WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

คลังเดินหน้ารีดภาษีที่ดิน-มรดก

   บ้านเมือง : นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการปฏิรูปภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีมรดก ว่า ขณะนี้ถึงเวลาที่จะปฏิรูปภาษีเพื่อนำรายได้มาชดเชยรายได้จากภาษีที่ลดลง โดยปีงบประมาณ 2557 การจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายถึง 2 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงจำเป็นที่รัฐบาลชุดใหม่จะต้องจัดเก็บภาษีตัวใหม่ๆ เพิ่มเติม เพื่อเป็นการหารายได้ให้รัฐในอนาคต

   โดยเฉพาะภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ควรนำมาใช้แทนภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีบำรุงท้องที่ ที่ปัจจุบันสามารถจัดเก็บได้เพียง 2.4 หมื่นล้านบาท และเกิดการทุจริตหลบเลี่ยงภาษี เพราะรู้กันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าของที่ดิน นอกจากนี้ภาษีทั้ง 2 ตัวยังมีข้อยกเว้นมาก โดยอำนาจในการจัดเก็บเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งรายได้ที่เก็บได้ตรงนี้ไม่สอดคล้องกับงบประมาณที่ต้องจัดสรรให้ท้องถิ่นปีละหลายแสนล้านบาท

   "เมื่อได้รับนโยบายมาแล้วกระทรวงการคลังคงต้องเร่งดำเนินการเพื่อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปัจจุบันภาษีที่ดินมีการจัดเก็บอยู่แล้ว แต่การจัดเก็บยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมากนัก โดยเฉพาะการใช้ราคาประเมินเมื่อ 30 กว่าปีก่อนเป็นฐานการจัดเก็บ ทำให้มูลค่าการจัดเก็บต่ำมาก ขณะนี้กรมธนารักษ์กำลังจัดราคาประเมินที่ดินเป็นรายแปลง เพื่อนำมาใช้เป็นฐานของภาษี ทำได้เพียง 7 ล้านแปลง จากที่ดินทั่วประเทศ 30 ล้านแปลง เพื่อให้สอดคล้องกับภาษีที่ดินที่จะประกาศใช้ โดยมีแนวคิดที่จะจ้างเอกชนให้มาประเมินราคาที่ดินรายแปลงทั้งประเทศ รวมถึงอาจจะใช้การสำรวจพื้นที่ทางภูมิศาสตร์จากดาวเทียม หรือจิสด้ามาช่วยประเมินราคาที่ดินรายแปลง"

   นายรังสรรค์ กล่าวว่า อัตราเพดานจัดเก็บที่จะกระทรวงการคลังศึกษาไว้นั้น ประกอบด้วย ที่ดินเกษตร อัตรา 0.5% บ้านอยู่อาศัย อัตรา 1% ส่วนที่ดินอื่นๆ อาทิ เพื่อการพาณิชย์ และที่ดินรกร้างว่างเปล่า อัตรา 4% ตรงนี้เป็นแค่เพดาน จะมีออกพระราชกฤษฎีกาประกาศอัตราที่จะจัดเก็บจริงอีกครั้งหลังกฎหมายประกาศใช้ ในระยะแรกการจัดเก็บนั้นจะต่ำมากเพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน

   ส่วนการจัดเก็บภาษีมรดกนั้นยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจาณาของกฤษฎีกา พยายามเสนอให้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้ ยืนยันได้ว่าการจัดเก็บเป็นการจัดเก็บจากผู้รับในอัตราคงที่อัตราเดียว ไม่เก็บเป็นขั้นบันได และจัดเก็บจากทรัพย์สินที่จดทะเบียนเท่านั้น โดยมีการยกเว้นสำหรับมรดกไม่เกิน 50 ล้านบาท รวมถึงการยกเว้นอื่นๆ ซึ่งกฤษฎีกากำลังพิจารณา

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!