- Details
- Category: คลัง
- Published: Saturday, 28 July 2018 18:26
- Hits: 2665
สศค.เพิ่มเป้าจีดีพีปีนี้โต 4.5% - ส่งออกเป็นโต 9.7% พร้อมคาดกนง.คงดบ. 1.5% ถึงสิ้นปี
สศค.เพิ่มเป้าจีดีพีปีนี้ โต 4.5% จาก 4.2% และส่งออกเป็นโต 9.7% จาก 8% ส่วนนำเข้าเพิ่มเป็น 14.9% จากเดิม 12.5% แต่ยังคงเงินเฟ้อที่ 1.2% ส่วนเงินบาทคาดสิ้นปีอยู่ที่ 32.25 บ./ดอลล์ แข็งค่า 5% จากปีก่อน พร้อมประเมินกนง.ยังคงดบ.ที่ 1.5% ตลอดทั้งปีเพื่อกระตุ้นศก. ส่วนศก.มิ.ย. - Q2/61 พบยังโตต่อเนื่อง
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง และในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 61 ว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ได้ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ปี 2561 ที่โต 4.5% จากเดิม 4.2% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออก และการใช้จ่ายภาครัฐที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ตามกรอบรายจ่ายเพื่อการบริโภคและการลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2561
ทั้งนี้ ได้ปรับประมาณการส่งออกปีนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.7% จากเดิมคาด 8% ขณะที่การนำเข้าปรับเพิ่มขึ้นเป็น 14.9% จากเดิมที่ 12.5% การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.8% จากเดิมคาด 3.5% ด้านการลงทุนเอกชนปรับเพิ่มเป็น 3.9% จากเดิมที่ 3.8% แต่การบริโภคภาครัฐปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.9% จากเดิมคาด 3% และการลงทุนภาครัฐปรับลดลงมาอยู่ที่ 7.9% จากเดิมคาด 8.9%
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ยังคงประมาณการอยู่ที่ 1.2% เช่นเดียวกับเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังคงประมาณการที่ 0.7% ทั้งนี้ในอนาคตอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ตามราคาในหมวดพลังงานที่ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 44.3 พันล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 8.8% ของจีดีพี
“ในการประมาณการครั้งนี้ เรายังได้ปรับสมมติฐานค่าเงินบาทใหม่ โดยคาดว่าปีนี้ค่าเงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นโดยเฉพาะในช่วงปลายปีนี้ โดยค่าเฉลี่ยเงินบาทจะแข็งค่าที่ระดับ 32.25 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากปีก่อน 5% ขณะที่ราคาน้ำมันดิบต่อดูไป ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 70.1 ดอลลาร์ต่อบาเรล จากเดิมคาด 64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล”นางสาวกุลยา กล่าว
แต่สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังคงคาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.5% ต่อปี จนถึงสิ้นปี 2561
“จีดีพีเคยบอกไปแล้วเมื่อครั้งก่อนว่าจะเพิ่มเป้าจาก 4.2% เป็น 4.5% แต่ยังไม่เป็นทางการ ครั้งนี้เลยประกาศให้เป็นทางการ แต่จะขึ้นไปถึง 5% ก็มีความเป็นไปได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับมาตรการการลงทุนต่างๆ ว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ รวมถึงมาตรการอื่นๆที่จะออกมาขับเคลื่อนเพิ่มเติม โดยเฉพาะการสนับสนุนเอสเอ็มอี”นางสาวกุลยา กล่าว
ด้านเศรษฐกิจไทยในเดือน มิถุนายนที่ผ่านมา ประกอบกับไตรมาส 2/2561 พบว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง จากการส่งออก การท่องเที่ยว และการบริโภคภายในประเทศ โดยการส่งออกในเดือนมิถุนายน มีมูลค่า 21.8 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 8.2% ด้านไตรมาส 2 มีมูลค่า 20.2 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.6% สำหรับมูลค่าการนำเข้ามีมูลค่า 20.2 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.8% ส่งผลให้ดุลการค้ากลับมาเกินดุล 1.6 พันล้านดอลลาร์
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 1.4% เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน ด้านไตรมาส 2 อยู่ที่ 1.3% โดยมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมิถุนายนอยู่ที่ 0.8% และไตรมาส 2 อยู่ที่ 0.8%
รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2561 “เศรษฐกิจไทยปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.5 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าที่ดีขึ้นต่อเนื่อง”
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนกรกฎาคม 2561 ว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2561 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 4.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.2 – 4.8) เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยมีการส่งออกสินค้าเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญตามกรอบรายจ่ายเพื่อการบริโภคและลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2561 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และพ.ร.บ. จัดทำงบประมาณกลางปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ความคืบหน้าของโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่สำคัญ และการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน คาดว่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจและส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้น สำหรับการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากรายได้ครัวเรือนนอก ภาคเกษตรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามการจ้างที่เพิ่มขึ้นใน ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ขณะที่รายได้เกษตรกรเริ่มทยอยปรับตัวดีขึ้นจากด้านผลผลิต นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ยังคาดว่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของครัวเรือนในระยะต่อไป
สำหรับ เสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยในส่วนของเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2561 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.2 (โดยมีช่วงประมาณการที่ร้อยละ 0.9 -1.5) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนตามราคาในหมวดพลังงานที่ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 44.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 8.8 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.5 – 9.1 ของ GDP)”
ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการคลัง ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ การตอบโต้ทางการค้าที่รุนแรงขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และประเทศเศรษฐกิจสำคัญ และความผันผวนของตลาดการเงินโลก”
เอกสารแนบ
รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2561
1. ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในปี 2561 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 4.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.2 – 4.8) เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยมีการส่งออกสินค้าเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณส่งออกสินค้าและบริการมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 6.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.0 – 6.6) ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญตามกรอบรายจ่ายเพื่อการบริโภคและลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2561 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และพรบ. จัดทำงบประมาณกลางปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ส่งผลให้การลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.6 – 8.2) เช่นเดียวกับการบริโภคภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.6 – 3.2)
นอกจากนี้ ความคืบหน้าของโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่สำคัญ และการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน คาดว่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจและส่งเสริมบรรยายกาศการลงทุนภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้น โดยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 3.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 – 4.2) สำหรับการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามการจ้างที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ขณะที่รายได้เกษตรกรเริ่มทยอยปรับตัวดีขึ้นจากด้านผลผลิต
นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้งระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2 ยังคาดว่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของครัวเรือนในระยะต่อไป และส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวที่ร้อยละ 3.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5 – 4.1) ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 7.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.9 – 7.5) สอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะเร่งขึ้นและการฟื้นตัวของภาคการส่งออก นอกจากนี้ ยังได้รับแรงสนับสนุนจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐอีกด้วย
2. ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ
เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2561 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.9 – 1.5) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และราคาในหมวดพลังงานที่ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 44.3 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นร้อยละ 8.8 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.5 - 9.1 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลที่ 24.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 24.6 – 25.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตามมูลค่าสินค้าส่งออกคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 9.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.4 – 10.0) ในขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้าคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 14.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 14.6 – 15.2)
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3223
สศค. เผยดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ก.ค. มีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี จากภาคบริการและอุตสาหกรรม
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thai Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนกรกฎาคม 2561 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ (คาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้า) อยู่ในเกณฑ์ที่ดีทุกภูมิภาค นำโดยภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ
โดยดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลางอยู่ในเกณฑ์ดีที่ระดับ 91.3 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มที่ดีขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้าของภาคอุตสาหกรรมและภาคการลงทุนในภูมิภาค เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากยอดสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่มากขึ้น ประกอบกับภาคการลงทุนภายในภูมิภาคที่มีแนวโน้มสดใส หลังจากรัฐบาลเร่งรัดโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางถนนตามโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา สามารถเชื่อมโยงการเดินทางจากกรุงเทพและจังหวัดในภาคกลาง ทำให้การเดินทางและการขนส่งสินค้ามีความสะดวกและลดต้นทุนการผลิตสินค้าได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงมีความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจ คาดว่าการลงทุนจะสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 87.9 โดยเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้า จะได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริการภายในภูมิภาค หลังจากโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีความคืบหน้าในหลายด้าน เช่น การเร่งรัดโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การเข้ามาลงทุนในพื้นที่ของนักลงทุนต่างชาติ และได้รับแรงสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น นอกจากนี้ พบว่า มีการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวต่าง ๆ ภายใต้โครงการปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน 2561 ซึ่งกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งใน 6 เดือนข้างหน้าจะเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 86.5 เนื่องจากแนวโน้มที่ดีขึ้นในภาคอุตสาหกรรม จากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้น อีกทั้ง มีจำนวนโรงงานเพิ่มขึ้นในจังหวัดกาฬสินธุ์ บึงกาฬ และสุรินทร์ นอกจากนี้ ดัชนีแนวโน้มของภาคบริการปรับตัวในระดับที่ดี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งในช่วงครึ่งหลังปี 2561 พบว่า เป็นฤดูท่องเที่ยวของหลายจังหวัด ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ประกอบกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาครัฐและเอกชน
ขณะที่ภาคบริการของภาคเหนือมีแนวโน้มสดใส โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว หลังจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งครอบคลุมถึง 16 จังหวัดในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ประกอบกับมีกระแสเหตุการณ์ 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง ส่งผลให้คนสนใจเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย และจังหวัดโดยรอบเพิ่มขึ้น รวมถึงมีการเพิ่มเที่ยวบินเข้าสู่จังหวัดตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง นอกจากนี้ ดัชนีแนวโน้มภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศในช่วง 6 เดือนข้างหน้าจะเป็นฤดูการเก็บเกี่ยวพืชผลทางเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อย ประกอบกับมีผลผลิตมากกว่าปีก่อนหน้า จากแนวโน้มที่ดีขึ้นของปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจเหนือ ปรับตัวมาอยู่ที่ 84.7
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตก ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 79.8 เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากแนวโน้มที่ดีของภาคเกษตร เนื่องจากเศรษฐกิจในปี 2561 มีทิศทางดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตร ประกอบกับสภาพอากาศและปริมาณน้ำยังคงเอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตร และเกษตรกรมีการบริหารจัดการดูแลสวนเป็นอย่างดีเพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับแนวโน้มที่ดีของภาคอุตสาหกรรมภายในภูมิภาค เนื่องจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าอุตสาหกรรม จำนวนทุนจดทะเบียนและจำนวนโรงงานสะสม ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คาดการณ์ว่ายังคงมีแนวโน้มที่ดี ประกอบกับการส่งเสริมของภาครัฐในการลงทุน
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้ ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 76.8 จากดัชนีแนวโน้มในภาคบริการ ส่งสัญญาณที่ดีต่อเนื่อง อยู่ที่ 89.1 ส่วนหนึ่งเนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว และมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากภาครัฐและเอกชนยังคงร่วมกันกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวและโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม.และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 63.9 ซึ่งปรับตัวในเกณฑ์ที่ดี ตามดัชนีแนวโน้มในอีก 6 เดือนข้างหน้าของภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่ 68.5 อีกทั้งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตร
อินโฟเควสท์