WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

รมว.คลัง แย้มมีแนวคิด ออกกฏหมายสกัดการทุจริต คอร์รัปชัน ทุกหน่วยงานในสังกัด และทุกรัฐวิสาหกิจ

   นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่องนโยบายของรัฐบาลต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นว่า  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำการปราบปรามการทุจริตคอรัปชัน ซึ่งตนเองในฐานะที่ควบคุมดูแลกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า มีการทุจริตรายวัน โดยเฉพาะ 3 กรมจัดเก็บภาษี ทั้งกรมสรรพากร กรมสรรพาสามิต และ กรม ศุลกากร ตามที่เป็นข่าว ซึ่งทำให้ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานทั้งระบบเนื่องจากการดำเนินงานแต่ละขั้นตอนมีช่องโหว่ จึงสั่งการให้อธิบดีทั้ง 3 กรมดูแลอย่างเข้มงวด โดยการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้มาใช้ในโครงการลงทุนภาครัฐเพื่อปัญหาการทุจริต เช่น โครงการสุวรรณภูมิเฟส 2 และ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

    ทั้งนี้ มีแนวคิดในการออกกฎหมายกฎระเบียบ เพื่อมาดูแลและแก้ไขปัญหาทุจริตและคอรัปชันอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะต้องควบคุมในทุกหน่วยงานในสังกัด และทุกรัฐวิสาหกิจให้เกิดผลในเชิงบวก  โดยเบื้องต้นทางกระทรวงการคลังเตรียมเปิดสาย hot line เพื่อรับเรื่องร้องเรียนต่างๆจากประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

     "เรื่องการทุจริตของ 3 กรมจัดเก็บภาษี ก็ได้มีการมอบหมายนโยบายให้กับอธิบดีทั้ง 3 กรม เข้าไปดูแลเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยในส่วนของรัฐมนตรีจะช่วยสนับสนุนในการแก้ไขระบบเพื่อป้องกันช่องว่างที่จะเกิดคอร์รัปชั่น ซึ่งยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับปัญหาการทุจริตอย่างจริงจัง พร้อมทั้งวางแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้หมดจากประเทศไทย"รมว.คลังกล่าว

   สำหรับ ปัจจุบันประเทศไทยถูกจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นอยู่ที่อันดับ 102 จากเดิมที่อยู่อันดับที่ 88 แต่อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าหากทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างเต็มที่จะทำให้ประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือ และอันดับจะกลับมาดีขึ้นได้

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

รมว.คลัง แนะยกเครื่องกระบวนการ-กม.สกัดคอร์รัปชั่น หนุนเอกชนเป็นแนวร่วม

    นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนา "บทบาทความร่วมมือภาครัฐ-เอกชนในการต่อสู้คอร์รัปชั่น" โดยระบุว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทยไม่ถือว่าเป็นมะเร็งร้าย แต่เปรียบเหมือนเป็นโรคเบาหวานขั้นร้ายแรงที่สร้างความทรมาน และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้การดำเนินโครงการต่างๆ เป็นไปด้วยความล่าช้า และสร้างผลกระทบมาถึงประชาชน

     โดยการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และหยิบยกไว้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของแนวนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงต้องรับไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติด้วยการทำเป็น Action Plan เพื่อวางแนวทางและมาตรการในการป้องกันและปราบปรามไม่ให้เกิดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น

     รมว.คลัง ได้เสนอแนะแนวทางที่สำคัญ 2 ประการ เพื่อช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว คือ 1.จะต้องมีการปรับปรุงกระบวนการ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเห็นว่าจะต้องมีการยกเครื่องใหม่ เพราะมองว่าองค์กรจะเป็นตัวสำคัญในการร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในเรื่องนี้ได้ และ 2.จะต้องมีการปรับปรุงระเบียบ และกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างธรรมาภิบาล เพื่อปิดโอกาสไม่ให้นักการเมืองเข้ามาใช้อำนาจในทางที่มิชอบ

   พร้อมเห็นว่าในเรื่องการตรวจสอบและกำกับดูแลหน่วยงานรัฐวิสาหกิจโดยอำนาจของซุปเปอร์บอร์ดที่เพิ่งตั้งขึ้นมาโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)นั้น ในอนาคตควรจะต้องมีการออกกฎหมายมากำกับดูแล เพื่อรองรับอำนาจของซุปเปอร์บอร์ดให้มีความยั่งยืน ไม่ใช่พอเปลี่ยนรัฐบาลใหม่แล้วก็จะถูกยกเลิกไป โดยคาดว่าภายในเวลา 1 ปีน่าจะมีการยกร่างกฎหมายดังกล่าวได้ทัน

     นายสมหมาย ยอมรับด้วยว่าภายกระทรวงการคลังเองก็มีเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นเป็นรายวัน โดยเฉพาะในกรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังมีแผนที่จะเปิดโทรศัพท์สายด่วน(Hotline) เพื่อเปิดรับการร้องเรียนในเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น โดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการหารือของระดับนโยบาย

    "ก็รู้ดีในกระทรวงการคลัง มีหนังสือร้องเรียนต่างๆ เข้ามา แล้วถ้าเปิด Hotline คงจะมาเยอะมาก คงจะเปิดแน่นอน ตอนนี้ให้เวลาอีกเดือนกว่าๆ คงต้องพยายามเต็มที่ ตอนนี้ผมเน้นไปยังท่านอธิบดี เพราะเรื่องนี้ระดับปลัด ระดับรัฐมนตรีคงไม่รู้ลึกๆ แต่อธิบดีเขารู้ ผมจะสนับสนุนเรื่องการแก้ระบบเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ภาคปฏิบัติคงต้องมอบให้ระดับอธิบดี...เรื่องนี้ถ้านายกรัฐมนตรีซีเรียส พวกเขาจะไม่ซีเรียสไม่ได้"รมว.คลัง กล่าว

     พร้อมระบุว่า ต้องการเชิญชวนให้บริษัทเอกชนในประเทศไทยที่มีธรรมาภิบาลที่ดีเข้ามาเป็นแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต(Collective Action Coalition Against Corruption) หรือ CAC ให้มากขึ้น โดยปัจจุบันมีบริษัทเอกชนของไทยที่ผ่านการรับรองจาก CAC แล้ว 78 บริษัท และมีนโยบายและแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนดจำนวน 31 บริษัท ซึ่งถือว่าน่าชื่นชมที่บริษัทในประเทศไทยได้นำนโยบายต่อต้านการโกงไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

   รมว.คลัง กล่าวว่า ในอนาคตอาจจะมีการพิจารณาเพิ่มเติมเงื่อนไขสำหรับบริษัทเอกชนที่จะเข้าประมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ ว่าถ้าเป็นบริษัทที่ผ่านการกลั่นกรองเรื่องการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นมาแล้ว ก็จะช่วยทำให้มีโอกาสที่จะได้รับการพิจารณาให้เข้าร่วมประมูลงานมากขึ้น

    "ในฐานะภาครัฐจะพยายามสนับสนุน โดยระยะยาว รัฐบาลนอกจากสนับสนุนแล้วยังอาจจะมีการวางเงื่อนไขสำหรับการเข้าประมูลโครงการของภาครัฐว่า ถ้าบริษัทเหล่านี้จะมาประมูลงานของรัฐ ต้องดูข้อมูลให้ลึก ถ้าเป็นบริษัทที่ผ่านการกลั่นกรองเรื่องต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นมาแล้ว การจะผ่านเข้าไปประมูลงานก็จะทำได้ง่ายขึ้น" นายสมหมายกล่าว

    อนึ่ง CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมตามความสมัครใจ โดยล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 3/57 มีบริษัทเอกชนที่ร่วมประกาศเจตนารมย์แล้ว 362 บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียน 179 บริษัท โดยมีบริษัทรายใหญ่ระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยร่วมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก

                        อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!