WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

คลังมึนตึ๊บ ปี’ 57 อ่วมเหตุส่งออกขยายตัวเป็น 0%-แบงก์หดเป้าสินเชื่อชี้ทรุดยาวถึงปี’ 58

   แนวหน้า : ปี’57 อ่วมเหตุส่งออกขยายตัวเป็น 0%-แบงก์หดเป้าสินเชื่อชี้ทรุดยาวถึงปี’58

คลังกุมขมับศก.เข็นไม่ขึ้น

   คลังมึนตึ๊บ ตัวเลขขยายตัวทางเศรษฐกิจปี’57 ขยายตัวต่ำกว่าเป้า เหตุส่งออกร่วงหนัก คาดทั้งปีอัตราโตอยู่ที่ 0% ซ้ำเจอประเด็นผู้ส่งออกไทยย้ายฐานหนี กดตัวเลขให้ร่วงหนักขึ้นไปอีก ขณะที่สินค้าเกษตร ก็ราคาตกต่ำ สมหมายย้ำเงินฝืดจริงลงภาครัฐก็อืด แบงก์ชาติยอมรับไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

    แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ รวมถึงประมาณการเศรษฐกิจปี 2558ในวันที่ 30 ต.ค. นี้ ซึ่งในส่วนของการการขยายตัวทางเศรษฐกิจคาดว่าจะขยายตัวได้ไม่ถึง 2% ต่อปีแต่ไม่ต่ำกว่า 1.5% ต่อปี ตามที่นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ได้ยืนยันกับนักลงทุนต่างประเทศก่อนหน้านี้ สำหรับเศรษฐกิจปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวได้มากกว่าปีนี้

  สำหรับ เศรษฐกิจปีนี้ ขยายตัวได้น้อยกว่าที่คาด เพราะการบริโภค และการลงทุนขยายตัวได้ไม่เต็มที่ ขณะที่การส่งออกของไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ สศค. ประมาณการไว้มาก โดย 8 เดือนแรกของปี 2557 มูลค่าการส่งออกขยายตัวติดลบ 1.4% จากผลกระทบทั้งปัจจัยภายในมีสาเหตุมาจากปัญหาค่าแรงที่สูงขึ้น ปัญหาราคาผลผลิตสินค้าเกษตรตกต่ำ และปัญหาภัยธรรมชาติส่งผลให้ผลผลิตเพื่อส่งออกน้อยลง ในส่วนของปัจจัยภายนอก การฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ทำให้การส่งออกของไทยลดลดลง

   แหล่งข่าวกล่าวว่า สศค.ได้ติดตามปัญหาการส่งออกอย่างใกล้ชิด เพราะเศรษฐกิจโลกไม่ได้มีปัญหาวิกฤติ แต่ทำให้การส่งออกของไทยปีนี้ขยายตัวได้ต่ำ ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากการย้ายฐานการผลิตจากไทยไปยังประเทศอื่น ทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวลงจากคาดการณ์อย่างมาก ดังนั้นการแก้ปัญหาการส่งออกของไทยในระยะยาว ควรต้องดูเรื่องการย้ายฐานการผลิต จะกระทบกับการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไทยมีปัญหา เพราะการส่งออกของไทยมีสัดส่วนมูลค่าสูงถึง 74% ต่อจีดีพี

   สำหรับ การประมาณการส่งออกล่าสุด สศค.ให้อยู่ 1.5% ซึ่งการปรับประมาณการในวันที่ 30 ต.ค. นี้จะมีการปลัดลดลงจากเป้าเดิม น่าจะใกล้เคียงกับการประมาณของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่คาดว่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ 0%

  นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยตอนนี้อยู่ในภาวะชะงักซบเซา(Stagnation) ยังไม่เป็นความเสี่ยงกับเศรษฐกิจไทย เพราะประเทศไม่ได้จน มีเงิน แต่ยังไม่ยอมใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐยังเดินหน้าได้ช้า ซึ่งเชื่อว่านักลงทุนต่างประเทศยังเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย โดยการเดินทางไปประชุมเอเปค ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 21-22 ต.ค. 2557 ก็จะมีโอกาสชี้แจงให้นักลงทุนต่างประเทศได้เข้าใจข้อมูลที่แท้จริง

  ด้านนายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์และการเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า หลังจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่คาดและลูกค้าที่มีการเจรจาขอสินเชื่อได้ชะลอออกไป ส่งผลให้สินเชื่อไม่เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งธนาคารคาดว่าจะโตไม่ถึง 15% แต่ยังคงโตเป็นตัวเลขสองหลัก

  นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจชะลอตัวและปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกมีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สิ้นไตรมาส 3 อยู่ที่ 3.3% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2556 ที่อยู่ที่ 2.5% อย่างไรก็ตาม ทางธนาคารจะมีการติดตามและดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น คาดว่าสิ้นปีนี้เอ็นพีแอล จะต่ำกว่า 3% สำหรับแนวโน้มสินเชื่อปี 2558 คาดว่ายังมีการเติบโตแต่อัตราการเติบโตจะน้อยกว่าปี 2557 โดยมองว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร

   ด้านนายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษก ธปท.กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2557 ช่วงครึ่งปีแรก อาจกล่าวได้ว่าอยู่ในภาวะ Stagnation ในเรื่องอัตราการเติบโต แต่ไม่มีปัญหาเรื่องการว่างงาน ซึ่งในปัจจุบันถือว่าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัวและได้พ้นจากช่วง Stagnation ไปแล้ว แต่ยังถือเป็นช่วงรอยต่อที่สำคัญ จึงต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมาได้มากน้อยเพียงใด

   “ยังไม่อยากให้กังวลหรือมองภาพเศรษฐกิจในเชิงลบเกินไป เนื่องจากภาวะ Stagnation คือสถานการณ์ที่เศรษฐกิจซบเซา ไม่มีการขยายตัว หรือขยายตัวในอัตราที่ต่ำเป็นระยะเวลานานพอสมควร และต้องเกิดขึ้นพร้อมกับภาวะการว่างงานที่สูง ซึ่ง ธปท.ไม่ได้มีความเห็นต่างจากกระทรวงการคลังแต่อย่างใด” นายจิรเทพ กล่าว

    ทั้งนี้ ธปท. ประเมินว่าแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีและต่อเนื่องไปถึงปีหน้าจะมาจากการใช้จ่ายในประเทศเป็นหลัก ทั้งการลงทุนและการบริโภค นโยบายภาครัฐที่มีความชัดเจนมากขึ้นจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจเอกชนในการลงทุนเพิ่มเมื่อรวมกับแนวโน้มการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนที่ทำงานนอกภาคเกษตรและฐานะทางการเงินของครัวเรือนที่มีแนวโน้มดีขึ้นหลังจากครัวเรือนเริ่มปรับตัวและชะลอการก่อหนี้ น่าจะสนับสนุนให้การใช้จ่ายของครัวเรือนฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง

     อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่าการเติบโตอาจดูไม่แข็งแกร่งเหมือนในอดีต เพราะการฟื้นตัวยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เศรษฐกิจจึงยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ในทุกภาคส่วน (broad based) ประกอบกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไปพึ่งพาการก่อหนี้มากใน 2 ปีก่อน รวมถึงโครงสร้างการผลิตของไทยทั้งด้านแรงงานและโครงสร้างพื้นฐานยังต้องพัฒนามากกว่าปัจจุบัน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!