WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Gกลยารายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2560 และ 2561 เศรษฐกิจไทยปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.0 และยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.2 ในปี 2561'

       นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนมกราคม 2561 ว่า 'เศรษฐกิจไทยในปี 2560 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 4.0 เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 และเป็นการขยายตัวได้สูงกว่าที่ประมาณการเมื่อครั้งก่อนหน้า อันเป็นผลจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นต่อเนื่องตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวชัดเจน โดยการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องในหลายหมวดสินค้าและในเกือบทุกตลาดส่งออก ขณะที่รายได้จากภาคการท่องเที่ยวยังดีขึ้นต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามายังประเทศไทยในปี 2560 ที่มีจำนวนสูงถึง 35.4 ล้านคน

      นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาคเอกชนยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามรายได้ของแรงงานในภาคการผลิตเพื่อการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งผลดีจาก มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในช่วงปลายปี และโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปีก่อนหน้าสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นตามความชัดเจนของการดำเนินโยบายภาครัฐ อาทิ โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการประกาศใช้ร่าง พรบ. พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

      ขณะที่แรงกระตุ้นจากภาครัฐยังมีอยู่ต่อเนื่อง สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2560 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและแนวโน้มต้นทุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น

     สำหรับ เศรษฐกิจไทยในปี 2561 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.7-4.7) โดยมีการใช้จ่ายภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญตามกรอบรายจ่ายลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2561 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ พรบ. จัดทำงบประมาณกลางปีงบประมาณ 2561วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท และความคืบหน้าของโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่สำคัญ โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนปี 2559 และปี 2560 ที่คาดว่าจะมีโครงการขนาดใหญ่เริ่มเข้าสู่กระบวนการก่อสร้างได้มากขึ้นในปี 2561

      รวมทั้งสัญญาณเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งยังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและช่วยสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้น สำหรับอุปสงค์ภายนอกประเทศ คาดว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าและบริการของไทยอันเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2561 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.7-1.7) ปรับตัวสูงขึ้นจากปีนี้ ตามราคาน้ำมันดิบที่จะปรับสูงขึ้นง

     ทั้งนี้ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า งในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในปี 2561 อาทิ ความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศพัฒนาแล้ว และความผันผวนของค่าเงินและราคาน้ำมันในตลาดโลก”

เอกสารแนบ

รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2560 และ 2561

1. เศรษฐกิจไทยในปี 2560

1.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

     เศรษฐกิจไทยในปี 2560 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 3.8 เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 และเป็นการขยายตัวได้สูงกว่าที่ประมาณการเมื่อครั้งก่อนหน้า อันเป็นผลจากการส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 6.2 ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวชัดเจน โดยการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องในหลายหมวดสินค้าและในเกือบทุกตลาดส่งออก ขณะที่รายได้จากภาคการท่องเที่ยวยังดีขึ้นต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามายังประเทศไทยในปี 2560 ที่มีจำนวนสูงถึง 35.4 ล้านคน นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาคเอกชนยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.2 ตามรายได้ของแรงงานในภาคการผลิตเพื่อการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น

     รวมทั้งผลดีจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในช่วงปลายปี และโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปีก่อนหน้ามาขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นตามความชัดเจนของการดำเนินโยบายภาครัฐ อาทิ โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการประกาศใช้ร่าง พรบ. พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก สำหรับแรงกระตุ้นจากภาครัฐยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การบริโภคภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นจากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 2.0 อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะมีแนวโน้มหดตัวที่ร้อยละ -1.1

1.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

     เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2560 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และแนวโน้มต้นทุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 48.3 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นร้อยละ 10.8 ของ GDP เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลที่ 31.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามมูลค่าสินค้านำเข้าที่คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 14.7 ในขณะที่มูลค่าสินค้าส่งออกคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 9.7

2. เศรษฐกิจไทยในปี 2561

2.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

      สำหรับ เศรษฐกิจไทยในปี 2561 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.7 – 4.7) โดยมีการใช้จ่ายภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ตามกรอบรายจ่ายลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2561 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 3.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.9 – 3.9) และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 11.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 11.3 – 12.3) นอกจากนี้ พรบ. จัดทำงบประมาณกลางปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท และความคืบหน้าของโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่สำคัญ โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนปี 2559

     และปี 2560 ที่คาดว่าจะมีโครงการขนาดใหญ่เริ่มเข้าสู่กระบวนการก่อสร้างได้มากขึ้นในปี 2561 รวมทั้งสัญญาณเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งยังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและช่วยสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้น โดยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะยังขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 3.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.3 ถึง 4.3) สำหรับการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่ร้อยละ 3.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 – 4.0) จากรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรได้รับผลดีจากภาวะตลาดแรงงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้ ภาวะการเงินที่ผ่อนคลายจะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวขึ้นของการใช้จ่ายภาครัวเรือน

     สำหรับ อุปสงค์ภายนอกประเทศ คาดว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าและบริการของไทยอันเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปทื่ร้อยละ 4.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.1 – 5.1)  ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 5.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.6 – 5.6) สอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะเร่งขึ้น นอกจากนี้ ยังได้รับแรงสนับสนุนจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐอีกด้วย

2.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

     เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2561 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.7 – 1.7) ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และราคาพลังงานที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศคาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 45.5 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นร้อยละ 9.1 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.6 – 9.6 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 29.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 28.8 – 29.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตามมูลค่าสินค้านำเข้าที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก โดยคาดว่ามูลค่านำเข้าสินค้าในปี 2561 จะขยายตัวร้อยละ 8.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.1 – 9.1) ขณะที่มูลค่าสินค้าส่งออกคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.1 – 7.1)

           สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค  สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3223

ดัชนี ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thai Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนมกราคม 2561

     ดัชนี ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thai Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนมกราคม 2561

     “ค่าดัชนีฯ เดือนมกราคม 2561 สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้นทุกภูมิภาค นำโดยภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ”

       นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ประจำเดือนมกราคม 2561 ว่า “การประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดล่าสุด จากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ (คาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้า) อยู่ในระดับที่ดีขึ้นกว่าเดือนก่อนหลายภูมิภาค นำโดยภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ เป็นสำคัญ”

      ดัชนี ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลาง ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 93.8 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มที่ดีขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้าของภาคการลงทุน เนื่องจากความคืบหน้าของนโยบายภาครัฐด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น ประกอบกับมีการลงทุนใหม่ด้านอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและมีการขยายธุรกิจมากขึ้นในจังหวัดสระบุรี อีกทั้งได้รับอานิสงส์จากโครงการกองทุนพัฒนา SMEs ตามแนวประชารัฐ ส่งผลให้ดัชนีแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมของภูมิภาค ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 96.6

      ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 92.9 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีค่าดัชนีแนวโน้มอยู่ที่ 99.8 ประกอบกับสถานการณ์การลงทุนภายในภูมิภาคที่มีแนวโน้มดีต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เช่น การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น อีกทั้งมีนักลงทุนรายใหม่สนใจที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นในจังหวัดปราจีนบุรี จากเดิมในเดือนก่อนหน้า ที่พบว่านักลงทุนรายใหม่สนใจเพียงในเขตพื้นที่โครงการ EEC เช่นเดียวกับภาคการผลิตของภาคเหนือ ที่มีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากการขยายโรงงานในหลายพื้นที่ เช่น เพชรบูรณ์ ลำปาง เป็นต้น อีกทั้งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ เช่น โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสำหรับผู้ประกอบกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นต้น

     รวมถึงแนวโน้มภาคเกษตร ยังคงส่งสัญญาณที่ดี ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 96.7 ตามสภาพอากาศที่เอื้อต่อการเพาะปลูก ซึ่งคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจเหนือ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 91.2 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 84.5 จากดัชนีแนวโน้มที่ดีขึ้นของภาคบริการในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ซึ่งน่าจะได้รับผลดีจากมาตรการลดหย่อนภาษีเขตเมืองรอง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ถึง 18 จังหวัดของภูมิภาค อีกทั้ง สาขาค้าปลีกค้าส่ง ยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงดัชนีแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 93.1 เนื่องจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในแต่ละจังหวัด สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตก อยู่ที่ 79.8 ตามแรงสนับสนุนจากแนวโน้มที่ดีของภาคบริการ โดยเฉพาะสาขาการท่องเที่ยว ที่จะได้รับอานิสงส์จากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว

     อีกทั้ง บริเวณด่านชายแดนในจังหวัดกาญจนบุรียังคงคึกคัก ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยและเมียนมาร์ได้ รวมถึงค้าส่งค้าปลีกที่มีแนวโน้มสดใส จากการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐส่งผลให้ดัชนีแนวโน้มภาคบริการ อยู่ในระดับที่ดีที่ 83.8 ประกอบกับแนวโน้มที่ดีในภาคการลงทุน เนื่องจากมีการลงทุนใหม่ตามสถานที่ท่องเที่ยวภายในจังหวัดราชบุรี ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม.และปริมณฑล อยู่ที่ 73.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามดัชนีแนวโน้มในอีก 6 เดือนข้างหน้าของภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่ 84.3 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กและเครื่องหนัง ประกอบกับดัชนีแนวโน้มภาคบริการ อยู่ที่ 71.8 โดยเฉพาะสาขาค้าปลีกและการเงินการธนาคาร

     นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้ ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่ 68.7 จากดัชนีแนวโน้มในภาคการจ้างงานภายในภูมิภาค ส่งสัญญาณที่ดีต่อเนื่อง อยู่ที่ 85.6 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมและบริการ เป็นสำคัญ

        สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค  สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3254 หรือ 3215

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!