WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

คนรวยแห่โอนอสังหาริมทรัพย์ ผวา‘คลัง’เก็บภาษีมรดก

   แนวหน้า : ผู้อำนวยการ สศค.เปิดตัวเลขเศรษฐกิจ ชี้ไตรมาสสุดท้ายเริ่มสดใส อานิสงส์ส่งออกไตรมาส 4 เป็นบวก แม้ว่ายอดเก็บ VAT เดือนตุลาคมหดตัว -1.7% ส่วนกระแสข่าวการจัดเก็บภาษีมรดกส่งผลให้ธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เดือนกันยายน คึกคัก

   นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ต.ค.2557 มีสัญญาณดีขึ้น จากการบริโภคภาคเอกชนที่มียอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ณ ราคาคงที่ ในเดือนต.ค. 2557 ที่แม้ว่าจะกลับมาหดตัวที่ -1.7% ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า ขยายตัว 2.8% ต่อเดือน โดยแบ่งเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ 3.3% ต่อปี

    อย่างไรก็ตาม ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนต.ค. 2557 กลับหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้า(เดือนก.ย. 2557)ที่ -4.4% ต่อปี และ -8.6% ต่อเดือน ตามลำดับ เนื่องจากในเดือนก.ย.2557ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวเกี่ยวข้องกับภาษีมรดก จึงทำให้มีการเร่งทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ไปแล้ว “กระแสข่าวการจัดเก็บภาษีมรดกส่งผลให้การจัดเก็บภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนก.ย. 2557 พบว่าขยายตัวสูงถึง 16.1% ต่อปี” ผู้อำนวยการ สศค. กล่าว

   ก่อนหน้าที่ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติร่างพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. ... แล้ว หรือ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2557 ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คาดว่า กฎหมายฉบับนี้จะใช้เวลา 6 เดือน

    นายกฤษฎา ยังกล่าวถึงภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้าในเดือนตุลาคม พบว่าหดตัวเช่นกันหรือ -7.5% ต่อปี เนื่องจากปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนต.ค. 2557 ยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ -7.6% ต่อปี อย่างไรก็ดีดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 69.6 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 69.2 เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ในประเทศที่ปรับตัวลดลงทำให้ภาระค่าครองชีพของประชาชนลดลง

    เช่นเดียวกับภาคการลงทุนภาคเอกชนในเดือนตุลาคมได้ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรสะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าขยายตัว 0.8% ต่อเดือน การลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากยอดขายปูนซีเมนต์เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าขยายตัว 0.4% ต่อเดือน

    สำหรับ การใช้จ่ายภาครัฐมีอัตราเร่งขึ้น โดยพิจารณาจากการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนต.ค. 2557 พบว่ารัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบประมาณรวมได้จำนวน 367.6 พันล้านบาท ขยายตัว 42.3% ต่อปีเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -2.3% ต่อปี สะท้อนให้เห็นถึงการมีส่วนสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาครัฐ

    ผู้อำนวยการ สศค.กล่าวเพิ่มเติ่มว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกขยายตัวเป็นบวก 2 เดือนติดต่อกัน ทำให้คาดว่าในไตรมาสที่ 4 การส่งออกจะขยายตัวได้ที่ 3% ส่งผลให้การส่งออกทั้งปีอยู่ที่ 0.1% ต่อปี ซึ่งจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ขยายตัว 4% และทั้งปียังคงขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 1.4% ต่อปี

    ด้านนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานยังส่งสัญญาณหดตัวจากภาคเกษตรกรรม ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือนโดยภาคเกษตรกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือนต.ค. 2557 หดตัว -3.4% ต่อปี และหดตัว -5.5% ต่อเดือน ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นปี ทำให้เกษตรกรลดการปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 ประกอบกับผลผลิตมันสำปะหลังที่หดตัวลง เนื่องจากมีการเร่งเก็บเกี่ยวไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ขณะที่ภาคบริการสะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนต.ค. 2557 ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน โดยขยายตัว 6.1% ต่อปี โดยเป็นนักท่องเที่ยวจากจีนที่กลับมาขยายตัวสูง 67.0% ต่อปี ซึ่งมีปัจจัยหลักจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีน

   ส่วนเสถียรภาพในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่เสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในระดับมั่นคงสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับ 1.5% ต่อปี อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศถือว่าอยู่ในระดับมั่นคง ซึ่งสะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 160.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.7 เท่า ซึ่งจะสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้

   ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาปฏิรูปสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ กรมศุลกากร โดยให้สรุปผลภายใน 2 เดือน หรือภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ เนื่องจากมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีหลายตัวเป็นช่องทำให้การเสียภาษีรั่วไหล ทั้งการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกตามมาตรการ 19 ทวิ การตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน และการตั้งเขตสินค้าปลอดอากร

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!