WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

จี้ร่าง กม.จ่ายภาษีคนจน คลังหวังช่วยเหลือคนที่มีรายได้น้อย-จูงใจทำงาน

       บ้านเมือง : นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เร่งจัดทำแนวทางการจ่ายเงินช่วยเหลือคนจน ผ่าน พ.ร.บ.เงินโอน แก้จน คนขยัน หรือจ่ายภาษีให้คนจน (Negative Income Tax) ขณะเดียวกัน ก็ให้ศึกษาด้วยว่า จะมีระบบตรวจสอบบุคคลที่เข้าข่ายได้รับการช่วยเหลือตามแนวทางดังกล่าวให้เกิดความรัดกุมได้อย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้งบประมาณรั่วไหล

      ในการเดินทางไปประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสมหมาย กล่าวว่า ตนได้รับทราบแนวทางช่วยเหลือชาวนาของต่างประเทศ ซึ่งพบว่าหลายประเทศต่างมีแนวทางช่วยเหลือชาวนาและเกษตรของตัวเอง ทั้งสหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) หรือแม้แต่มาเลเซีย ซึ่งการช่วยเหลือดังกล่าวไม่ผิดเงื่อนไขขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ)

     สำหรับ ประเทศที่ให้ความช่วยเหลือชาวนา จะมีมาตรการในการตรวจสอบที่ชัดเจน เช่น การตรวจสอบรายได้ว่าจนจริงหรือไม่ รวมถึงตรวจเช็คการใช้จ่ายทั้งเรื่องการซื้อรถยนต์ หรือการซื้อบ้านว่าสอดคล้องกับฐานะหรือไม่ โดยมีแนวคิดที่จะนำแนวทางการตรวจสอบตรงนี้มาตรวจเช็คกับชาวนาไทย ซึ่งการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาทนั้น ก็ถือเป็นแนวทางการช่วยเหลือคนจนวิธีการหนึ่ง

     การจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาและคนจนต้องวางแผนป้องกัน และต้องสร้างกลไกตรวจสอบออกมาควบคู่กัน ซึ่งปัญหาของไทยคือปัญหาเรื่องปฏิบัติที่ไม่ค่อยรัดกุม และเกิดช่องโหว่ให้ทุจริต

     "ในช่วงแรก คงนำมาตรการในต่างประเทศมาใช้ไม่ทัน ต้องใช้มาตรการตรวจสอบที่มีอยู่แล้วไปก่อน หากมีการช่วยเหลือครั้งต่อๆ ไป จะดูแนวทางการตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้น และต้องศึกษาดูว่าจะนำแนวทางที่ใช้ในต่างประเทศมาใช้กับไทยได้อย่างไรบ้าง" นายสมหมาย กล่าว

      รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า นายสมหมาย สั่งการให้ สศค.เร่งร่าง พ.ร.บ.เงินโอน แก้จน คนขยัน หรือจ่ายภาษีให้คนจนเพื่อเสนอไปยังรัฐบาล โดยเตรียมไว้เสนอหลังที่ได้เสนอภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปแล้ว ซึ่งเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา สศค.ได้เสนอผลการศึกษาเรื่องเงินโอนแก้จนดังกล่าวให้ระดับนโยบายรับทราบแล้ว

     "การช่วยเหลือคนจนในลักษณะนี้จะดีกว่าโครงการประชานิยม เพราะเป็นโครงการรัฐสวัสดิการที่ช่วยเหลือคนเฉพาะกลุ่ม เป็นโครงการที่สนับสนุนคนทำงาน เพราะถ้าขี้เกียจไม่มีงานทำก็จะไม่ได้รับเงินจากภาครัฐ" รายงานข่าวกล่าว

     โดยหลักเกณฑ์เบื้องต้นสำหรับการจ่ายเงินโอนดังกล่าวจะต้องดูตามเกณฑ์รายได้ โดยผู้ที่มีรายได้ 3 หมื่นบาทต่อปี จะได้รับเงินมากสุด คือ 6,000 บาทต่อปี แต่ถ้าสูงกว่าหรือต่ำกว่า 3 หมื่นบาท จะได้รับเงินลดหลั่นกันไปตามขั้นบันได มีเงื่อนไขว่า หากรายได้ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อปี หรือสูงกว่า 8 หมื่นบาทต่อปี จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ ซึ่งจากข้อมูลพบว่ามีคนจนที่ต้องได้รับการช่วยเหลือประมาณ 18 ล้านคน คิดเป็นเงินที่รัฐต้องจ่ายประมาณ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี

    นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ออกคำสั่งให้ผู้บริหารของกรมบัญชีกลาง ซึ่งมีหน้าที่ติดตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานต่างๆ ประมาณ 35 หน่วยงาน ที่มีการงบฯ ลงทุนเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ดูแลการเบิกจ่ายและเซ็นสัญญาเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนปีงบประมาณ 2558 เป็นไปตามมติของรัฐบาล ที่ให้เซ็นสัญญาภายในวันที่ 25 ธ.ค.57 ในโครงการไม่เกิน 500 ล้านบาท และภายในไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 2558 สำหรับโครงการที่เกิน 500 ล้านบาท

    "ผู้บริหารของกรมบัญชีกลางจะต้องเข้าหารือกับผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ ว่ามีปัญหาการเบิกจ่ายในส่วนไหน และหาทางแก้ไขเพื่อให้เดินหน้าเซ็นสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง โดยที่ไม่ต้องรอให้หน่วยงานนั้นทำเรื่องมาสอบถาม ซึ่งจะใช้เวลานานส่งผลให้การเบิกจ่ายได้ไม่ตามเป้า โดยปีงบประมาณ 2558 ตั้งเป้าการเบิกจ่ายในภาพรวมไว้ 96% และตั้งเป้าเบิกจ่ายงบลงทุน 87%"

     ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางยังมีคำสั่งให้คลังเขตและคลังจังหวัด รับผิดชอบติดตามเร่งรัดการก่อหนี้และการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของหน่วยงานในพื้นที่ รวมทั้งงบจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ซึ่งมีงบประมาณส่วนนี้รวมกันถึง 1.8 หมื่นล้านบาท หากเร่งเบิกจ่ายได้รวดเร็วจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ของประเทศให้ดีขึ้น

      สำหรับ การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2558 ในช่วงเดือนแรกถึง 17 ต.ค.57 วงเงิน 2.57 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายได้ 2.02 แสนล้านบาท หรือ 7.85% สูงกว่าช่วงเดียวกันที่ผ่านมาที่เบิกจ่ายได้ 5.73% ด้านการเบิกจ่ายงบเหลือปีวงเงิน 1.7 แสนล้านบาท สามารถเบิกจ่ายได้แล้ว 6,941 ล้านบาท หรือ 1.05%

     อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หน่วยงานต่างๆ ยังไม่มีการเซ็นสัญญาโครงการลงทุน เนื่องจากเพิ่งเริ่มต้นปีงบประมาณ มีเพียงหน่วยงานของกรมทรวงคมนาคมที่มีการเซ็นสัญญาก่อสร้างโครงการและมีการเบิกจ่ายเงินไปบางส่วนแล้ว เนื่องจากมีความชำนาญก่อสร้างโครงการต่างๆ มาต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามคาดว่าการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2558 จะได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ เพราะมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายที่รัฐบาลออกมามีประสิทธิภาพเพียงพอ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!