- Details
- Category: คลัง
- Published: Sunday, 21 September 2014 19:22
- Hits: 3214
ชง ครม. 9 โครงการจ้างงาน สศค.เกาะติดรัฐอัดเงินช่วยคนจน-เกษตรกร 1 แสน ล.
บ้านเมือง : นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ได้เสนอโครงการจ้างงงาน ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงมาตรการเกี่ยวกับการจ้างงาน 9 โครงการที่ สศค.ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว หลังจากนี้อยู่ที่ฝ่ายนโยบายจะดำเนินการอย่างไร คาดว่าจะมีการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในเร็วๆ นี้ โดยเงินที่จะนำมาใช้ใน 9 โครงการนี้ใช้เงินกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท แม้จะไม่มากแต่มีผลดีคือทำให้คนที่ว่างงาน คนในชนบทมีงานทำมากขึ้น และเมื่อรวมกับโครงการอื่นๆ ที่รัฐบาลกำลังจะทำทั้งโครงการช่วยเหลือคนจน และเกษตรกรที่นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมจะใช้เงินกว่า 1 แสนล้านบาท มาใช้ซึ่งน่าจะช่วยดูแลเศรษฐกิจไตรมาส 4 ฟื้นตัวขึ้นได้ และ สศค.คาดหวังว่าเศรษฐกิจปีนี้จะสามารถโต 2%
"ขณะนี้คงต้องติดตามการส่งออกอย่างใกล้ชิด โดยหากจะให้โตได้ 2% ส่งออกต้องโตให้ได้ตามเป้าหมายที่ สศค.ประเมินไว้คือ 1.5% แต่ล่าสุดจากที่ติดตามตัวเลขมีแนวโน้มลดต่ำกว่าเป้าหมาย หากเม็ดเงินที่รัฐบาลจะนำมาใช้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจทันที 1 ตุลาคมนั้น น่าจะมาช่วยชดเชยการส่งออกที่จะไม่ถึงเป้าหมายได้" นายกฤษฎา กล่าว
ทั้งนี้ โครงการของกระทรวงการคลังที่เสนอเกี่ยวกับสร้างฐานข้อมูลการคลังท้องถิ่น ซึ่งจะจ้างนักศึกษาหรือคนว่างงานมาช่วยเก็บข้อมูลของการคลังท้องถิ่น จากตรงนี้ไม่เคยมีข้อมูลตรงนี้เลย ซึ่งการไปเก็บข้อมูลจะมีแบบฟอร์มที่จะให้กลุ่มคนเหล่านั้นไปเก็บข้อมูลจากคลังท้องถิ่น 7,000 แห่ง นำมารายงานต่อคลังจังหวัด ซึ่งข้อมูลที่ได้มานั้นจะมีประโยชน์มากต่อการนำมาวางนโยบายด้านการเงินการคลัง และการบริหารท้องถิ่นของรัฐบาล
ส่วนแนวคิดของนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่จะให้โอนเงินให้คนจนหรือภาษีคนจนนั้น ถ้านำมาใช้จริงต้องใช้เวลาในการวางระบบ รวมถึงต้องหารือกับกรมสรรพากรที่จะให้เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำระบบภาษี เพื่อรองรับกรณีดังกล่าว คงไม่สามารถนำมาใช้ได้ในช่วง 1-2 เดือนนี้
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ถึงกรณีรัฐบาลจะมีโครงการช่วยเหลือคนจน และเกษตรกรที่โดยใช้เงินกว่า 1 แสนล้านบาท ว่า แหล่งเงินที่จะนำมาใช้นั้น นายสมหมาย คงมีแหล่งเงินในใจแล้ว ซึ่งหากให้ประเมินเงินที่สามารถนำมาใช้ได้ทันทีน่าจะมาจากงบประมาณในปี 2558 ที่ตัดลดงบจากหน่วยงานต่างๆ ไปได้ 1.6 หมื่นล้าบาท จากงบไทยเข้มแข็ง 1.5 หมื่นล้าบาท และจากงบประมาณปี 2557 ที่เหลืออยู่และยังไม่มีการก่อหนี้ผูกพันอีก 2 หมื่นล้านบาท
ส่วนอีก 5 หมื่นล้านบาท สามารถหานำมาจากภาษีหรือรายได้รัฐอื่นๆ รวมถึงนำมาจากการบริหารหนี้ และเงินจากภาคเอกชนที่จะมาช่วยหรือร่วมมือกับรัฐบาลในบางโครงการ โดยมีแนวคิดว่าจะนำสภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาใช้ในโครงการเกี่ยวกับการลดต้นทุนให้เกษตรกร โดยในวันที่ 29 กันยายน ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ที่มีนายสมหมาย เป็นประธานครั้งแรก ซึ่งจะมีการหารือในเรื่องนี้ด้วย
นายวิเชษฐ์ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลัง และ บสย.อยู่ระหว่างหารือเรื่องการเพิ่มระดับการค้ำประกันจาก 18% เป็น 50% เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตามข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งที่ผ่านมาได้เชิญผู้แทนสถาบันการเงินมาให้ความเห็นแล้ว และเบื้องต้นเห็นว่าระดับการรับค้ำประกันอาจไม่ต้องสูงถึง 50% โดยขอให้ขึ้นอยู่กับกลุ่มลูกค้าและเวลาที่ค้ำประกัน ซึ่งทางกระทรวงการคลังกำลังทำข้อสรุปเรื่องระดับการค้ำประกันและรูปแบบเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป คาดว่ากลุ่มเป้าหมายจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเป็นหลัก
"ขณะนี้ทางบรรษัทประกันสินเชื่อระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี) ได้เจรจาผ่านสมาคมธนาคารไทย เพื่อทำข้อตกลงกับธนาคารพาณิชย์เป็นรายสถาบันในการรับประกันความเสียหายจากการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ส่วนที่เกินจากระดับ 20- 50% เป็นการค้ำประกันเพิ่มจากที่ บสย.รับค้ำประกันอยู่แล้ว โดยไอเอฟซีจะมีการคิดค่าธรรมเนียมส่วนที่เพิ่มคาดว่าไม่น่าจะเกิน 1% แล้วแต่ข้อตกลงของแต่ละสถาบัน" นายวิเชษฐ์ กล่าว
นายวิเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า ยอดค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (2557) วงเงินรวม 3.68 หมื่นล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย 50% เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวลง และผลกระทบทางการเมืองในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่น รวมถึงสถาบันการเงินต่างๆ เข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อมากยิ่งขึ้น
สำหรับ สาขาธุรกิจที่มีการค้ำประกันสูงสุด ได้แก่ ธุรกิจบริการกว่า 7.28 พันล้านบาท การผลิตและการค้าอื่นๆ 4.45 พันล้านบาท เหล็ก ผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักร 3.76 พันล้านบาท เกษตรกรรม 3.34 พันล้านบาท อาหารและเครื่องดื่ม 3.37 พันล้านบาท ทั้งนี้ บสย.ตั้งเป้าว่า ยอดค้ำประกันที่เหลือของปีนี้จะมีวงเงินรวมประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท และทำให้ยอดค้ำตลอดปีนี้มูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท