- Details
- Category: คลัง
- Published: Monday, 10 November 2014 23:21
- Hits: 3181
คลัง ชงรีดภาษีมรดก 10 เปอร์เซ็นต์ อ้างต่างประเทศเก็บ 55 เปอร์เซ็นต์
คลัง เตรียมยื่นต่อคณะรัฐมตรีพิจารณาเห็นชอบร่างเก็บภาษีมรดก 10 เปอร์เซ็นต์ ระบุเมื่อเทียบกับต่างประเทศถือว่าน้อยมาก
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า เตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก ในวันที่ 12 พฤศจิกายน โดยมีเนื้อหาสำคัญอยู่ที่ให้เก็บภาษีจากผู้รับมรดกในส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท ในอัตราภาษีเพดาน 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนจะเก็บจริงเท่าไรขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่กระทรวงการคลังจะพลักดันให้เก็บในอัตรา 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นอัตราที่ต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกาเก็บภาษีมรดก 40 เปอร์เซ็นต์ และญี่ปุ่นเก็บ 55 เปอร์เซ็นต์ โดยการเก็บภาษีมรดกาของไทยจะเก็บจากผู้รับมรดกที่เป็นชั้นลูกกับหลาน
อินโฟเควสท์
คลังดัดหลังคนรวย'เหลี่ยมจัด' ดันภาษีมรดกลุ้นครม.เคาะ 12 พ.ย.
แนวหน้า : นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันที่ 12 พ.ย.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดก โดยมีสาระสำคัญให้เก็บภาษีจากผู้รับมรดกในส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท ในอัตราภาษีเพดาน 10% แต่จะมีการเก็บจริงอยู่เท่าไรขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยทางกระทรวงการคลังได้เสนอให้เก็บในอัตรา 10% เนื่องจากมองว่าเป็นอัตราที่ต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษที่เก็บภาษีมรดก 40% และญี่ปุ่นเก็บถึง 55% โดยการเก็บภาษีมรดกของไทยจะเก็บจากผู้รับมรดกที่เป็นชั้นลูกหรือหลาน
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังเสนอให้ ครม. เห็นชอบให้มีการแก้ไขกฎหมายประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากร เรื่องภาษีการรับการให้ ซึ่งที่ผ่านกรณีพ่อแม่ให้สินทรัพย์แก่ลูกโดยไม่ต้องเสียภาษี แต่หลังจากที่ได้มีการแก้ไขกฎหมายแล้ว ทำให้พ่อหรือแม่มอบทรัพย์สินให้กับลูกเกิน 10 ล้านบาทต่อปี ต้องเสียภาษีการรับการให้ในอัตรา 5% เพื่อป้องการโอนทรัพย์สินเพื่อเลี่ยงการเสียภาษีมรดก
นายสมหมาย กล่าวว่า กรณีมีการโอนมรดกให้กับผู้อื่นที่ไม่ใช่ลูกหรือหลาน หรือพ่อแม่โอนทรัพย์สินให้กับผู้ที่ไม่ใช่ลูก ทั้งสองกรณีผู้ที่ได้รับทรัพย์สินถือว่าคิดเป็นรายได้ ทำให้จะต้องนำทรัพย์สินนั้นไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ที่ปัจจุบันเก็บสูงสุดอยู่ที่อัตรา 35%
นอกจากนี้ นายสมหมาย ยังได้ยกตัวอย่าง การเสียภาษีมรดก ของพ.ร.บ.ฉบับนี้ ว่า กรณีมีมรดก 210 ล้านบาท มีลูกและหลาน 3 คน แบ่งให้คนละ 70 ล้านบาท ผู้รับมรดกจะเสียภาษีในส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท คือ 20 ล้านบาท ในอัตรา 10% เท่ากับเสียภาษีมรดกคนละ 2 ล้านบาทเท่านั้น
ส่วนกรณีที่ยังเก็บไว้เป็นกองมรดกยังไม่มีการโอน ก็ยังไม่ต้องเสียภาษีมรดก แต่ดอกผลที่เกิดจากกองมรดกต้องเสียภาษีเงินได้ และจะต้องมีวิธีการป้องกันไม่ให้ผู้รับมรดกนำเงินจากกองมรดกออกไปใช้ อย่างไรก็ตาม กรณีที่การรับมรดกของสามีภรรยา ได้รับการยกเว้น รวมถึงการโอนมรดกให้กับมูลนิธิการกุศล และการศึกษา
"ภาษีมรดกจะไม่มีการเก็บภาษีย้อนหลัง หากคนที่จะโอนในช่วงนี้ ก็ให้มาเสียเป็นภาษีเงินได้ไป ซึ่งยอมรับว่าการปิดช่องเพื่อไม่ให้คนรวยเลี่ยงภาษีมรดกทำได้ไม่หมด แต่กรณีคนที่หลีกเลี่ยงก็จะมีความผิดทางกฎหมาย ซึ่งเชื่อว่าภาษีมรดกจะผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ซึ่งอยู่ในการพิจารณาของชั้นกรรมาธิการวาระ 2 โดยจะเข้าร่วมพิจารณากฎหมายนี้ด้วยตัวเอง" นายสมหมาย กล่าว