- Details
- Category: คลัง
- Published: Saturday, 11 August 2018 20:22
- Hits: 1836
คณะกรรมการ PPP ไฟเขียว 2 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 4,000 ล้านบาท กระจายการลงทุนสู่ภาคเหนือ - อีสาน ดัน PPP Fast Track เสนอโครงการภายในปี 2561 หนุนเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม 2561 ณ กระทรวงการคลัง โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งมีผลการประชุมสรุปได้ดังนี้
1. คณะกรรมการ PPP ได้เห็นชอบในหลักการการให้เอกชนร่วมลงทุนของโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า ของกรมการขนส่งทางบก จำนวน 2 โครงการ ได้แก่
1.1 โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม มูลค่าเงินลงทุน 1,361 ล้านบาท โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่าที่ดิน ค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางและอาคารที่ภาครัฐใช้ประโยชน์ ค่าควบคุมงานก่อสร้าง ส่วนภาคเอกชนลงทุนในค่าก่อสร้างอาคารที่ก่อให้เกิดรายได้และค่าเครื่องมืออุปกรณ์ รวมถึง O&M ระยะเวลาดำเนินโครงการ 30 ปี
1.2 โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 2,829 ล้านบาท โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่าที่ดิน ค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนค่าอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้า อุปกรณ์สำนักงานและส่วนประกอบ และงานระบบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารด้านการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ รวมถึง O&M ทั้งหมด ระยะเวลาดำเนินโครงการ 15 ปี
โดยให้เสนอ 2 โครงการดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการต่อไป
2. คณะกรรมการ PPP เร่งรัดให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track จำนวน 8 โครงการ ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยคาดว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – วงแหวนกาญจนาภิเษก และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตกและตะวันออก จะสามารถนำเสนอคณะกรรมการ PPP ได้ภายในปี 2561 ประมาณเงินลงทุนรวม 366,274 ล้านบาท รวมถึงยังได้เร่งรัดโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตให้สามารถเสนอกระทรวงเจ้าสังกัดจากปี 2562 เป็นภายในปี 2561
3. คณะกรรมการ PPP รับทราบสถานะของโครงการร่วมลงทุนและเร่งรัดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการร่วมลงทุนที่มีระยะเวลาของสัญญาเหลือน้อยกว่า 5 ปี ดำเนินการจัดทำแนวทางการดำเนินกิจการของรัฐภายหลัง
จากสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดให้แล้วเสร็จโดยเร็วตาม พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 โดยคำนึงถึงภาระทางด้านการเงิน ทรัพย์สิน และเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการให้บริการที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและประชาชนผู้ใช้บริการ