- Details
- Category: คลัง
- Published: Saturday, 25 October 2014 12:35
- Hits: 3070
ชงนายกฯแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ
บ้านเมือง : นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้ยื่นหนังสือแนวทางการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้กับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาตามแผนการแก้หนี้นอกระบบ เป็นการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ หลังจากนี้คงต้องรอการพิจารณาว่าจะเห็นชอบตามแผนหรือไม่ ในแนวทางเบื้องต้น การปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จะให้เอกชนที่เข้าร่วมโครงการขึ้นทะเบียนกับรัฐ เพื่อให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง และปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนในวงเงินไม่เกิน 1 แสน-1 แสน 2 หมื่น บาท ส่วนอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ระหว่างการหารือ อาจจะอยู่ในช่วง 32-36% ต่อปี และในส่วนนี้อาจดึงกรมสรรพากรมาดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเอกชนที่เข้ามาจดทะเบียนถือเป็นนิติบุคคลต้องมีการเสียภาษี แต่จะลดอัตราภาษีให้ครึ่งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้หารือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เรียบร้อยแล้ว และเห็นด้วยพร้อมสนับสนุนเต็มที่ และเห็นว่าโครงการนาโนไฟแนนซ์ไม่ได้เป็นการเพิ่มปัญหาหนี้ให้ครัวเรือน แต่จะเป็นการทดแทนหนี้ครัวเรือนในส่วนที่เป็นหนี้นอกระบบ จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงการคลังมีแนวคิดปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ว่า ไม่มีผลกระทบทำให้สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ของระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากผู้ปล่อยกู้นาโนไฟแนนซ์ไม่ได้เป็นธนาคารพาณิชย์ แต่เป็นบุคคลที่ปล่อยกู้ที่อยู่ในจังหวัดนั้นๆ อยู่แล้ว และถึงแม้ว่าผู้ปล่อยกู้ดังกล่าวจะมาขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์เพื่อนำไปปล่อยกู้ต่อก็จะต้องมีหลักประกันและต้องมีการพิจารณาถึงความสามารถในการชำระหนี้ ดังนั้นจึงไม่มีผล กระทบต่อ NPL ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบัน NPLของธนาคารพาณชิย์อยู่ที่ 2.3% และเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงก็สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้มาก
โดยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จะช่วยให้รายย่อยหรือรากหญ้าเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น โดยจะเป็นการกู้ในวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย 36% ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อส่วนบุคคลที่อยู่ที่ 28% เนื่องจากมีความเสี่ยงสำหรับผู้ปล่อยกู้มากกว่า เพราะผู้กู้รายย่อยอาจจะไม่มีหลักประกัน ขณะเดียวกันนาโนไฟแนนซ์ยังเป็นการช่วยให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองมากขึ้น เพราะเป็นการดึง ผู้ปล่อยกู้ที่เคยอยู่นอกระบบเข้ามาสู่ในระบบ ทำให้สามารถบริหารจัดการได้ รวมทั้งเป็นช่องทางให้รัฐบาลเข้าไปให้ความรู้ทางการเงินง่ายขึ้น แต่การเกิดนาโนไฟแนนซ์ไม่ได้ช่วยในการลดการก่อหนี้เพราะการกู้ยืมเป็นไปตามความต้องการของผู้กู้