไปรายงานต่อนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อสรุปภาษีร่างสุดท้ายให้แล้วเสร็จก่อนปีใหม่ เนื่องจาก ต้องเตรียมพร้อมก่อนนำเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะสามารถเสนอร่างภาษีต่อ ครม.ช่วงเดือน ม.ค.2558 ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ยืนยันอัตราจัดเก็บสำหรับที่ดินเกษตรกรรม ไม่เกิน 0.5% ที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 1% ส่วนที่ว่างเปล่าและเพื่อการพาณิชย กรรม ไม่เกิน 4% โดยอัตราดังกล่าวจะกำหนดเป็นเพดาน
หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะออกประกาศอัตราจัดเก็บจริงอีกครั้ง ซึ่งอาจจะต่ำกว่าเพดานที่กำหนดไว้กฎหมาย
"อัตราประกาศใช้จริง อาจจะประกาศใช้ในอัตราที่ สศค.เคยเสนอไว้ในร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับก่อนหน้า ซึ่งเสนอให้เก็บภาษีสำหรับที่ดินเกษตรกรรมในอัตรา 0.05% ที่อยู่อาศัย 0.1% ส่วนที่ว่างเปล่าและเพื่อการ พาณิชยกรรม 0.5% โดยจะมีข้อยกเว้นสำหรับบ้านที่มีมูลค่าไม่เกิน 1-2 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี" แหล่งข่าว กล่าว สำหรับหน่วยงานที่จะเป็นผู้จัดเก็บภาษีนี้ สศค.ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลร่างกฎหมายนี้ยืนยันว่า ควรจะต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดเก็บภาษีนี้ จากก่อนหน้านี้ นายสมหมาย มีแนวคิดที่จะให้กรมสรรพากรเข้ามาจัดเก็บ เพราะการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่และที่ดิน ภาษีโรงเรือน ที่ดำเนินการโดย อปท.นั้นมีการรั่วไหลมากทำให้จัดเก็บได้ภาษีได้เพียงปีละ 2 หมื่นล้านบาท ถือว่าน้อยมาก
การภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้เป็นภาษีที่ อปท.ต้องจัดเก็บ ตาม พ.ร.บ.กระจายอำนาจ ดังนั้น หากเปลี่ยนมาให้สรรพากรจัดเก็บต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว และเท่าที่ประเมินหากต้องดึงอำนาจการจัดเก็บมาไว้ที่กรมสรรพากร อาจจะถูกคัดค้านอย่างหนัก ดังนั้น ทีมกฎหมายของ สศค.จึงจะเสนอนายสมหมายว่าไม่ควรนำอำนาจการจัดเก็บมาเป็นของกรมสรรพากร
ด้านนายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เห็นชอบในหลักการตามที่กรมฯ ได้เสนอเกี่ยวกับแผนการประเมินราคาที่ดินรายแปลง เพื่อรองรับกรณีที่รัฐบาลมีแผนจะนำร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้ในการจัดเก็บภาษี
ดังนั้น ระหว่างนี้ กรมฯ จึงเร่งร่างแผนปฏิบัติ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ ในแผนการประเมินที่ดินรายแปลงเบื้องต้นนั้น กรมฯ มีเป้าหมายประเมินราคาที่ดินรายแปลงให้แล้วเสร็จก่อนที่ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลบังคับใช้ประมาณ 1 ปีครึ่ง
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีที่นายสมหมาย ภาษี รมว. คลัง ยอมรับว่าเศรษฐกิจยังย่ำแย่ และได้ออก 4 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ มาเสริมมาตรการเดิมที่เหมือนจะไม่ได้ผล แต่เห็นว่า 4 มาตรการที่ออกมาใหม่นี้มี ผลน้อยมากไม่น่าจะสามารถที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะเป็นมาตรการที่น้อยเกินไปและแก้ไขไม่ตรงจุด เหมือนกับการนำขันตักน้ำไป ดับไฟป่าที่กำลังคุโชน แถมยังดับผิดที่
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า 4 มาตรการที่ออกมาไม่น่าที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ ปัญหาหลักทางเศรษฐกิจในปัจจุบันคือ การขาดเงินรายได้ในระบบ ซึ่งเกิดมาจาก การส่งออกลดลง การท่องเที่ยวลดลง การลงทุนลดลง การบริโภคลดลง โดยความมั่นใจจากต่างประเทศ และการกระตุ้นการบริโภค จะเป็นปัจจัยหลักที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ หากรัฐบาลแก้ไม่ถูกจุด ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจได้