- Details
- Category: คลัง
- Published: Thursday, 20 February 2020 21:00
- Hits: 3660
กบข. ร่วมมือ จุฬาฯ พัฒนา ‘ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ
(Retirement Readiness Index) สำหรับประเทศไทย’
กบข. เผยร่วมมือกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนา “ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ (Retirement Readiness Index) สำหรับประเทศไทย” ต่อยอดความสำเร็จจากการพัฒนา “ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณสำหรับสมาชิก กบข.” ซึ่งพัฒนาสำเร็จลุล่วงแล้วในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าว่าดัชนีใหม่นี้จะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปีนี้
นายวิทัย รัตนากร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา กบข. ได้ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนา “ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ (Retirement Readiness Index) สำหรับสมาชิก กบข.” ได้สำเร็จ ซึ่งทำให้ กบข. สามารถนำดัชนีดังกล่าว มาเป็นเครื่องมือและบรรทัดฐานในการวัดความพร้อมในการเข้าสู่การเกษียณอายุให้กับสมาชิก กบข. และยังใช้ในการวางแผนพัฒนากลยุทธ์ การสื่อสารกับสมาขิก และสร้างการตระหนักถึงความสำคัญของการออม การวางแผนทางการเงินให้กับสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากความสำเร็จดังกล่าว กบข. และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จึงได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะร่วมมือกันต่อยอดพัฒนา ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณอายุสำหรับประเทศไทย ขึ้นมา
“ดัชนีชี้วัดความพร้อมเพื่อการเกษียณชุดนี้ จะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับสมาชิก กบข. และสังคมไทยโดยรวมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพื่อช่วยสร้างความตระหนักรับรู้ให้กับประชาชนทั่วไป ถึงความสำคัญของการออมและการวางแผนทางด้านการเงินเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเกษียณอายุ นอกจากนั้น ยังจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับทางภาครัฐในการประเมินความพร้อมในการเกษียณอายุของประชาชนทั่วไป ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผน ปรับปรุงแนวทางต่างๆ เพื่อให้ประชาขนคนไทยมีการเกษียณอายุอย่างมีคุณภาพ ซึ่งดัชนีนี้จะครอบคลุมการเกษียณอายุทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และยังเป็นดัชนีที่มุ่งเน้นการประเมินความพร้อมในการเกษียณแบบองค์รวม โดยคำนึงถึงปัจจัยทั้งด้านการเงินและปัจจัยด้านสุขภาพพลานามัยและความเป็นอยู่เข้าไปด้วย โดยคาดว่าจะสามารถเผยแพร่ผลดัชนีได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้” นายวิทัย กล่าว
ด้าน รศ. ดร. วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า เป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่งที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับสถาบันหลักอย่าง กบข. ในการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนคนไทยในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งให้กับสังคมโดยรวมของประเทศ ซึ่งเป็นพันธกิจที่สำคัญอันหนึ่งของคณะฯ และมหาวิทยาลัยที่ต้องการเป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นเสาหลักในการพัฒนาประเทศ และสร้างประโยขน์ให้กับสังคมไทยโดยรวม
ทั้งนี้ การส่งเสริมการออมและบริหารเงินออมเพื่อการเกษียณ รวมถึงการดูแลสุขภาพทางการเงิน (Financial Health) ของสมาชิก ถือเป็นภารกิจสำคัญของ กบข. ภายใต้ยุทธศาสตร์สมาชิกคือศูนย์กลาง หรือ Member Centric โดยในปี 2563 กบข. กำหนดภารกิจแยกตามลักษณะความพร้อมในการออมและบริหารเงินเพื่อการเกษียณของสมาชิกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1) กลุ่มออมเพิ่ม หมายถึงกลุ่มที่มีความพร้อมทางการเงินแต่ยังไม่ได้ใช้บริการออมเพิ่มกับ กบข. และกลุ่มที่มีความจำเป็นควรทยอยออมเพิ่มเพื่อเป้าหมายเงินเกษียณที่เพียงพอ 2) กลุ่มเลือกหรือปรับแผนลงทุน หมายถึงกลุ่มสมาชิกที่ กบข. จะดำเนินการสื่อสารเชิงรุกเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับแผนลงทุนที่ กบข. มีให้บริการ เป้าหมายคือให้สมาชิกเลือกแผนลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และ 3) กลุ่มแก้ปัญหาทางการเงิน หมายถึงสมาชิก กบข. ที่มีรายจ่ายเกินรายได้และมีภาระหนี้สินมีความเสี่ยงสูงที่จะมีเงินเกษียณไม่เพียงพอ โดย กบข. อยู่ระหว่างจัดทำโครงการร่วมกับธนาคารรัฐ และออกมาตรการของ กบข. เพื่อให้ความช่วยเหลือสมาชิกกลุ่มนี้ ทั้งนี้ หากสมาชิกต้องการคำปรึกษา สามารถติดต่อศูนย์ข้อมูลการเงิน กบข. (Financial Assistant Center) ที่พร้อมให้บริการแบบส่วนบุคคล (Personalized) ได้ทาง My GPF App หรือ อีเมล [email protected]
AO2359
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web