- Details
- Category: คลัง
- Published: Friday, 31 October 2014 21:31
- Hits: 3180
สศค.ปรับลด GDP เหลือ 1.4%การส่งออกฟื้นตัวช้าเศรษฐกิจโลกยังต้องเฝ้าระวัง
บ้านเมือง : เศรษฐกิจไทยกลับขยายตัวในไตรมาสสุดท้าย ผลพวงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ สศค.ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้ เหลือ 1.4% จากเดิมที่เคยประมาณการณ์ไว้ ที่ 2.0% พร้อมคาดว่าในปี 58 GDP จะฟื้นตัวมาเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 4.1% ประเมินว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะเติบโตได้เพียง 0.1% และน่าจะฟื้นตัวขึ้นมาเติบโตได้ 3.5% ในปี 58
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะสามารถขยายตัวได้ 1.2-1.7% โดยครึ่งหลังของปีจะขยายตัวราว 2.9% จากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีทิศทางชัดเจนขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีคาดว่าจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้าย ขณะที่การบริโภคภาครัฐยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ตามการใช้จ่ายในงบประมาณของรัฐบาลส่วนกลางที่ยังเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อน เป็นไปตามการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะยุโรปฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ประกอบกับ ราคาสินค้าส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรอยู่ในระดับต่ำ สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 2.1% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 1.9-2.4% ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง อันเป็นผลมาจากอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกที่ชะลอลง ในขณะที่อุปทานน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ประกอบกับนโยบายการดูแลราคาพลังงานของภาครัฐ
ส่วนในปี 58 สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมาอยู่ที่ 4.1% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.6-4.6% ได้รับแรงส่งของการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่งและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ยังเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอุปสงค์จากต่างประเทศคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นเช่นกัน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศคลี่คลายลง
นอกจากนี้ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจภาพรวมที่ฟื้นตัวขึ้น และนโยบายภาครัฐที่มีความชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ในด้านเสถียรภาพภายในนโยบายภาครัฐที่มีความชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีหน้าจะอยู่ที่ 2.2% ช่วงคาดการณ์ที่ 1.7-2.7% ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางทรงตัว
ผู้อำนวยการ สศค.กล่าวด้วยว่า ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ การเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว การฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรปที่เป็นไปอย่างเปราะบาง และแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงตกต่ำ
อย่างไรก็ตาม สำหรับภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน ก.ย.57 และไตรมาส 3/57 เครื่องชี้เศรษฐกิจสะท้อนสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกยังคงมีสัญญาณชะลอตัว แม้ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ สำหรับเศรษฐกิจด้านอุปทาน ภาคเกษตรกรรมมีการหดตัวเล็กน้อย ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนในเดือน ก.ย.และไตรมาส 3/57 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ในไตรมาส 3 ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ขยายตัว 2.3% ต่อปี และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าพบว่าขยายตัวเช่นกันที่ 0.7% ต่อไตรมาส
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาส 3/57 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 69.3 จากในไตรมาส 2/57 ที่อยู่ที่ระดับ 61.2 เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น ตามสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง และการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลเริ่มมีความชัดเจนขึ้น การลงทุนภาคเอกชน ในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนกันยายน ที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ขณะที่การลงทุนหมวดภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง การส่งออกสินค้ายังคงมีสัญญาณชะลอตัว สะท้อนผลจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก