WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

คลังเผยจัดเก็บรายได้ 11 เดือนปีงบ 57 ต่ำกว่าเป้า 8.2% จากศก.ใน-นอกปท.ชะลอ

    นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 (ต.ค.56-ส.ค.57) จัดเก็บได้ 1,881,624 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 168,352 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.2 เนื่องจากการหดตัวของมูลค่าการนำเข้า ส่งผลให้ภาษีที่จัดเก็บจากฐานการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าและอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผลประกอบการของภาคเอกชนไม่ขยายตัวเท่าที่ประมาณการไว้ ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าเป้าหมาย

    นอกจากนี้ อุปสงค์รถยนต์ในประเทศหดตัวและการขยายระยะเวลาปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซล ทำให้ภาษีสรรพสามิตรถยนต์และภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย อย่างไรก็ดี การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นยังคงสูงกว่าประมาณการ

    "ภาวะเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศที่ชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ได้ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2557 อย่างไรก็ดี คาดว่าเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากระดับความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2558" นายกฤษฎา ระบุ

     ขณะที่ในเดือนส.ค.57 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 203,171 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 36,007 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.1 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.9) โดย 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 40,725 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.1 สำหรับภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 16,484 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.6 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ที่ชะลอตัว ทำให้ผลประกอบการของภาคเอกชนไม่ขยายตัวเท่าที่ประมาณการ ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีจากประมาณการกำไรสุทธิครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (ภ.ง.ด.51) ต่ำกว่าประมาณการเป็นสำคัญ

     ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 10,266 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.5 เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวเป็นสำคัญ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 5,739 ล้านบาท หรือร้อยละ 48.0 เป็นผลจากอุปสงค์รถยนต์ในประเทศที่ชะลอตัวมากกว่าที่ประมาณการไว้ และภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,058 ล้านบาท หรือร้อยละ 27.7 สาเหตุจากการขยายระยะเวลาปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน

     อย่างไรก็ดี ส่วนราชการอื่นจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 1,428 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.4 เนื่องจากรายได้จากค่าภาคหลวงปิโตรเลียมและค่าใบอนุญาตต่างด้าวจัดเก็บได้สูงกว่าที่ประมาณการไว้เป็นสำคัญ

                        อินโฟเควสท์

รัฐจัดเก็บรายได้ 11 เดือน ยังหลุดเป้า 1.68 แสนล้าน

    แนวหน้า : นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 11 เดือนของปีงบประมาณ 2557 (ต.ค.56 – ส.ค.57) ว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้ 1.88 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 1.68 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 8.2% เป็นผลมาจากจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าและอากรขาเข้าได้ต่ำกว่าเป้า รวมถึงการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าเป้าหมาย และการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์และภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาp

    สำหรับ การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษีทั้งกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ในช่วง 11 เดือนปีงบ 57 จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้ารวม 2.23 แสนล้านบาท โดยกรมสรรพากรจัดเก็บรายได้รวมอยู่ที่ 1.53 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 1.29 แสนล้านบาท หรือ 7.8% เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมาย 6.09 หมื่นล้านบาท หรือ 8.5% และภาษีเงินได้นิติบุคคล จัดเก็บต่ำกว่าเป้า 5.55 หมื่นล้านบาท หรือ 10.7% ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้า 1.07 หมื่นล้านบาท หรือ 4% ส่วนภาษีธุรกิจเฉพาะจัดเก็บได้สูงกว่าเป้า 2,708 ล้านบาท หรือ 6% เป็นผลจากธุรกรรมภาคการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงขยายตัวดี

    ด้านกรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 3.52 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 7.23 หมื่นล้านบาท หรือ 17% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 3.98 หมื่นล้านบาท หรือ 31.5% ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2.69 หมื่นล้านบาท หรือ 32% ภาษียาสูบจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.05 หมื่นล้านบาท หรือ 15.9% ส่วนภาษีเบียร์ จัดเก็บสูงกว่าเป้าหมาย 4,917 ล้านบาท หรือ 7.4% และภาษีสุรา จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 2,095 ล้านบาท หรือ 3.6% :เนื่องจากการปรับโครงสร้างภาษีสุราเมื่อ ก.ย. 2556

     ขณะที่กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้รวมที่ 9.85 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2.18 หมื่นล้านบาท หรือ 18.1% เนื่องจากอากรขาเข้าที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2.22 หมื่นล้านบาท หรือ 18.8% เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัว โดยมูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556- กรกฎาคม 2557) หดตัว 11.1% และเงินบาท หดตัว 5.2% โดยสินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานบกและส่วนประกอบ เครื่องจักรและเครื่องใช้กล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และพลาสติก

     สำหรับ รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 1.31 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2.61 หมื่นล้านบาท หรือ 24.7% โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้/เงินปันผลสูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ส่วนหน่วยงานอื่นจัดเก็บรายได้รวม 1.28 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1.75 หมื่นล้านบาท หรือ 15.9% จากรายได้สัมปานปิโตรเลียมสูงกว่าประมาณการ 8,943 ล้านบาท และการส่งคืนรายได้ที่กันไว้เพื่อชดเชยให้แก่ผู้ส่งออกสินค้า จำนวน 5,929 ล้านบาท ขณะที่กรมธนารักษ์ จัดเก็บรายได้รวม 5,254 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 694 ล้านบาท หรือ 15.2% เนื่องจากการจัดเก็บรายได้จากที่ราชพัสดุที่สูงกว่าเป้าหมาย

   "ภาวะเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศที่ชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ได้ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2557 อย่างไรก็ดี คาดว่าเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากระดับความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2558" นายกฤษฎา กล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!