- Details
- Category: คลัง
- Published: Wednesday, 28 May 2014 23:12
- Hits: 4150
สศค.หนุนยุทธศาสตร์คสช. จ่อเข็นดันจีดีพีแตะ 3% คาดศก.ปี 58 ไม่ตกเหว
แนวหน้า : นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การพิจารณาแผนการดำเนินงานพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าวจะดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สำหรับมาตรการระยะสั้น จะต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 ที่ยังค้างอยู่ ส่วนงบประมาณปี 2558 คาดว่าจะเสนอกรอบเข้าสู่การพิจารณา คสช.ได้ภายในวันที่ 29 พ.ค.นี้ ซึ่งหลังจากนี้ 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ ได้แก่ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ธนาคารแห่งประเทศไทย จะมาร่วมพิจารณางบประมาณ เพื่อเสนอให้ คสช.อนุมัติได้ทันที
"ปีนี้จะพยายามทำให้จีดีพีเติบโตได้ถึง 3%หรืออย่างต่ำต้องไม่น้อยกว่า 2% มาจากการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2557 โดยเฉพาะโครงการลงทุนที่มูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทที่มีปัญหาก่อนหน้านี้ คิดเป็นมูลค่าทั้งหมด 7,000 ล้านบาท โดยหัวหน้า คสช.บอกว่าถ้าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ก็ให้ดำเนินการได้เลย ส่วนเศรษฐกิจปี 2558 ก็น่าจะดีขึ้นจากที่คาดเพราะมีการจัดทำงบประมาณได้ มีรัฐบาลใหม่ เอกชนก็เชื่อมั่น เกิดการลงทุนได้ เศรษฐกิจจะไม่ตกเหวอย่างที่คาด" นายสมชัย กล่าว
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส. ) กล่าวว่า ธ.ก.ส. เตรียมปิดรับเงินบริจาคและเงินสมทบกองทุนช่วยเหลือชาวนาภายในสิ้นเดือน พ.ค. นี้ คาดว่าจะได้เงินบริจาคและสมทบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท เร็วกว่ากำหนดเดิมที่ตั้งเป้าจะปิดกองทุนในเดือน มิ.ย. ซึ่งตั้งเป้าว่าจะได้เงินบริจาคและสมทบ 2 หมื่นล้านบาท
โดยในขณะนี้ ธ.ก.ส. ได้สำรองสภาพคล่อง 4 หมื่นล้านบาท จ่ายชาวนาไปก่อน ซึ่งคาดว่าจะสามารถจ่ายได้เป็นระยะเวลาถึงวันที่ 6 มิ.ย.นี้ โดยหลังจากนั้น จะใช้เงินที่ได้มาจากสำนักบริหารหนี้สาธารณะ ( สบน.)ที่เตรียมเรื่องขอกู้เงินอีก 5 หมื่นล้านบาท และเงินจากกองทุนช่วยเหลือชาวนาที่เหลือ โดยจะสามารถจ่ายคืนชาวนาที่ค้างในโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิต 2556/57 จำนวนกว่า 9 หมื่นล้านบาท ได้ภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. เตรียมเปิดหน่วยบริการใน 11 จังหวัดที่มีจำนวนใบประทวนคงค้างมาก ในแถบภาคกลางและภาคอีสาน เพื่อตรวจสอบใบประทวนก่อนที่จะนำไปขึ้นเงินที่สาขา ซึ่งเกษตรกรที่ได้รับการตรวจสอบแล้ว จะได้รับการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากทันที
เม็ดเงินเข้าระบบดันจีดีพีโตกว่า2%-7องค์กรระดมสมองทำแผนชงคสช.ภาคธุรกิจเฮศก.พ้นวิกฤติ
แนวหน้า : 7 องค์กรเอกชนนัดประชุม ระดมจัดทำกรอบแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลงมติให้สมาชิกกลับไปทำการบ้าน 1 สัปดาห์ ก่อนชงให้ คสช.พิจารณา หอการค้า มั่นใจเงินที่ไหลเข้าระบบช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย ฟื้นบรรยากาศทางเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังให้ดีขึ้น คาดจีดีพีปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 2% ฟิทช์ เรตติ้ง ไม่ลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 27 พ.ค. 2557 ตัวแทนจาก 7 องค์กรภาคธุรกิจ ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สอท., สมาคมธนาคารไทย,สภาธุรกิจท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย หารือด่วนเพื่อกำหนดกรอบการปฏิรูปเศรษฐกิจ ที่โรงแรมแมริออท เพื่อเตรียมเสนอมาตรการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในสัปดาห์หน้า
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวภายหลังการประชุมร่วม 7 องค์กรภาคธุรกิจ ว่าที่ประชุมมีมติให้แต่ละองค์กรฯกลับไปจัดทำแผนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนสู่ประเทศ ด้วยการรวบรวมแนวคิดและมาตรการต่างๆ ทั้งแผนระยะสั้น และแผนระยะยาวที่จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ และกลับมาหารือกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้าเพื่อให้ได้ข้อสรุป และนำเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อไป
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นโดยมาตรการระยะสั้น คือขอให้มีการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพื่อพิจารณาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ส่วนมาตรการระยะยาว เตรียมเสนอ 7 แนวทาง อาทิ ด้านการศึกษา การลงทุนสังคม การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ธรรมาภิบาลและนวัตกรรม โดยเห็นว่าควรเพิ่มงบประมาณให้สูงกว่าเดิมที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตั้งไว้เพียง 5,000 ล้านบาท
สำหรับหอการค้าไทยได้มีการประเมินผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ไว้ที่ไม่เกิน 2% เนื่องจากปัจจุบันมีการเริ่มทยอยจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนา ซึ่งช่วยฟื้นความมั่นใจ และกระตุ้นการจับจ่ายของผู้บริโภครวมทั้งเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งกรณี ที่ทาง คสช. เร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี’57 ที่ยังค้างอยู่ ยังเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางเช่นกันส่วนครึ่งปีหลังคาดการณ์ว่าภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากที่ภาคเอกชนร่วมกันฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมา และกลไกต่างๆ เริ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังมีรัฐบาลที่มีอำนาจในการบริหารประเทศ แต่สถานการณ์ในระยะยาวคงยังไม่สามารถประเมินได้ในตอนนี้ว่าจีดีพีจะโตมากกว่า 2% หรือไม่ต้องรอการสำรวจสถานการณ์ในระยะยาวอีกครั้งหนึ่ง
ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) กล่าวว่า สำหรับการหารือของ 7 องค์กรภาคธุรกิจครั้งนี้เพื่อหาแนวทางว่าภาคธุรกิจจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างไร เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมองแนวทางการฟื้นฟูไว้ 7 ด้าน ได้แก่ 1.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 2.การปฏิรูปการลงทุนของภาครัฐและเอกชน 3.การยกระดับการศึกษาและนวัตกรรม 4.การแก้ปัญหาสังคมและความเหลื่อมล้ำ 5.ธรรมาภิบาลและแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น 6.การพัฒนาระเบียบต่างๆ ของภาครัฐ และ7.การพัฒนาโครงสร้างใหม่ในระบบเศรษฐกิจไทย
“เราตั้งใจทำแผนที่ คสช. นำไปใช้ได้เลย ส่วนที่เป็นแผนระยะยาวก็อยากให้นำไปอยู่ในแผนพัฒนาประเทศของสภาพัฒน์ได้ เราก็คาดหวังว่าในวิกฤตินี้จะเป็นโอกาส หาก คสช.เปิดให้ทำอะไรได้เราก็จะทำ ส่วนว่าจะพบกับ คสช.อีกเมื่อไหร่นั้นเราจะดูก่อนว่า คสช.จะเรียกไปพบเมื่อไหร่ หากไม่เรียกเราก็จะนำเสนอแผนเข้าไป” นายสุพันธุ์ กล่าว
ทั้งนี้ทาง สอท. ต้องการให้ คสช.มีความชัดเจนเรื่องคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอไอ) ให้สามารถดำเนินการได้เพราะขณะนี้มีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนค้าอยู่กว่า 7-8 แสนล้านบาท รวมถึงการช่วยเหลือเอสเอ็มอีว่าจะสามารถให้ยืนต่อไปได้อย่างไร
ด้านนางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ในภาวะรัฐประหารย่อมกระทบต่อการท่องเที่ยวเป็นธรรมดา เนื่องจากไม่ได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกันภัย ดังนั้น สทท. จึงได้ปรับตัวเลขนักท่องเที่ยวรวมทั้งหมดลดลงจากเดิมที่ตั้งไว้ 28 ล้านคน เหลือ 26.8 ล้านคน แต่ก็สูงกว่าปี 2556 เล็กน้อยที่มียอดนักท่องเที่ยว 26.7 ล้านคน ส่วนมูลค่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนที่มียอดรวม 1.2 ล้านล้านบาท โดยประเทศที่ประกาศเตือนนักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมีจำนวน 50 ประเทศ แต่ประเทศที่ประกาศเตือนขั้นร้ายแรงมีอยู่ 3 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง และเกาหลีใต้
นอกจากนี้ คสช. ควรออกมาตรการส่งเสริมให้คนไทยออกมาท่องเที่ยวระหว่างภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศแล้ว ยังช่วยลดความขัดแย้งระหว่างคนไทยในภูมิภาคต่างๆ เช่น การให้คนภาคใต้ไปเที่ยวภาคเหนือ ให้คนภาคอีสานไปเที่ยวภาคใต้เป็นต้น เนื่องจากการที่ได้ไปท่องเที่ยวต่างถิ่นก็จะเข้าใจวิถีชีวิตมุมมองความคิดของคนต่างถิ่นมากขึ้น
นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศ หรือ ธปท. กล่าวว่า ในการพิจารณาประมาณการเศรษฐกิจของทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะรวมผลของมาตรการที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจริง ดังนั้น ช่วงนี้จึงรอความชัดเจนของข้อมูล และนำมาประกอบการประมาณการ จึงยังไม่สามารถระบุตัวเลขประมาณการที่เท่าใด และเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ จะขยายตัวได้เท่าใด เพราะต้องรอการพิจารณาทั้งผลทางตรงและทางอ้อมต่อระบบเศรษฐกิจ อาทิ ตัวเลขความเชื่อมั่นภาคเอกชน
ด้าน นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2557 สถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท ฟิทช์ เรตติ้ง วิเคราะห์สถานการณ์ถึงการทำรัฐประหารของประเทศไทยว่าไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันดับ ความน่าเชื่อถือในทันทีทันใด