- Details
- Category: คลัง
- Published: Thursday, 20 November 2014 22:33
- Hits: 2716
ซุปเปอร์บอร์ด ตั้งอนุ 3 คณะดูยุทธศาสตร์-แผนแก้ปัญหา-กำกับดูแลบรรษัทภิบาลรสก.
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ธนาคารโลก จัดงานสัมมนาเรื่อง Corporate Governance Reform for State Owned Enterprises in Thailand เพื่อนำไปประกอบการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อการปฏิรูประบบรัฐวิสาหกิจต่อไป
โดยสคร.ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร. หรือSuper Board) อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการปฏิรูป'ระบบรัฐวิสาหกิจ'ซึ่งจะเป็นการปฏิรูป ไม่ใช่เฉพาะเพียงตัวรัฐวิสาหกิจแต่จะปฏิรูปทั้งบริบทแวดล้อมต่างๆ ของรัฐวิสาหกิจด้วย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว คนร.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 3 ชุด ได้แก่ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ, คณะอนุกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ และคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบกำกับดูแลและระบบบรรษัทภิบาลของรัฐวิสาหกิจ
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการทั้ง 3 ชุด มีอำนาจและหน้าที่ที่แตกต่างกัน แต่มีจุดมุ่งหมายหลักเดียวกันคือ ศึกษาและนำเสนอแนวทางในการปฏิรูประบบรัฐวิสาหกิจเพื่อให้ คนร. ใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากที่สุดเพื่อให้การปฏิรูประบบรัฐวิสาหกิจสามารถเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
สคร. จึงมีแนวคิดในการร่างกฎหมายขึ้นมาเพื่อกำหนดโครงสร้างในการกำกับดูแลระบบรัฐวิสาหกิจ หรือ Super Structure โดยจะมีการแบ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลต่างๆ ออกเป็นหมวดหมู่ ประกอบด้วย การตั้งองค์กรกำกับการแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ การจัดทำความคาดหวังของภาครัฐ การติดตามและประเมินผล การรายงานผลและการเปิดเผยข้อมูล การตรวจสอบและการแทรกแซงกรณีที่เกิดปัญหาในการดำเนินงาน
ในแต่ละประเด็นจะมีการนำแนวปฏิบัติที่ดีและระบบบรรษัทภิบาลมาเป็นพื้นฐานสำคัญในการกำหนด แนวปฏิบัติต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ความน่าเชื่อถือ และมีประสิทธิภาพสูงที่สุด
อย่างไรก็ดี การปฏิรูประบบรัฐวิสาหกิจเป็นกระบวนการระยะยาวที่ต้องใช้เวลาในการศึกษาและดำเนินการ เพื่อให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมซึ่ง สคร. จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงให้ระบบการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจในประเทศไทยมีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานเท่าเทียมกับต่างประเทศต่อไป
อินโฟเควสท์