WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

คลังลดจีดีพีปีนี้เหลือ 1.7%เ ศรษฐกิจโลกยังแย่ เดือน ส.ค.ส่งออก-นำเข้าติดลบ

   บ้านเมือง : คลังปรับลดเป้าจีดีปี เหลือ 1.7% ตัวเลขเศรษฐกิจไม่สวยเดือนสิงหาคม ส่งออก-นำเข้าติดลบหมด ทำให้รัฐบาลต้องเร่งอัดฉีดเงินเข้าระบบ แจงปรับขึ้นแวตทำให้รายได้รัฐเพิ่ม ไม่กระทบคนมีรายได้น้อย ส่วนคนชั้นกลางสามารถรับภาระเพิ่มได้ แต่จะปรับหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล

    นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้จะเติบโตได้ 1.7% จากคาดการณ์เดิมที่ 2% ทั้งนี้ เป็นผลมาจากภาคการส่งออกที่เติบโตได้ต่ำกว่าคาดการณ์ โดยเฉพาะตัวเลขส่งออกเดือน ส.ค.ที่ติดลบสูงถึง 7% ขณะที่นำเข้าติดลบ 12% เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่อย่างที่คาดหวังไว้

   ทั้งนี้ รัฐบาลได้พยายามเร่งออกมาตรการมาดูแลเศรษฐกิจ ทั้งการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานกว่า 3.24 แสนล้านบาท และการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้กับโครงการลงทุนต่างๆ 18 โครงการ คิดเป็นวงเงินลงทุนราว 3-4 แสนล้านบาท รวมถึงให้มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 58 (ต.ค.-ธ.ค.57) ให้ได้อย่างน้อย 50% จากเป้าหมาย โดยเฉพาะงบการจัดอบรมสัมมนาที่จะเข้าไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกๆ ภาคอุตสาหกรรมให้เกิดการหมุนเวียนมากขึ้น

   นอกจากนี้ ยังเร่งรัดให้จัดทำ 5 พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแถบชายแดนให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ได้แก่ แม่สอด มุกดาหาร อรัญประเทศ คลองใหญ่ และคลองลึก ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในส่วนนี้จะมีการพิจารณาให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ที่เข้าไปลงทุนในพื้นที่ เช่น การให้สิทธิพิเศษทางภาษี 5-10 ปี หรือการลดอัตราภาษีรายได้ ไปจนถึงการเว้นค่าธรรมเนียมในการขออนุญาตตั้งโรงงานอุตสาหกรรม การสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ และสนับสนุนด้านโลจิสติกส์

   นายรังสรรค์ กล่าวต่อว่า จากการศึกษาของกระทรวงการคลังต่อกรณีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) พบว่าหากมีการปรับอัตราภาษีขึ้นอีก 1% จะทำให้มีรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้น 5-6 หมื่นล้านบาท หากปรับขึ้นอีก 2% จะมีรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาท และหากปรับขึ้นอีก 3% จะมีรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้น 1.5-1.6 แสนล้านบาท

   แต่ทั้งนี้จะมีการปรับเพิ่มขึ้นจากอัตราปัจจุบันที่ 7% เป็นเท่าใดนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล อย่างไรก็ดี เชื่อว่าการปรับขึ้น VAT จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีรายได้น้อย ขณะที่ผู้ที่มีรายได้ในระดับกลางขึ้นไปสามารถรับภาระในส่วนที่เพิ่มขึ้นได้ ขณะที่ผู้ที่มีรายได้ในระดับกลางขึ้นไปสามารถรับภาระในส่วนที่เพิ่มขึ้นได้

    พร้อมกันนี้ กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงภาษีอื่นๆ ให้มีความเหมาะสมและเป็นสากลมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาส่วนใหญ่มีความหละหลวม ประสิทธิภาพการจัดเก็บยังไม่รัดกุม และยังมีช่องโหว่ทางภาษีอยู่มาก จนเป็นผลให้เกิดการเลี่ยงหรือโกงภาษี โดยมาตรการภาษีที่รัฐบาลยืนยันจะดำเนินการอย่างแน่นอน ได้แก่ ภาษีมรดก ขณะนี้ร่างกฎหมายแล้วเสร็จกว่า 80-90% หลักเกณฑ์สำคัญคือเก็บภาษีที่อัตรา 10% เท่านั้น ไม่มีอัตราก้าวหน้า และสำหรับผู้รับมรดกตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป

    ส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น มีการกำหนดเพดานการจัดเก็บอยู่ที่ไม่เกิน 4% ขึ้นอยู่กับที่ดินและการใช้งาน พร้อมทั้งเร่งให้กรมธนารักษ์ดำเนินการประเมินราคาที่ดินให้ครบ 30 ล้านแปลงโดยเร็ว โดยอาจต้องมีการจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาช่วยดำเนินการในส่วนนี้

    นายรังสรรค์ กล่าวอีกว่า สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ผ่านมามีการปรับขั้นอัตราให้ถี่ขึ้น เพื่อช่วยให้คนที่มีรายได้ไม่มากนักเสียภาษีต่ำลง ขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะให้คงอัตรา 20% ต่ออีก 1 ปี หรือปรับเพิ่มขึ้นไปที่ 30% เหมือนเดิม ซึ่งขณะนี้นโยบายยังไม่ชัดเจน อีกทั้งต้องมีการศึกษาเปรียบเทียบกับต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะประเทศสมาชิกอาเซียน แต่ส่วนตัวมองว่าอัตราภาษีนิติบุคคลของไทยอยู่ในระดับต่ำที่สามารถดึงดูดความน่าสนใจในการลงทุนแล้ว

   "กระทรวงการคลังยังตั้งเป้าจัดทำงบประมาณสมดุลให้ได้ภายในปี 60-61 ดังนั้นแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จะต้องอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลัง ปัจจุบันฐานะการคลังยังแข็งแกร่ง มีเงินคงคลังสูงถึง 4 แสนล้านบาท คงต้องดูในส่วนนี้อีกทีว่าจะบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดประโยชน์มากขึ้น จากปัจจุบันที่นำไปฝากไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ไม่ได้รับดอกเบี้ย รวมถึงต้องไปดูเงินนอกงบประมาณจาก 115 กองทุน และเงินรายได้ของมูลนิธิที่หลบซ่อนตามกระทรวงต่างๆ อีกจำนวนมากว่าทำไมไม่ส่งเข้าคลัง ซึ่งส่วนนี้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กำลังตามอยู่" นายรังสรรค์ กล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!