- Details
- Category: คลัง
- Published: Monday, 13 October 2014 20:12
- Hits: 2687
สคร.เล็งส่งแผนฟื้นฟู รฟท.- ขสมก.เข้าซุปเปอร์บอร์ด
นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการสัมมนาเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจซึ่งจัดโดยสคร.วานนี้(11ต.ค.) โดยกล่าวว่า ขณะนี้ รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในข่ายฟื้นฟูกิจการจำนวน7แห่งได้ส่งแผนฟื้นฟูกิจการมายังสคร.ครบทุกแห่งแล้ว โดย 2 รัฐิวสาหกิจล่าสุดที่ส่งแผนมา คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ซึ่งสคร.อยู่ระหว่างพิจารณาและจะได้นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายและกำกับรัฐวิสาหกิจ(คนร.)หรือซุปเปอร์บอร์ดในครั้งต่อไป
เท่าที่พิจารณาแผนฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจของทั้ง7แห่ง เราพบว่า มีหลายรัฐวิสาหกิจที่มีความคืบหน้าในการฟื้นฟูกิจการและจะเห็นภาพของการฟื้นฟูที่ชัดเจน อาทิ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) โดยจะเห็นภาพที่บริษัทสามารถเข้าแข่งขันในเวทีโลกได้ ส่วนบริษัท ทีโอที และ การสื่อสารแห่งประเทศ นั้น ทางซุปเปอร์บอร์ด ก็น่าจะเห็นภาพการฟื้นฟูที่ชัดเจน โดยซุปเปอร์บอร์ดได้ตั้งคณะที่ปรึกษาเพื่อเข้ามากำหนดทิศทางการทำงานของทั้งสองแห่งเพื่อรองรับนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะไปในด้านดิจิตอล ซึ่งคาดว่า ภายในสิ้นปีนี้ จะเห็นภาพที่ชัดเจน
"ขณะนี้ เราไม่ห่วงเรื่องแผนฟื้นฟูของรัฐวิสาหกิจ เพราะทุกแห่งก็เดินหน้าตามแผนฟื้นฟูได้ตามเป้าหมาย โดยในส่วนของแบงก์รัฐก็มีความคืบหน้าในการฟื้นฟูได้ดีเช่นกัน เช่น เอสเอ็มอีแบงก์ เขาก็ทำงานกันทั้งเสาร์และอาทิตย์ ส่วนเรื่องการควบรวมกิจการของรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันนั้น เรายังไม่มีนโยบาย และอยากให้แต่ละหน่วยงานดูแลตัวเองให้ได้ก่อน"
สำหรับ รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในข่ายฟื้นฟูกิจการขณะนี้ ประกอบด้วย การบินไทย , รฟท. , ขสมก., ทีโอที, กสท.โทรคมนาคม, อิสลามแบงก์ และเอสเอ็มอีแบงก์
นายกุลิศ กล่าวด้วยว่า การดูแลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจมีความคืบหน้าไปมาก หลังจากมีซุปเปอร์บอร์ดเข้ามาช่วยกำกับดูแล โดยเฉพาะการให้นโยบายดูแลเรื่องความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างที่ขอให้มีหน่วยงานในต่างประเทศที่เชี่ยวชาญเรื่องความโปร่งใสในการลงทุนเข้ามาร่วมในการวางแนวทาง ซึ่งล่าสุดองค์กรภาคีที่ทำหน้าที่สร้างความโปร่งใสด้านการลงุทนของประเทศอังกฤษร่วมกับธนาคารโลกได้ตอบรับให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกแล้ว
ทั้งนี้ ซุปเปอร์บอร์ดได้มีมติให้นำโครงการลงทุนของการท่าอากาศยานเฟส 2 เป็นโครงการนำร่องที่จะทำให้การลงทุนมีความโปร่งใส ขณะเดียวกัน ยังมีมติให้เพิ่มโครงการลงทุนส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของรฟม.นอกเหนือจากการลงทุนจัดซื้อรถยนต์เอ็นจีวีของขสมก.ที่จะร่วมทำสัญญาคุณธรรมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใสด้วย โดยการสร้างความโปร่งใสในการลงทุนด้วย 2 แนวทางดังกล่าวจะไม่ทำให้กระบวนกาาลงทุนล่าช้าแต่อย่างใด
นายกุลิศ กล่าวด้วยว่า เพื่อรองรับการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล สคร.อยู่ระหว่างการเร่งรัดให้การบังคับใช้กฎหมายร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชนปีพ.ศ.2556 มีผลบังคับใช้โดยเร็ว ซึ่งขณะนี้ สคร.อยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมายลูกจำนวน 8 ฉบับ ที่จะออกมารองรับ
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสมหมาย ภาษี ได้มอบหมายให้ตั้งคณะทำงานเพื่อทำหน้าที่เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว โดยในเดือนหน้า สคร.จะเปิดให้ 3 ภาคส่วนเข้าแสดงความเห็น คือ กลุ่มของรัฐวิสาหกิจ กลุ่มนักวิชาการ และกลุ่มผู้รับสัมปทาน
"เราจะเร่งให้กฎหมายนี้ มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อรองรับการลงทุนของรัฐบาล สิ่งสำคัญในขณะนี้ คือ การเปิดรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน เพื่อให้ข้อปฏิบัติในกฎหมายนี้ มีความเป็นไปได้ในทุกขั้นตอน"
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย