WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สศค.เผยเศรษฐกิจ เม.ย.57 หดตัวจาก เม.ย.56 แต่มีสัญญาณทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

    นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนเมษายน 2557 ว่า เศรษฐกิจไทยยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เริ่มมีสัญญาณทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยอุปสงค์ภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเทียบกับปีก่อนจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยหลังการยกเลิกพ.ร.ก. ฉุกเฉิน

    ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจไทยล่าสุดในรายละเอียดพบว่า การบริโภคภาคเอกชนในเดือนเมษายน 2557 มีสัญญาณหดตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนเมษายน 2557 หดตัวที่ร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวร้อยละ 1.1  เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (m-o-m SA)

     ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวร้อยละ -34.4 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 14.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (m-o-m SA) ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ -21.5 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้เกษตรกรที่หดตัวลง

    สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนเมษายน 2557 ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 57.7 และเป็นการปรับลดลงในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 12 ปี การลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนเมษายน 2557 หดตัว ร้อยละ -7.7 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (m-o-m SA)

     เช่นเดียวกับยอดขายปูนซิเมนต์ ที่หดตัวร้อยละ -3.1 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (m-o-m SA) ขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ หดตัวร้อยละ -32.3 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 10.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (m-o-m SA)

      อย่างไรก็ตาม ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนในเดือนเมษายน 2557 หดตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ -16.9 ต่อปี ส่วนหนึ่งเนื่องจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง จากปัญหาการเมืองภายในประเทศ ส่งผลให้ผู้บริโภค และผู้ประกอบชะลอการลงทุนออกไปเพื่อรอดูทิศทางเศรษฐกิจ

     ด้านอุปสงค์ต่างประเทศ ยังคงส่งสัญญาณชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากการส่งออกสินค้าของไทย ในเดือนเมษายน 2557 หดตัวที่ร้อยละ -0.9 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (m-o-m SA) โดยสินค้าส่งออกที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะ และอุตสาหกรรมเกษตร ขณะที่สินค้าที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 ต่อปี สอดคล้องกับการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปมีทิศทางที่ดีขึ้น

     เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานส่งสัญญาณหดตัวในอัตราที่ลดลง ขณะที่สามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (m-o-m SA) ในสาขาอุตสาหกรรมและภาคบริการ สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2557 หดตัวร้อยละ -3.9 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (m-o-m SA) โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ยังคงติดลบเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ และอาหาร เป็นสำคัญ

   ส่วนอุตสาหกรรมที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ วิทยุโทรทัศน์ เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ เช่นเดียวกับภาคบริการเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในเดือนเมษายน 2557 หดตัวร้อยละ -1.7 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (m-o-m SA) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการยกเลิกการใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ทำให้ประเทศส่วนใหญ่ได้ลดระดับการประกาศเตือนพลเมืองเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย

    ขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมยังคงสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยขยายตัวร้อยละ 5.6 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตข้าวโพดและและผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ อย่างไรก็ตามราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้กลับหดตัวต่อเนื่องโดยหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -5.8 ต่อปี ส่งผลให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงหดตัว -4.2 ต่อปี

    นอกจากนี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ที่มั่นคง โดยในเดือนเมษายน 2557 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงเช่นกัน สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 168.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.8 เท่า สามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้

                อินโฟเควสท์ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!