- Details
- Category: คลัง
- Published: Monday, 05 May 2014 22:53
- Hits: 3983
รัฐบาล'ถังแตก'จ้องรุมทึ้ง'งบกลาง'ค้าน'โต้ง'อุ้มรถคันแรก
แนวหน้า ; คลังแฉหลังจาก ‘พาณิชย์’นำงบกลางไปใช้หนี้รับจำนำแล้ว ยังมีหลายหน่วยงานจ้องขอเพิ่ม รวมทั้งโครงการรถคันแรก ยันเหลือแค่2หมื่นล้านแล้ว ส่วน’สศค.’หนุนรัฐบาลคงVAT ที่ 7% ห่วงหากปล่อยให้ตีกลับไปตามเพดานที่ 10% กระทบเศรษฐกิจแน่
แหล่งข่าว กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง จะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เบิกจากงบประมาณกลาง วงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาทมาแก้ไขปัญหาสำหรับโครงการรถคันแรกที่มีเงินไม่พอจ่ายผู้ที่ได้รับสิทธิ์นั้น มองว่า การของบกลางเพื่อมาจ่ายรถคันแรกไม่น่าจะได้ เพราะงบกลางที่ไม่มีภาระผูกพันจริงๆ มีอยู่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ มีการขอนำงบกลางไปจ่ายหนี้จำนำข้าว 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ กองทุนเพื่อการกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)ก็ขอมาปล่อยกู้นักเรียน นักศึกษาอีก 2 หมื่นล้านบาท ต่อมา กรมสรรพสามิต ของบกลางมาจ่ายรถคันแรกอีก ซึ่งถือว่าเกินเงินงบกลางที่มีอยู่ และที่ผ่านมา สำนักงบประมาณ ยืนยันว่าจะสำรองงบกลางไว้ใช้ในยามที่จำเป็น หากเกิดภัยภิบัติ
นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมฯขอเงินงบประมาณปี 2557 มาจ่ายคืนรถคันแรก 5 หมื่นล้านบาท แต่ได้รับการจัดสรรเพียง 4 หมื่นล้านบาท ทำให้เงินยังคาดไปอีก 1 หมื่นล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2558 ต้องของงบมาจ่ายคืนรถคันแรกอีกไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป็นการจ่ายคืนเงินรถคันแรกปีสุดท้าย โดยในสัปดาห์นี้จะเรียกผู้ประกอบการ และตัวแทนจำหน่วยรถทั้งหมด เพื่อหารือ
ส่วนนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ไม่รู้ว่างบกลางที่ขอมาจ่ายรถคันแรกจะได้รับการอนุมัติจากสำนักงบประมาณ คณะรัฐมนตรี(ครม.) หรือไม่ โดยเฉพาะการขออุมัติจาก สำนักงานคณะกรรมการการเลือก (กกต.)
แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แนวทางในขณะนี้ กระทรวงการคลัง ได้หาทางแก้ปัญหาเงินไม่พอจ่าย ในเบื้องต้นจะทยอยจ่ายเงินรถคันแรกในช่วง 5 เดือน ที่เหลือของประมาณ 2557 หรือตั้งแต่เดือน พฤษภาคม-กันยายน 2557 ให้ต่ำกว่ายอดที่ขอมา เพื่อให้ดูเหมือนว่ารัฐบาลยังจ่ายเงินได้ตามปกติทุกเดือนไม่มีปัญหา
มีรายงานข่าวจาก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แจ้งว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2557 นั้น สศค.มองว่า มีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ยืดเยื้อ ยังส่งผลกระทบกับการขยายตัวของสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน ที่คาดว่าในปีนี้จะชะลอตัวกว่าในปีที่ผ่านมา เพราะประชาชนและภาคเอกชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงสถาบันการเงินเองก็เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นเช่นเดียวกัน
"สศค.เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยปี’57 ยังสามารถขยายตัวได้ 2.6% เนื่องจากเชื่อว่าการส่งออกจะเป็นแรงขับเคลื่อน และกลับมาฟื้นตัวขึ้นจากปีที่ผ่านมา ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวในภาคการจ้างงานอย่างชัดเจน และเศรษฐกิจสหภาพยุโรปที่เริ่มฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย แม้ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัวลงตาม สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ยืดเยื้อ และได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุน และนักท่องเที่ยว รวมทั้งการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้เดิม"รายงานข่าว ระบุ
นอกจากนี้ สศค.เป็นห่วง หากรัฐบาลไม่สามารถขยายเวลาคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)ที่ 7% ได้ทันภายในวันที่ 30 กันยายน 2557 จะส่งผลให้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะถูกตีกลับไปตามเพดานที่ 10% ซึ่งจะทำให้กระทบกับการบริโภคของประชาชน ที่มีความกังวลในการจับจ่ายใช้สอย จนอาจมีผลกับเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ไปกว่าในปัจจุบัน อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ กรมสรรพากร ได้ทำหนังสือส่งไปยัง กระทรวงการคลัง เพื่อขอคงอัตรา VAT 7% ที่จะหมดอายุในเดือนกันยายน 2557 แล้ว