- Details
- Category: คลัง
- Published: Sunday, 18 May 2014 23:07
- Hits: 3676
สศค.'จี้สำนักงบฯรีบไปหารือ'กกต.'อนุมัติจัดทำงบปี 58 ชี้ล่าช้าศก.เสียหาย
แนวหน้า : นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ต้องการให้ สำนักงบประมาณ ทำหนังสือไปยัง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อถามถึงความชัดเจน และอนุมัติให้รัฐบาลรักษาการสามารถจัดทำงบประมาณปี 2558 ได้หรือไม่ เพื่อให้มีเม็ดเงินจากส่วนราชการมาใช้อัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อ ทำให้ภาครัฐไม่สามารถออกมาตรการพิเศษมากระตุ้นเศรษฐกิจได้ และไม่มีงบลงทุนจากภาครัฐในโครงการใหม่ ส่งผลต่อการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว
“ที่ผ่านมา เคยถามฝ่ายกฎหมายของ สศค.ซึ่งให้ความเห็นเบื้องต้นว่า ไม่สามารถทำได้ แต่มองว่าเจ้าของเรื่องอย่าง สำนักงบประมาณ ควรลองเสี่ยงทำเรื่องหารือกับ กกต. ก่อน ในช่วงยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ เพราะเชื่อว่ากฎหมายสามารถตีความได้หลายด้าน หากทำงบประมาณได้ ก็จะช่วยให้ใจชื้นได้ว่าเศรษฐกิจจะไม่แย่กว่าที่คาด”
นายสมชัย กล่าวว่า หาก กกต.อนุมัติจะจัดทำงบประมาณปี 2558 ในหลักการที่ยังคงเป็นการทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่องอยู่ ส่วนจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2557 ที่ขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท ส่วนจะมากกว่านั้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า จะบรรจุโครงการลงทุนตามแผน 2 ล้านล้านบาท เช่น รถไฟรางคู่ รวมเข้าไปด้วยหรือไม่
ส่วนโครงการที่มีความอ่อนไหวต่อสังคม เช่น โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ก็อาจจะต้องพักไว้ก่อน ไม่ได้มาทำเร่งด่วนในปี 2558 อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการทำงบประมาณขาดดุลคงไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมาก เนื่องจากเหลือเวลาใช้งบประมาณปี 2558 ไม่มากนัก
ก่อนหน้านี้ สำนักงบประมาณ ออกมาระบุว่ากรอบการจัดทำงบประมาณปี 2558 คืบหน้าแล้วกว่า 70% โดยส่วนที่ยังไม่พิจารณานั้น จะเป็นงบประมาณรายจ่ายตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ซึ่งกำหนดกรอบงบประมาณแบบขาดดุลไม่เกิน 2 แสนล้านบาท แต่ในกรณีที่สามารถจัดเก็บรายได้มากขึ้น ก็สามารถตั้งขาดดุลเพิ่มเติมได้อีก 1 แสนล้านบาท ทั้งนี้หากสามารถเลือกตั้งภายในเดือนกรกฏาคม 2557 ก็จะสามารถเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณาได้ทันที สามารถนำ มาใช้ได้ ภายในวันที่ 30 มีนาคมเป็นต้นไป หรือเป็นการใช้งบประมาณล่าช้ากว่า 6 เดือน
นายสุวิชญ โรจนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กล่าวว่า สบน.เตรียมใช้ กองทุนบริหารหนี้สาธารณะ ภายใต้ พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ เพื่อกู้เงินมาบริหารหนี้ของประเทศไม่ให้เกิดปัญหาชำระหนี้ไม่ได้ ในกรณีที่งบประมาณปี 2558 เกิดความล่าช้าเป็นเวลานาน
ปัจจุบันการบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2557 จะไม่มีปัญหา เพราะแผนการบริหารหนี้ทั้งการกู้เงินใหม่มาลงทุน และการกู้เงินมาใช้หนี้เก่า ได้มีการอนุมัติไว้ตั้งแต่รัฐบาลยังไม่ยุบสภา แล้ว ทำให้การบริหารหนี้จากวันนี้ถึง 30 กันยายน 2557 ไม่มีปัญหา
รายได้รัฐ 7 เดือนแรกต่ำกว่าเป้า 3.23 หมื่นล. ชี้การเมืองทำชาวบ้านผวา
แนวหน้า : นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยถึงรายได้รัฐบาลในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 (ต.ค. 2556 – เม.ย.2557) ว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิทั้งสิ้น 1,075,378 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 32,316 ล้านบาท หรือ 2.9% เป็นผลมาจากปัจจัยทางการเมืองยังคงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการใช้จ่ายในประเทศ บวกกับภาคการค้าระหว่างประเทศที่ยังคงหดตัว จนส่งผลกระทบทำให้ภาษีที่จัดเก็บจากฐานการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าและอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งเป็นผลจากการหดตัวของมูลค่าการนำเข้า
ขณะที่ ภาษีที่จัดเก็บจากฐานการอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะภาษีสรรพสามิตรถยนต์และภาษีน้ำมันก็จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย สาเหตุมาจากอุปสงค์รถยนต์ในประเทศที่หดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการขยายระยะเวลาปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน อย่างไรก็ตาม การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นที่สูงกว่าประมาณการยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา
“แม้ว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองจะส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย และคาดว่า ตลอดทั้งปีงบประมาณ อาจจะไม่สามารถจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังได้กำชับให้หน่วยงานจัดเก็บรายได้เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บอย่างต่อเนื่อง” นายสมชัย กล่าว
ปลัดฯ-กรมบัญชีกลางโดนครหาคลังส่อผิดกฎหมายจ่ายงบหมื่นล.ผูกพันรัฐบาลใหม่
แนวหน้า : แหล่งข่าวจากระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2557 นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้เห็นชอบให้สำนักงานศาลยุติธรรมหักเงินค่าธรรมเนียมศาลเพื่อนำไปใช้จ่ายเสริมเงินงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2557-2561 เพื่อสนับสนุนการพัฒนาองค์กร รองรับภารกิจในการอำนวยความยุติธรรมในด้านต่างๆ รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 9,895,851,383 บาท ทั้งยังอนุญาตให้หน่วยงานจัดเก็บรายได้หักเงินรายได้ที่จัดเก็บเพื่อไปใช้จ่ายเสริมงบประมาณรายจ่ายประจำปี แทนที่จะส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งเป็นการใช้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามมาตรา 4 วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
“แม้ว่า ศาลยุติธรรม ควรมีแหล่งเงินเพื่อไว้ใช้จ่ายเสริมงบประมาณประจำปีที่ได้รับจัดสรรไม่เพียงพอ เพื่อรองรับภารกิจอำนวยความยุติธรรมที่นับวันจะมีมากขึ้น แต่การที่ปลัดกระทรวงการคลัง รีบร้อนเห็นชอบการใช้จ่ายเพิ่มเติมของสำนักงานศาลยุติธรรมตามการเสนอของนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลางย่อมเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในภาวะที่ประเทศอยู่ในช่วงการยุบสภา”แหล่งข่าวกล่าว
ดังนั้น ถือได้ว่าการดำเนินการดังกล่าว อาจสุ่มเสี่ยงกับการผิดกฎหมายและผิดหลักการบริหารบ้านเมืองที่ดีอย่างน้อย 2 ประการ 1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550) มาตรา 181 ระบุว่า คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่รักษาการอยู่จะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็นภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด โดยมาตรา 181 (3) ระบุเงื่อนไขว่า “ไม่กระทำการอันเป็นผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุมต่อไป” ดังนั้น การอนุญาตให้หักรายได้ค่าธรรมเนียมระหว่างปี 2557-2561 เป็นจำนวนสูงถึงเกือบ 10,000 ล้านบาท ย่อมเป็นการสร้างภาระผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่อย่างแน่นอน แม้จะไม่เป็นการอนุมัติจากงบประมาณแผ่นดิน แต่เป็นการทำให้รายได้ที่ควรจะส่งเป็นรายได้แผ่นดินสูญเสียไปเท่ากับวงเงินที่อนุญาตดังกล่าว
และประการที่ 2. การใช้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องเป็นไปตามคำสั่งมอบอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งคำสั่งดังกล่าว รัฐมนตรีมอบอำนาจการอนุญาตตามมาตรา 4 วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้กับรองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน ซึ่งหากรองปลัดฯ ไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ รองปลัดฯ คนถัดไปก็จะทำหน้าที่แทน ดังนั้น การรีบร้อนเสนอปลัดกระทรวงการคลังเห็นชอบอย่างเร่งด่วนในระหว่างวันที่รองปลัดฯ ที่รับผิดชอบไม่อยู่ จึงเป็นการกระทำที่ไม่สมควรและอาจผิดหลักการการบริหารราชการแผ่นดินอีกด้วย
คลังตั้งแท่นรีดภาษีเพิ่มอุดต่ำเป้า
ไทยโพสต์ * คลังตั้งแท่นเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บเต็มกำลัง รับรายได้ต่ำเป้า 1 แสนล้านบาท แต่ไม่กระทบการเบิกจ่ายของประเทศ คาดแนวโน้มจัดเก็บภาษีปีงบ 58 กระฉูดสูงกว่า 2.27 ล้านล้านบาทแน่นอน
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ของ สศค.ติดตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ และภายนอกประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศจีนที่จะมีนโยบายให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น และอาจจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น ทำให้การเก็บรายได้ของประเทศต่ำกว่าเป้าเพิ่มขึ้น
สำหรับ การเพิ่มประสิทธิ ภาพการเก็บรายได้ ขณะนี้กรม ภาษีทั้ง 3 กรม คือ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ได้ดำเนินการอยู่ แต่ยอมรับว่า เป็นเรื่องยาก เพราะในช่วงเศรษฐ กิจผู้เสียภาษีทุกคนก็ลำบาก การไปเก็บภาษีเพิ่มเติมจะเป็นการซ้ำเติมให้ผู้เสียภาษีมากขึ้น
ทั้งนี้ ในส่วนของการเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2557 ที่ สศค.คาดว่าจะต่ำกว่าเป้า 1 แสนล้านบาท จากเป้าตามเอกสารงบประมาณ 2.27 ล้านล้านบาท จะไม่กระทบกับการเบิกจ่ายของประเทศ เพราะการใช้จ่าย ของประเทศทั้งหมดอยู่ที่ 2.52 ล้านล้านบาท เมื่อคิดว่าเบิกจ่ายได้เต็มที่เหมือนทุกปีที่ผ่านอยู่ที่ 90% เท่ากับว่ามีงบประมาณรายจ่ายอีก 10% หรือ 2.52 แสนล้านบาท ที่เบิกจ่ายไม่ทัน ซึ่งมากกว่ารายได้ที่เก็บได้ต่ำกว่าเป้าอยู่มาก
นอกจากนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 คาดว่าจะได้ต่ำกว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็น รัฐบาลรักษาการ ทำให้โครงการลงทุนหลายโครงการเบิกจ่ายไม่ได้ เป็นสาเหตุทำให้เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวอย่างรุนแรง
นายกฤษฎากล่าวอีกว่า การเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าไม่น่าเป็นห่วง เพราะไม่ได้มาจากปัญหาประสิทธิภาพการจัดเก็บของหน่วยงานต่างๆ แต่มาจากปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นพิเศษทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่ำกว่าเป้าที่คาดไว้
สำหรับ การทำงบประมาณปี 2558 คาดว่าการเก็บรายได้จะได้มากกว่า 2.27 ล้านล้านบาท มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ในงบประมาณปี 2557 เพราะการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ยังขยายตัวได้ดี การเก็บภาษีรายได้บุคคลก็ไม่มีปัญหา จะมีที่ต้องติดตามดูคือ การเก็บภาษีนิติบุคคลที่จะเสียภาษีในปีหน้าเป็นผลประกอบการในปีนี้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ต้องติดตามว่าจะเก็บภาษีได้ตามเป้าหรือไม่.