- Details
- Category: คลัง
- Published: Monday, 17 August 2020 23:59
- Hits: 8904
'สุพัฒนพงษ์'-'ปรีดี' รับลูก'ศูนย์บริหารเศรษฐกิจ' (ศบศ.) เกาะเศรษฐกิจรายวัน พร้อมเพิ่มมาตรการฟื้นฟู
'สุพัฒนพงษ์'-'ปรีดี' รมว.คลังใหม่ ประกาศทำงานรับลูก'ศูนย์บริหารเศรษฐกิจ' (ศบศ.) ของนายกฯ ทำงบปี 63 และปี 64 ต่อเนื่อง ออกมาตรการเป็นชุด เร่งแก้ปัญหาหนี้สิน สภาพคล่องภาคธุรกิจ-รายย่อย เร่งออกมาตรการช่วย SME และจูงใจจ้างงานพร้อมช่วยเด็กจบใหม่
โดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน นัดหมาย นายปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง และนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ มาหารือที่กระทรวงการคลัง แถลงข่าวอย่างเป็นทางการ
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยขณะนี้ ถือเป็นภาวะความไม่แน่นอนจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยากต่อการบริหารจัดการ เพราะหากเป็นเพียงภาวะความเสี่ยง รัฐบาลยังพอประเมินสถานการณ์และวางแผนรับมือได้ ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นจะต้องดูแลภาคเศรษฐกิจ ในลักษณะของการผ่อนคลายมาตรการที่เคยเข้มงวด ควบคู่กับการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ การที่นายกรัฐมนตรี จัดตั้งศูนย์บริหารเศรษฐกิจ (ศบศ.) ขึ้นมา โดยรวบรวมหน่วยงานจากกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคธุรกิจเอกชนเข้าไว้ด้วยกัน จะช่วยให้เกิดการบูรณาการในการทำงาน อย่างรอบด้าน และลดขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติโครงการ ก่อนนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายในการดูแล 5 ข้อ คือ 1 ให้ดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 2. ดูแลภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ภาคส่วนต่างๆ โดยแนวมาตรการที่จะออกมาเป็นชุดและสร้างความยั่งยืนด้วย เพื่อให้ดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างปกติมากขึ้น 3 มาตรการจูงใจให้ธุรกิจต่างๆจ้างงาน 4 เน้นการจ้างงานใหม่ โดยเฉพาะนักศึกษาที่จบใหม่ ให้มีงานทำ และ 5 เน้นทำงานสร้างความโปร่งใส โดยการเปิดรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน
สิ่งที่ย้อนให้เห็นโจทย์หรือปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การระบาดของโควิดเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งไม่มีใครเคยเจอและแก้ไขเรื่องนี้ ที่สำคัญยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก เป็นเรื่องความท้าทายและเหนือความควบคู่หลายๆด้าน ซึ่งไม่ใช่เรื่องความเสี่ยงด้วย เพราะความเสี่ยงยังประเมินกันได้ แต่อันนี้เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ตอนนี้ทั้งโลกเศรษฐกิจถดถอย และการระบาดโควิดยังมีต่อเนื่องอย่างที่เห็นในประเทศต่างๆ แต่ประเทศไทยมีการควบคุมดูแลในระดับมาตรฐานดีเยี่ยม จากการประเมินมาตรฐานของโกลบอล โควิด-19 Index
แนวทางการดำเนินงานในลักษณะ 'รวมไทยสร้างชาติ' ที่นายกรัฐมนตรีจัดตั้งขึ้นมา จะเป็นกรอบความคิดในการทำงานของ ศบศ. ซึ่งจากนี้ไป จะต้องมีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากที่รัฐบาลเคยประกาศไปก่อนหน้านี้ ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบอีกที แต่ยืนยันว่ารัฐบาลได้เตรียมมาตรการเพิ่มเติมอย่างแน่นอน
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ว่า ศบศ. ที่มี นายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ และดึงเอาหน่วยงานสำคัญๆ เช่น กระทรวงเศรษฐกิจ มหาดไทย แรงงาน สาธารณสุข เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้แทนจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน และนักธุรกิจชั้นนำ ร่วมเป็นกรรมการ ถือเป็นคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่ดูแลในภาพรวม เมื่อได้ข้อสรุปจะนำเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณาเห็นชอบ
ขณะเดียวกัน ยังมี คณะกรรมการชุดปฏิบัติการในการขับเคลื่อนแผนงาน ที่มี นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธานฯ และมีผอ.สำนักงบประมาณ ปลัดกระทรวง ผู้ว่า ธปท. ฯลฯ คอยทำหน้าที่กลั่นกรองและดำเนินการในขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้ ยังมี คณะอนุกรรมการอีก 3 ชุด ทำหน้าที่วิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจทั้งในระยะสั่น ระยะยาวและปานกลาง และคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และสนับสนุนข้อมูลเศรษฐกิจรายสาขา
นายปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง กล่าวว่า บทบาทและภารกิจของกระทรวงการคลังหลังจากมี ศบศ. จะต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างแน่นอน ด้วยข้อจำกัดที่กำลังประสบอยู่ คือ การที่ภาวะเศรษฐกิจหดตัว เพราะไทยพึ่งพาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวมากเกินไป สถานการณ์ปัญหาการว่างงาน และ การที่มีเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจมีอย่างจำกัด อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้ กระทรวงการคลังได้เกาะติดมาโดยตลอดและตามดูอยู่ทุกวัน จนกว่าทุกอย่างจะเข้าสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจำเป็นจะต้องรักษาเสถียรภาพด้านการคลัง ด้านระบบการเงินและสถาบันการเงิน ให้เป็นหลักของประเทศ ควบคู่กับการทำงานของ ธปท. พร้อมกันนี้ ยังจะดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และประชาชนผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รัฐบาลพยายามจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งการมี ศบศ. จะช่วยลดขั้นตอนการดำเนินงานได้มากขึ้น ซึ่งการที่ตนมาจากการภาคเอกชนและมีส่วนร่วมในข้อเสนอต่างๆ ก่อนหน้านี้ เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อการทำงานร่วมกันในอนาคต
ส่วนการออกมาตรการใหม่ๆ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า มีแน่นอน จะเป็นทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการส่งเสริมมากกว่า ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ต่อให้ไม่มีโควิด รัฐบาลก็มีความเป็นห่วงอยู่และทยอยแก้กันมาอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และทำให้คนไทยเกิดรายได้ดีขึ้น ตนอยากทำให้ประเทศไทยพ้นจากความเดือดร้อนหรือวิกฤติครั้งนี้ไปได้
สำหรับ การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากไทยสามารถควบคุมการระบาดให้ดี วัคซีนมาเร็ว ความเชื่อมั่นสูงขึ้น เงินที่เตรียมไว้อาจไม่จำเป็น และเกิดการลงทุนมากขึ้น การบริโภคการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น คนเลิกกลัวและทุกอย่างขยับได้ สถานการณ์ก็จะเปลี่ยนไปดีขึ้น
“หากดูประเทศอื่นใช้งบฯมากกว่าไทยมหาศาล โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะเกินกว่า 100%ของ GDP ส่วนรัฐบาลไม่ได้มีนโยบายตั้งเป้าไม่ให้เกินเท่าไหร่ แต่เราจะทำอย่างไรให้ทุกคนตระหนกรู้ปกป้องประเทศ เราจะใช้งบอย่างเหมาะสมดีที่สุด เรื่องระบาดนี้มีวันสิ้นสุดเมื่อวัคซีนมา เมื่อเราผ่านไปได้ ประเทศไทยแข็งแรงทุกอย่างผ่านไปได้ การดูแลลดค่าใช้จ่ายก็มีอยู่บ้าง”
นายปรีดี กล่าวว่า สำหรับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ไตรมาส 2/2563 ที่ติดลบ 12.2% ต่ำสุดในรอบนี้ ถือเป็นความโชคดีที่เข้ามาทำงานแก้ปัญหาในช่วงนี้ เพราะหลังจากนี้จะเข้าสู่ช่วงทยอยฟื้นตัวกลับมา และเมื่อศบศ. มีมาตรการใหม่ๆออกมาอีก เพื่อประคับประคองให้ประชาชนและภาคธุรกิจผ่านไปได้
แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ผลกระทบจากเศรษฐกิจที่หดตัว ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งยอมรับว่าแก้ได้ไม่ทั้งหมด โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับมา และโรงแรมหลายแห่งยังปิดตัวอยู่ และนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่เห็นแน่นอนจนถึงสิ้นปีนี้ จึงทำให้ไม่สามารถกลับมาที่เดิมก่อนโควิด ดังนั้น ศูนย์บริหารเศรษฐกิจจึงต้องทำงานอย่างหนักและทำทุกอย่างควบคู่กันไป เพื่อประคับประคองให้ผ่านไปได้ ภายใต้ความไม่แน่นอนว่าโควิดจะจบลงเมื่อไหร่
ในส่วนการดูแลภาคธุรกิจที่ประสบปัญหารายได้หายไป จะมีมาตรการใหม่ออกมาเป็นชุดเพื่อดูแลเอสเอ็มอี โดยให้มีวงเงินสามารถสนับสนุนได้ตลอดเวลา และเป็นการใช้เงินที่ตรงเป้าหมายและตรงจุด ซึ่งมาตรการที่ออกมาจะดูแลจนถึงวันที่มีวัคซีน และกลับมาค้าขายได้
สำหรับ บทบาทหน้าที่ของกระทรวงการคลัง นายปรีดีกล่าว ว่า ตนจะเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จะเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐ ขณะที่ด้านการลงทุนต่างๆในระยะกลางถึงระยะยาว ยังทำอย่างต่อเนือง เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรภาคเอกชนเติบโตแข็งแกร่งยั่งยืนและที่สำคัญลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน ซึ่งไม่สามารถทำได้วันเดียว แต่ต้องทำทุกวันๆ
นอกจากนี้ จะติดตามการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ปัจจุบันกว่า 40% นั้น เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัวจึงทำให้สัดส่วนสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม อาจไม่จำเป็นต้องยึดกรอบเพดาน 60%ของ GDP ตลอด
“คลังจะทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพระบบการคลังและระบบการเงินเป็นหลักของประเทศ ขอให้มั่นใจว่าเราจะทำงาน ประคับประคองภาคประชาชนและธุรกิจไปทุกๆวัน จนกว่าจะคืนกลับในภาวะที่เราใช้ชีวิตปกติ ถามว่าสำเร็จไหม มันไม่มีหรอก เราพยายามทำให้มันดีขึ้นกว่าเดิม เราจะดูเสถียรภาพการเงินการคลัง และยืนยันว่า เงินคงคลัง ถังไม่มีแตก เพียงแต่ขึ้นอยู่กับการบริหารเงิน เช่น ในบางจังหวะมีค่าใช้จ่ายสูง มีการเบิกรายจ่ายงบกัน ขณะที่รายได้จากภาษีธุรกิจจะเข้ามาในเดือนพ.ค. ก็จะต้องบริหารสภาพคล่อง”
สำหรับ การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น นายปรีดี กล่าวว่า ภายใต้ข้อจำกัดเม็ดเงินงบปี'63 มั่นใจว่า งบประมาณปี '64 คงผ่านสภาออกมาได้ ซึ่งจะทำให้สามารถประเมินการใช้จ่ายได้ ซึ่งตนยืนยันว่า รัฐบาลจะใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และกระทรวงการคลังจะดูแลประชาชน 70 ล้านคนทุกคนให้มีกิน โดยเฉพาะกลุ่มคนมีรายได้น้อยในส่วนของการจัดเก็บรายได้นั้น จะมีการเก็บภาษีเพิ่มหรือไม่อย่างไร ความท้าทายระยะสั้นเศรษฐกิจทุกประเทศหดตัวลงหมด ไทยถูกกระทบมาก เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยว ส่งออก ปัญหาเกิดจากคนเดินทางไมได้ ไทยก็ได้รับผลกระทบมากที่สุด เป็นเหตุและผล ทุกคนถามว่าเมื่อไหร่จะกลับที่เดิม 1-2 ปี เป็นความคาดหวัง ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจน
"ผมมานั่งเป็น รมว. คลัง ผมจะไม่ตอบอะไรที่มันไม่มีความชัดเจน เพราะทำอย่างนั้นไม่ได้ รู้ว่าทุกคนมีความคาดหวังเมื่อมีคนใหม่เข้ามาทำงานจะก่อให้เกิดสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง แต่คงไม่สามารถทำได้ทันที" นายปรีดี กล่าว
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ