- Details
- Category: คลัง
- Published: Friday, 01 January 2021 14:22
- Hits: 18716
ดัชนี ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนธันวาคม 2563
ดัชนี RSI เดือนธันวาคม 2563 ชี้แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคที่ดีขึ้นต่อเนื่องในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมของภาคใต้และภาคบริการของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ดี ยังมีความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในหลายภูมิภาค
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง และนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนธันวาคม 2563 ที่เป็นการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดจากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค พบว่า “ดัชนี RSI เดือนธันวาคม 2563 ชี้แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคที่ดีขึ้นต่อเนื่องในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมของภาคใต้และภาคบริการของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ดี ยังมีความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในหลายภูมิภาค”
ดัชนี ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้อยู่ที่ระดับ 66.7 แสดงถึงการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจจากปัจจัยสนับสนุนของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยในภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะมีการขยายตัวของโรงงานและเงินลงทุน รวมทั้งมีการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของภาคบริการได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ อาทิ โครงการคนละครึ่่ง ส่งผลให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 64.8 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่สามารถขยายตัวได้โดยมีภาคบริการและภาคการจ้างงานเป็นปัจจัยสนับสนุน เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลายมาตรการไม่ว่าจะเป็นโครงการคนละครึ่งและโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น
ในส่วนของภาคการจ้างงานคาดการณ์ว่าจะมีการจ้างงานและเวลาในการทำงานมากขึ้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 63.1 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชผลการเกษตรซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงมาตรการภาครัฐในการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกและให้ความช่วยเหลือด้านราคาสินค้าของเกษตรกร อีกทั้งภาคอุตสาหกรรมยังได้แรงสนับสนุนจากการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการของรัฐบาล สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตกอยู่ที่ 57.8 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้น
โดยมีภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก โดยในส่วนของภาคเกษตรคาดว่าภาครัฐจะมีนโยบายสนับสนุนภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะรับได้ปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้มีความต้องการผลิตสินค้าและการลงทุนเพิ่มสูงขึ้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคกลางอยู่ที่ 53.1 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จึงทำให้มีการใช้จับจ่ายใช้สอยและยอดการสั่งซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น
สำหรับ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 52.3 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคเกษตร เนื่องจากยังอยู่ในช่วงที่ผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาด ทำให้มีวัตถุดิบป้อนโรงงาน อย่างไรก็ตาม ภาคการลงทุนมีแนวโน้มชะลอตัวจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งส่งผลให้มีการเลื่อนการจัดประชุม สัมมนา ศึกษาดูงาน และการยกเลิกจองห้องพักของกลุ่มนักท่องเที่ยว สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 50.9 สะท้อนภาวะอนาคตเศรษฐกิจที่ทรงตัวโดยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดข้างเคียงที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ