- Details
- Category: คลัง
- Published: Monday, 18 November 2019 15:40
- Hits: 3275
กระทรวงการคลังติดตามประเมินเศรษฐกิจใกล้ชิด หลังสภาพัฒน์ประกาศตัวเลขล่าสุด และเร่งขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มในไตรมาส 3 ให้ส่งผลเต็มที่ในไตรมาส 4 พร้อมพิจารณามาตรการดูแลเศรษฐกิจที่เหมาะสมต่อไป
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในวันนี้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้แถลงข่าวเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 2562 ว่าขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี ดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 2 ปี 2562 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 โดยภาคการส่งออกยังคงได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าที่ยืดเยื้อและสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำหดตัวลงนอกจากนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีบทบาทสูงในเศรษฐกิจไทยก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและการส่งออกที่ชะลอลงเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี ในส่วนของการลงทุนใหม่จากการประกอบกิจการใหม่และการขยายกิจการของโรงงานเดิมพบว่า ในช่วง 1 มกราคม – 12 พฤศจิกายน 2562 มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นในกิจการโรงงาน 431,216 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 36.3
สะท้อนว่า ภาพรวมการผลิตในอนาคตมีแนวโน้มขยายตัว และแม้ว่าในช่วง 1 มกราคม – 12 พฤศจิกายน 2562 จะมีกิจการโรงงานจำนวน 1,391 โรงงานที่ยื่นขอปิดกิจการ แต่การขอยื่นประกอบกิจการโรงงานใหม่มีถึง 2,889 โรงงาน มากกว่าปิดกิจการร้อยละ 107 และโรงงานที่เปิดอยู่เดิมก็ยังมีการขยายกิจการเพิ่มเติมอีกจำนวน 928 โรงงาน ขณะเดียวกัน ในส่วนของแรงงานถึงแม้ว่ามีการเลิกจ้างงานจากการปิดกิจการจำนวน 35,533 คน แต่มีการจ้างงานจากการประกอบกิจการใหม่ 84,033 คน และมีการจ้างงานเพิ่มจากการขยายโรงงานอีกจำนวน 84,704 คน
สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของไทยยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ายังประเทศไทยในไตรมาส 3 ปี 2562 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7.2 เร่งขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2562 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.4 ในด้านการบริโภคภาคเอกชน รายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ (ที่หักรายได้พิเศษ) ในไตรมาส 3 ปี 2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 สูงขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2562 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ซึ่งสะท้อนการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวได้
สำหรับ เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป คาดว่าจะยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกต่อเนื่องในไตรมาส 4 ปี 2562 และปี 2563 ขณะเดียวกันก็มีเครื่องชี้ที่สะท้อนแนวโน้มในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทย อาทิ รายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ (ที่หักรายได้พิเศษ) ล่าสุด ในเดือนตุลาคม 2562 ที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 6.0 ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.9
ทั้งนี้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้หน่วยงานของกระทรวงการคลังติดตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดและเร่งดำเนินการขับเคลื่อนชุดมาตรการ ด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประกอบด้วย มาตรการ “ชิมช้อปใช้เฟส 1” มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการบรรเทาค่าครองชีพสำหรับสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง มาตรการพักหนี้กองทุนหมู่บ้านของ ธ.ก.ส. และมาตรการกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ซึ่งประกอบด้วย มาตรการ “ชิมช้อปใช้เฟส 2” และมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ และล่าสุดมาตรการ “ชิมช้อปใช้เฟส 3” เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 รวมถึงการเร่งรัดการเบิกจ่ายการลงทุนของรัฐวิสาหกิจซึ่งคาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 100,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 2562 นี้ เพื่อให้มาตรการต่าง ๆ ที่เริ่มในไตรมาส 3 สามารถส่งผลได้อย่างเต็มที่ในไตรมาส 4 โดยกระทรวงการคลังจะประเมินสถานการณ์และแนวโน้มของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะพิจารณามาตรการดูแลเศรษฐกิจที่เหมาะสมต่อไป
สภาพัฒน์ฯ เผยจีดีพี Q3/62 โต 2.4% หั่นเป้าทั้งปีเหลือ 2.6%
สภาพัฒน์ฯ เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2562 ขยายตัว 2.4% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวได้ 2.3% ด้านทั้งปี 62 หั่นเป้าเหลือโต 2.6% ต่ำสุดในรอบ 5 ปี เหตุผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้ากดเป้าส่งออกติดลบ 2% เตรียมเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม หวังปีหน้าศก.โต 2.7-3.7%
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ของปี 2562 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2562-2563 ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2562 ขยายตัว 2.4% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 2.3% รวม 9 เดือนเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 2.5%
ขณะที่ทั้งปี สศช. ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ลงเหลือโต 2.6% จากเดิมคาดขยายตัว 3% ซึ่งถือเป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2557 ที่ขยายตัวได้ 1% และในปีหน้าคาดว่าจะขยายตัว 2.7-3.7%
สำหรับ ภาคการส่งออกในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาขยายตัว 0% ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ติดลบ 4.2% และทั้งปีคาดว่าส่งออกจะติดลบ 2% จากเดิมคาดติดลบ 1.2% และปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 2.3%
ด้านการนำเข้าในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาติดลบ 6.8% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ติดลบ 3.4% และทั้งปีคาดว่าจะติดลบ 3.6% และปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาส 3/2562 อยู่ที่ 0.6% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 1.1% ขณะที่ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 0.8% และปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 0.5-1.5%
นายทศพร กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวดีของการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ 4.2% โดยได้รับปัจจัยหนุนจากอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ และอัตราว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตร และการดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ เป็นต้น และการเร่งตัวขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน
ขณะที่ การใช้จ่ายภาครัฐ ขยายตัว 1.8% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 1.1% การลงทุนรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.8% จากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 1.9% การลงทุนเอกชนขยายตัวได้ 2.4% จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 2.1% สำหรับการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.7% จากไตรมาสก่อนที่ 1.4% ในขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าลดลง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และมาตรการกีดกันทางการค้า รวมถึงปัจจัยชั่วคราวต่างๆ เช่น รถยนต์เปลี่ยนรุ่นใหม่ในช่วงปลายปี โรงกลั่นบางแห่งหยุดซ่อม และปรับมาตรฐานน้ำมันใหม่
สำหรับ แนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาส 4/2562 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ดี ส่งออกเริ่มกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งหากจะทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีขยายตัวได้ 2.6% นั้น ในช่วงไตรมาส 4 เศรษฐกิจไทยจะต้องขยายตัวได้ไมต่ำกว่า 2.8% และจำเป็นต้องมีมาตรการอื่นๆเพิ่มเติม เนื่องจากปัจจัยต่างๆยังวางใจไม่ได้
นายทศพร กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7-3.7% โดยมีค่ากลางที่ 3.2% นั้น จะมีแรงสนับสนุนจากแนวโน้มการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศทั้งด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนภาครัฐและเอกชน การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกภายใต้แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆของเศรษฐกิจโลก และการปรับตัวของภาคการส่งออกต่กมาตรการกีดกันทางการค้า
นอจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจาก การดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ และการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวได้ 2.3% การบริโภคภาคเอกชนอยู่ที่ 3.7% และการลงทุนรวมคาดว่าจะขยายตัวได้ 4.8%
ขณะที่สถานการณ์ค่าเงินบาทในปีหน้าคาดว่าจะอยู่ในช่วง 30.5-31.5 บาทต่อดอลลาร์ ใกล้เคียงกับปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มจะเผชิญกับแรงกดดันต่อการแข็งค่าต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ แต่โน้มโน้มการฟื้นตัวอย่างช้าๆของเศรษฐกิจโลกในปี 2563
รวมทั้งแนวโน้มการคงนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการดำเนินมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกมากขึ้น จะช่วยลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทในปีหน้าได้
ด้านราคาน้ำมันดิบดูไบ ในปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 57-67 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ใกล้เคียงกับปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 63.2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยคาดว่าราคาน้ำมันจะยังมีแรงกดดันเนื่องจาก แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายสำคัญของโลก คือ สหรัฐ จีน และญี่ปุ่น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการน้ำมันโดยรวม
รวมถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐ ที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพของแท่นขุดเจาะน้ำมัน และมาตรการลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ หรือ กำมะถันจากน้ำมัน เพื่อลดมลพิษทางอากาศขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2563 คาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการน้ำมันดิบดูไบซึ่งมีกำมะถันสูงเมื่อเทียบกับแหล่งอื่นๆมีแนวโน้มลดลง
สำหรับ ภาคการท่องเที่ยวในปี 2563 คาดว่ารายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มอยู่ที่ 2.2 ล้านล้านบาท และมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 41.8 ล้านคน จากปีนี้คาดว่าจะมีรายรับจากนักท่องเที่ยว 2.04 ล้านล้านบาท และมีนักท่องเที่ยว 39.8 ล้านคน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมและเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียและอินเดีย ซึ่งส่งผลให้นักท่องเที่ยวยังคงเดินทางมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การขยายเวลามาตรการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง ออกไปถึงเมษายน 2563 เป็นต้น
นายทศพร กล่าวว่า สำหรับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ ถึงปี 2563 นั้น ควรให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการส่งออกให้มูลค่าการส่งออกกลับมาขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3% โดยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า การให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบ การปฏิบัติตามกรอบกติกาการค้าโลก การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า
ขณะเดียวกัน ยังต้องเจาะตลาดและหาตลาดใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้สามารถขยายตัวและสนับสนุนเศรษฐกิจในภาพรวมได้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูง และกระจายตลาดนักท่องเที่ยวให้มีความสมดุลมากขึ้น การรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว และการอำนวยความสะดวกและลดปัญหาแออัดของนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ยังต้องรักษาแรงส่งการขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมโครงการให้มีความพร้อมต่อการเบิกจ่าย เมื่องบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 2563 มีผลบังคับใช้ โดยเร่งรัดการเบิกจ่ายให้ไม่ต่ำกว่า 92.3% การเร่งรัดดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการเบิกจ่ายจากโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง
สุดท้าย คือ การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยการขับเคลื่อนการส่งออก การผลักดันโครงการลงทุนที่ขอรับและได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการลงทุนจริงโดยเร็ว การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มการใช้กำลังการผลิตและย้ายฐานการผลิตมายังไทย การขับเคลื่อนโครงการลงทุนของภาครัฐ และการเตรียมความพร้อมด้านแรงงานและคุณภาพแรงงาน เป็นต้น
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย