WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

MOFพรชย ฐระเวช copyดัชนี ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thai Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนกันยายน 2561

       “ดัชนี RSI เดือนกันยายน 2561 ชี้แนวโน้มอนาคตเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีทั่วทุกภูมิภาค นำโดยภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคอุตสาหกรรมและการจ้างงาน”

      นายพรชัย ฐีระเวชที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงินในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลังพร้อมด้วยนายศรพล ตุลยะเสถียร ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ประจำเดือนกันยายน 2561ว่า“การประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดล่าสุดจากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ (คาดการณ์6 เดือนข้างหน้า) อยู่ในเกณฑ์ที่ดีทุกภูมิภาคนำโดยภาคเหนือ ภาคตะวันออกและภาคตะวันตกโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคจ้างงานและภาคอุตสาหกรรม เป็นสำคัญ”

        ดัชนี ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนือปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 94.2โดยเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้า จะได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคการจ้างงานและภาคการบริการภายในภูมิภาค เนื่องจากการจ้างงานในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจให้สามารถผลิตสินค้าและบริการได้ตามความต้องการของประชาชนและการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคประชาชนรวมถึงการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดและของประเทศที่จะปรับตัวดีขึ้นนอกจากนี้ พบว่า เป็นช่วงหน้าหนาวเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวและภาครัฐให้การสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยมีการประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมต่างๆของภาครัฐและเอกชนซึ่งจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ดี รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักยังเป็นชาวจีน และชาวไทยและภาครัฐและภาคเอกชนยังจะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องส่วนสำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออก ยังอยู่ในเกณฑ์ดีอยู่ที่ 91.3

       โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก เนื่องจากมีการทำโครงการเพื่อสนับสนุนและพัฒนาการท่องเที่ยวทั้งการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์การท่องเที่ยวเชิงเกษตรการท่องเที่ยวเชิงอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการบริการเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและมีการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวผ่านสื่อต่างๆอย่างต่อเนื่องซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น สำหรับภาคอุตสาหกรรม จะมีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนตามโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มากขึ้น

      ประกอบกับการกำหนดให้มีการเลือกตั้งของรัฐบาลจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนทำให้การลงทุนมีแนวโน้มขยายตัวรวมถึงผู้บริโภคเองจะมีการจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นผลจากเสถียรภาพทางการเมืองดีขึ้นสำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคตะวันตกปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 90.4โดยจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการเกษตรและบริการเป็นหลัก เนื่องจากมีการดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการเกษตรต่างๆที่เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างต่อเนื่องสภาพอากาศ และปริมาณน้ำยังคงเอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตรในขณะที่ภาคบริการของภาคตะวันตกมีการพัฒนาโครงข่ายถนนภายในจังหวัดเพิ่มขึ้นทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์และการขนส่งขยายตัวส่งผลให้นักท่องเที่ยวสะดวกในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

      สำหรับ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังอยู่ในเกณฑ์ดีที่ 87.8เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากแนวโน้มที่ดีของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยสำหรับภาคอุตสาหกรรม มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่ยื่นขออนุญาตประกอบกิจการเพิ่มขึ้นทุนจดทะเบียนอุตสาหกรรมและปริมาณการใช้ไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นส่งผลให้ภาคเอกชนเริ่มมีความมั่นใจที่จะลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ขณะที่ภาคบริการได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ประกอบกับการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องสำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลางปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 85.2 เนื่องจากแนวโน้มที่ดีขึ้นในภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมมีบริษัท และห้างหุ้นส่วนขอจดทะเบียนประกอบกิจการการให้บริการด้านการขายส่งขายปลีกการขนส่งการบริการรับเหมาก่อสร้างเพิ่มขี้นประกอบกับทิศทางทางการเมืองมีความชัดเจนขึ้น

      ทำให้แนวโน้มการบริการดีขึ้น นอกจากนี้ มีการส่งเสริม/สนับสนุนการลงทุนของสถาบันการเงินให้กับผู้ประกอบการSMEs ทั้งรายเดิมที่ต้องการเงินทุนในการขยายธุรกิจและรายใหม่เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการดำเนินกิจการขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้ ยังอยู่ในเกณฑ์ดีอยู่ที่ 69.7จากแนวโน้มการจ้างงานและภาคบริการที่ดีเนื่องจากเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยว และมีจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นและเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากบริษัทเอกชนภาคบริการเริ่มมีการตื่นตัวในพัฒนาและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในพื้นที่ในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคมปี 2562 มากขึ้น คาดว่า จะส่งผลให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมห้องพักและบริษัทนำเที่ยวสำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม.และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ64.2ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ดีตามดัชนีแนวโน้มในอีก 6 เดือนข้างหน้าของภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่ 84.9

ตารางสรุปดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ปี 2561(ณ เดือนกันยายน 2561)

กทม. และปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคตะวันออก

เฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันตก

ภาพรวม

ดัชนีความเชื่อมั่น

อนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค 64.2 91.3 87.8 69.7 85.2 94.2 90.4

ดัชนีแนวโน้มรายภาค

1) ภาคเกษตร 72.8 64.0 85.3 55.6 49.2 92.5 94.2

2) ภาคอุตสาหกรรม 84.9 99.7 93.7 62.2 98.3 92.0 73.0

3) ภาคบริการ 52.9 100.0 91.6 77.0 100.0 100.0 91.7

4) ภาคการจ้างงาน 53.4 93.6 86.4 78.8 82.5 93.5 82.3

5) ภาคการลงทุน 57.1 99.3 82.2 74.7 95.8 92.9 81.5

 

รายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนสิงหาคม ปี 2561

      "เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนสิงหาคม 2561 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง นำโดย ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนในหลายภูมิภาค รวมถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี"

     นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนสิงหาคม ปี 2561 "เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนสิงหาคม 2561 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง นำโดย ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนในหลายภูมิภาค รวมถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี" โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

         ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคอุตสาหกรรมช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 28.5 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ร้อยละ 37.6 และ 34.9 ต่อปี ตามลำดับ จากขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เป็นต้น ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 46.9 และ 19.7 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับเม็ดเงินลงทุนที่เริ่มประกอบกิจการ อยู่ที่ 3,116 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 106.3 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดชลบุรี และปราจีนบุรี เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.3 และ 8.7 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกที่ปรับเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 109.0 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

         ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 11.3 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดสิงห์บุรี ชัยนาท และพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 30.5 และ 10.3 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 18.1 และ 8.8 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดสระบุรี และสิงห์บุรี เป็นต้น นอกจากนี้เม็ดเงินลงทุนที่เริ่มประกอบกิจการ อยู่ที่ 1,262 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 235.3 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดสระบุรี และพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.7 และ 9.4 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลางที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 98.0 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคมเบื้องต้น 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

      ภาคเหนือ เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.2 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดเชียงใหม่ ตาก แพร่ และแม่ฮ่องสอน เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 6.5 และ 8.8 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 7.2 และ 12.5 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้เม็ดเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ อยู่ที่ 1,377 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 40.9 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดอุทัยธานี พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในกรกฎาคม 2561 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 2.5 และ 7.0 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

        ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงภาคเกษตรและภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 19.4 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา และเลย เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 9.0 และ 9.1 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับเงินทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ 1,463.6 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 78.1 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดนครราชสีมา จากการลงทุนโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.1 และ 9.8 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคมเบื้องต้น ยังคงอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

               กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคสินค้าคงทน และการลงทุนภาคเอกชน เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ร้อยละ 8.6 และ 2.9 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในกรุงเทพมหานคร ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนสิงหาคม 2561 หดตัวลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.6 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 32.0 และ 19.3 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร เป็นต้น สอดคล้องกับเงินทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในสิงหาคม 2561 อยู่ที่ 7,452 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดสมุทรสาคร และสมุทรปราการ เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดีแม้ว่าจะชะลอลงจากเดือนก่อน สะท้อนจากรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนกรกฎาคม ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามการขยายตัวทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนสิงหาคมเบื้องต้น 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

               ภาคตะวันตก เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ใน เดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวเร่งร้อยละ 6.9 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในจังหวัดเพชรบุรี และกาญจนบุรี เป็นต้นในขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนชะลอตัว ส่วนการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี และสมุทรสงคราม เป็นต้น สอดคล้องกับเงินทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในสิงหาคม 2561 อยู่ที่ 530 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดกาญจนบุรี และราชบุรี เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.6 และ 7.9 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและการผลิตภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

          ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.1 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในจังหวัดภูเก็ต พังงา และสตูล เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น จากเงินทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในสิงหาคม 2561 อยู่ที่ 1,524 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 13.8 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดนราธิวาส ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดีแม้จะขยายตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อน ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.4 และ 10.2 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ในระดับเอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0-2273-9020ต่อ 3254 หรือ 3215

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!