WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

14ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้านี้ย่อตัวเล็กน้อยตามตปท.รับแรงขายทำกำไรหลังร่างกม.ปฏิรูปภาษีผ่านสภาฯ
นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงเช้าวันนี้คาดว่าจะเห็นการปรับฐานและย่อตัวลงเล็กน้อย ซึ่งเป็นไปตามทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียที่ต่างปรับตัวลดลงกันถ้วนหน้าตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากแรงขายทำกำไร หรือ Sell on fact หลังจากที่รับรู้ข่าวเชิงบวกเกี่ยวกับความคืบหน้าร่างกฏหมายปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯที่สามารถผ่านการพิจาณราจากวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรได้แล้ว และคาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะเห็นความชัดเจนของร่างกฎหมายภาษีดังกล่าวออกมา
 
พร้อมให้แนวต้าน 1,745 จุด แนวรับ 1,732 จุด
ประเด็นการพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (20 ธ.ค.60) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,726.65 จุด ลดลง 28.10 จุด (-0.11%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,679.25 จุด ลดลง 2.22 จุด (-0.08%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,960.96 จุด ลดลง 2.89 จุด (-0.04%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 39.71 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 6.49 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 24.45 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 22.45 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 1.03 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 5.69 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 3.96 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (20 ธ.ค.60) 1,738.16 จุด เพิ่มขึ้น 5.85 จุด (+0.34%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 243.53 ล้านบาท เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.60
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ม.ค.61 ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (20 ธ.ค.60) ปิดที่ระดับ 58.09 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 53 เซนต์ หรือ 0.9%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (20 ธ.ค.60) ที่ 7.06 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 32.73 ทรงตัวจากวานนี้ ธุรกรรมเบาบาง นลท.รอดูตัวเลข GDP Q3/60 ของสหรัฐฯ-ประชุม BOJ วันนี้
- กนง.ปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้โต 3.9% หวังส่งออก-ท่องเที่ยวโตเกินคาด ห่วงระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงฉุดบริโภคเอกชนโตชะลอ ขณะที่หนี้เสียกลุ่มเอสเอ็มอียังเพิ่มขึ้น แนะจับตาใกล้ชิด พร้อมมีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% มองแนวโน้มเงินเฟ้อเข้ากรอบเป้าหมายไตรมาส 2/61
- นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าไทยเดือน พ.ย. ขยายตัวเพิ่มขึ้น 13.36% ส่งผลให้การส่งออกช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย. 60) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.01% คาดว่าทั้งปี 60 การส่งออกจะขยายตัวแตะระดับ 10% ส่วนการส่งออกในปี 61 ได้ให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ไปประชุมผู้อำนวยการส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) มาจัดทำข้อมูลและนำเสนอ ซึ่งหากการส่งออกในปี 60 ขยายตัวได้ถึงระดับ 10% การส่งออกในปีหน้าก็ต้องขยายตัวอยู่ในระดับที่ดีเหมือนกัน
- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผย ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 87.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน อยู่ที่ระดับ 85.9 สูงสุดในรอบ 8 เดือน เนื่องจากการใช้จ่ายและการบริโภคผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเข้ามาช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ และยังมีแรงสนับสนุนมาตรการช็อปช่วยชาติ ระหว่างวันที่ 11 พ.ย.-3 ธ.ค. 60 รวมทั้งมีการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อจำหน่ายและส่งมอบให้ทันก่อนช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งจะเห็นได้จากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น
- เครือข่ายจี้รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอัตราเดียวกันทั่วประเทศ พร้อมตรึงราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค จัดสวัสดิการภาครัฐอย่างเพียงพอ "อดุลย์" โยนบอร์ดพิจารณาข้อเสนอ ด้าน "ปลัดแรงงาน" ยันยึดอัตราเดียวกันทั่วประเทศเป็นไปไม่ได้ คาดเคาะอัตราใหม่ภายในเดือนนี้
 
*หุ้นเด่นวันนี้
-VCOMT (บมจ.วินท์คอม เทคโนโลยี) เทรดวันนี้วันแรก ในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) สังกัดหมวดอุตสาหกรรมเทคโนโลยี โดยราคาขาย IPO 2.88 บาท/หุ้น
บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า VCOM จะได้ประโยชน์จากนโยบายภาครัฐและทิศทางของโลกที่มุ่งสู่ด้าน Digital ซึ่งจะเพิ่มความต้องการผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น อีกทั้งยังมีการขยายธุรกิจไปกลุ่มประเทศ CLM โดยเฉพาะเมียนมาร์ซึ่งมีศักยภาพการเติบโตสูง ขณะที่ธุรกิจของบริษัทลูกวีเซิร์ฟพลัสจะช่วยเพิ่มรายได้ต่อเนื่องให้มีสัดส่วนสูงขึ้นในอนาคต พร้อมคาดกำไรสุทธิปี 60-61 โตเฉลี่ย (CAGR) 42.1% ต่อปี ประเมินราคาเหมาะสมปี 61 ที่ 4.40 บาท
- IRPC (ยูโอบี เคย์เฮียน) แนะนำ"ซื้อ"เป้า 8.30 บาท มองแนวโน้มผลการดำเนินงานยังมีแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ IRPC มิใช่เพียงโรงกลั่น แต่ควรถือเป็นผู้เล่นในกลุ่มปิโตรเคมีที่มีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจะยังเป็นปัจจัยผลักดันการเดินหน้าของกำไรในช่วงปี 60-61
- AH (เอเอสแอล) แนะนำ"ซื้อเก็งกำไร"ราคาเป้า 37 บาท มองเชิงบวกกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์หลังยอดผลิตรถยนต์ พ.ย.60 โตกว่า16% MoM และ 11% YoY เป็นสถิติที่สูงสุดในรอบกว่าปีครึ่ง และ AH เองมี Catalyst หนุนการลงทุนจากการเข้าสู่ช่วง High Season ในงวด 4Q60 เป็นช่วงยอดการผลิตรถยนต์แข็งแกร่ง และจะขยายตัวต่อเนื่องไปในปี 61 หนุนด้วย Demand ในประเทศ การเข้าลงทุนใน SGAH ทำให้มีรายได้จากดอกเบี้ยรับและส่วนแบ่งกำไรต่อเนื่อง โดยปีหน้าจะเริ่มรับรู้เต็มปี ประสิทธิภาพในการผลิตที่ดีขึ้นหนุนภาพรวมของอัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้น และโอกาสในการขยายฐานลูกค้าไปในยุโรปและสหรัฐ
-SC (กสิกรไทย) แนะนำ"ซื้อ"ราคาเป้าหมาย 4 บาท คาดกำไรในงวด Q4/60 จะขยายตัวแรงจากการรับรู้รายได้ backlog กว่า 3.0 พันลบ.(จากทั้งหมด 9.8 พันลบ.) และจากโครงการแนวราบใหม่ทั้ง 5 โครงการ มูลค่า 8.2 พันลบ.ที่เปิดขายใน ต.ค.-พ.ย.60 มีโอกาสสูงที่จะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ซื้อบ้าน โดยคาดหวังถึง presales ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ 16.0 พันลบ. จากตัวเลข YTD ที่ 13.7 พันลบ. ขณะที่ในปี 61 จะขยายตัวต่อเนื่องจากการโอนโครงการคอนโดขนาดใหญ่ 2 โครงการคือ ศาลาแดงวันและบีทนิค รวม 8.7 พันล้านบาท

ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าทั้งแดนบวกและลบ นักลงทุนรอดูถ้อยแถลงผู้ว่าแบงก์ชาติญี่ปุ่น
     ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าวันนี้ทั้งในแดนบวกและลบ ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้นภายหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติเห็นชอบต่อร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีขั้นสุดท้าย ด้วยคะแนนเสียง 224 ต่อ 201 เสียง ก่อนที่จะส่งต่อไปยังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อลงนามให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย ขณะที่นักลงทุนต่างรอดูการแถลงของนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในช่วงบ่ายวันนี้ เพื่อประเมินมุมมองของผู้ว่าแบงก์ชาติญี่ปุ่นที่มีต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของประเทศ
ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าที่ 29,378.70 จุด เพิ่มขึ้น 144.61 จุด, +0.49% ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดภาคเช้าที่ 22,806.28 จุด ลดลง 85.44 จุด, -0.37% ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียปิดภาคเช้าที่ 1,747.09 จุด เพิ่มขึ้น 0.46 จุด, +0.03%
เมื่อวานนี้ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติเห็นชอบต่อร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีขั้นสุดท้าย ด้วยคะแนนเสียง 224 ต่อ 201 เสียง ก่อนที่จะส่งต่อไปยังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เพื่อลงนามให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย หลังจากวุฒิสภาลงมติรับรองร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อวานนี้ด้วยคะแนนเสียง 51 ต่อ 48 เสียง
สำหรับความเคลื่อนไหวด้านการเงินในวันนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น มีมติด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 1 ให้คงนโยบายการเงินเชิงรุกต่อไป ในการประชุมวันนี้ ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ โดย BOJ จะรอให้ภาวะเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งมากขึ้น เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของอัตราเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินของ BOJ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% ขณะเดียวกัน BOJ จะยังคงเดินหน้าโครงการซื้อพันธบัตร โดยมีเป้าหมายที่จะรักษาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อระยะยาว ให้เคลื่อนไหวที่ระดับ 0%
นอกจากนี้ BOJ ยังคงระดับการซื้อกองทุน ETF และสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ
ทั้งนี้ นักลงทุนต่างรอดูการเปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 ของสหรัฐ ซึ่งเป็นการประมาณการครั้งสุดท้ายที่จะมีการเปิดเผยเวลา 20.30 น.ตามเวลาไทย

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดลบ 18.87 จุด หลัง IMF หั่นคาดการณ์ GDP อังกฤษปีนี้
     ตลาดหุ้นลอนดอนปิดในแดนลบเมื่อคืนนี้ (20 ธ.ค.) หลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้หั่นคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหราชอาณาจักร เนื่องจากเศรษฐกิจอังกฤษส่งสัญญาณชะลอตัวลงหลังจากที่ตัดสินใจแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)
ดัชนี FTSE 100 ลดลง 18.87 จุด หรือ -0.25% ปิดที่ 7,525.22 จุด
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นลอนดอนเมื่อคืนนี้ ดัชนี FTSE 100 ปรับตัวลงตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลก โดยที่ข่าวความคืบหน้าในการผลักดันกฎหมายปฏิรูปภาษีของสหรัฐในสภาคองเกรส ไม่ได้ช่วยหนุนตลาดมากนัก
ตลาดหุ้นลอนดอนยังถูกกดดันจากการที่ IMF ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของ GDP สหราชอาณาจักรในปีนี้ เหลือ 1.6% จากระดับ 1.7% ในรายงานฉบับก่อนหน้า นอกจากนี้ทาง IMF ยังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของอังกฤษจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 1.5% ในปี 2561
หุ้นบริษัทพลังงานที่น่าจับตา หุ้นรอยัล ดัทช์ เชลล์ ขยับลง 0.5% หลังมีรายงานว่า บริษัทรอยัล ดัทช์ เชลล์ และ ENI SpA ของอิตาลี จะถูกดำเนินคดีในข้อหาจ่ายสินบน 1.1 พันล้านดอลลาร์ในไนจีเรีย

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดลบ นักลงทุนเทขายทำกำไรก่อนวันหยุดคริสต์มาส
      ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเมื่อคืนนี้ (20 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรก่อนที่ถึงช่วงวันหยุดในเทศกาลคริสต์มาส ขณะที่ตลาดหุ้นลอนดอนปิดในแดนลบ หลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า ปัจจัย Brexit จะฉุดรั้งเศรษฐกิจของอังกฤษชะลอตัวลงสู่ระดับ 1.5% ในปีหน้า
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดลบ 0.7% แตะระดับ 388.37 จุด
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 13,069.17 จุด ลดลง 146.62 จุด หรือ -1.11% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,525.22 จุด ลดลง 18.87 จุด หรือ -0.25% และดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,352.77 จุด ลดลง 30.14 จุด หรือ -0.56%
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นยุโรปปิดในแดนลบเมื่อคืนนี้ มาจากการที่นักลงทุนเทขายทำกำไรก่อนถึงช่วงวันหยุดในเทศกาลคริสต์มาส ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาการลงมติร่างกฏหมายปฏิรูปภาษีของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ โดยตลาดหุ้นยุโรปได้ปิดทำการซื้อขายไปก่อนที่สภาผู้แทนฯสหรัฐจะเปิดเผยผลการลงมติร่างกฎหมายดังกล่าว
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดอ่อนแรงลง หลังจาก IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะขยายตัวเพียง 1.5% ในปีหน้า ซึ่งลดลงจาก 1.6% ในปีนี้ โดยระบุว่าความไม่แน่นอนที่เกิดจากการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัว
รายงานระบุว่า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับ Brexit ได้ส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น, เกิดแรงกดดันต่อค่าแรง ขณะที่ภาคธุรกิจชะลอการลงทุน
หุ้นรอยัล ดัทช์ เชลล์ ปรับตัวลง 0.5% หลังจากศาลอิตาลีตัดสินว่า บริษัทรอยัล ดัทช์ เชลล์ และบริษัท ENI SpA ของอิตาลี จะถูกดำเนินคดีในข้อหาจ่ายสินบน 1.1 พันล้านดอลลาร์ในไนจีเรีย
หุ้นสเตนฮอฟฟ์ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของยุโรป ร่วงลง 35% อันเนื่องมาจากข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับรายงานด้านบัญชี

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดลบ 28.10 จุด หลังนักลงทุนซึมซับข่าวสภาคองเกรสไฟเขียวร่างกม.ภาษี
     ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (20 ธ.ค.) หลังจากนักลงทุนได้ซึมซับรายงานข่าวที่ว่า สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติเห็นชอบต่อร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีขั้นสุดท้าย ก่อนที่จะส่งต่อไปยังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เพื่อลงนามให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย ขณะที่นักลงทุนจับตาการรายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3/2560 ของสหรัฐในวัน
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,726.65 จุด ลดลง 28.10 จุด หรือ -0.11% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,960.96 จุด ลดลง 2.89 จุด หรือ -0.04% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,679.25 จุด ลดลง 2.22 จุด หรือ -0.08%
ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดอ่อนแรงลง แม้ว่าสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติเห็นชอบต่อร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีขั้นสุดท้าย ด้วยคะแนนเสียง 224 ต่อ 201 เสียง ก่อนที่จะส่งต่อไปยังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เพื่อลงนามให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยร่างกฎหมายดังกล่าวครอบคลุมถึงการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ลงสู่ระดับ 21% จากระดับ 35% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่ 1 ม.ค.ปีหน้า
เคร็ก เออร์แลม นักวิเคราะห์จากบริษัทออนด้ากล่าวว่า "แม้ตลาดหุ้นสหรัฐทะยานขึ้นกว่า 25% นับตั้งแต่ปธน.ทรัมป์ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความคาดหวังเกี่ยวกับแผนปฏิรูปภาษี แต่ภาวะการซื้อขายเมื่อคืนนี้ค่อนข้างซบเซา เนื่องจากนักลงทุนได้คาดการณ์เอาไว้แล้วว่าสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐจะผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปภาษี ส่วนสถานการณ์หลังจากนี้คือการจับตาดูว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะส่งผลกระทบในด้านบวกต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐมากน้อยเพียงใด"
ทางด้านปธน.ทรัมป์ได้กล่าวแสดงความเห็นหลังจากดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลงแม้สภาคองเกรสไฟเขียวร่างกฎหมายปฏิรูปภาษี ว่า ตลาดการเงินยังไม่ได้ปรับตัวรับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ พร้อมกับกล่าวว่า ตลาดยังไม่ได้เริ่มตระหนักว่ามาตรการภาษีเหล่านี้ดีอย่างไร
ดัชนีหุ้นกลุ่มเทเลคอมปรับตัวขึ้น 0.6% จากมุมมองที่ว่ากลุ่มบริษัทเทเลคอมจะได้รับประโยชน์จากมาตรการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บรรจุอยู่ในร่างกฎหมายปฏิรูปภาษี โดยหุ้นเอทีแอนด์ทีปิตดลาดพุ่งขึ้น 1.3%
ดัชนีหุ้นกลุ่มขนส่งดีดตัวขึ้น 0.9% โดยหุ้นแรงหนุนจากราคาหุ้นเฟดเอ็กซ์ที่พุ่งขึ้น 3.5% หลังจากบริษัทเปิดเผยผลกำไรรายไตรมาสที่แข็งแกร่งเกินคาด
ส่วนดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งถูกมองว่าเป็นกลุ่มบริษัทที่ได้รับประโยชน์น้อยที่สุดจากมาตรการปฏิรูปภาษีนั้น ปรับตัวลง 0.1% ขณะที่ดัชนีหุ้นกลุ่มสินค้าเพื่อผู้บริโภค ปรับตัวลง 0.4% นำโดยหุ้นฟิลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งร่วงลง 2.5%
นักลงทุนจับตากระทรวงพาณิชย์สหรัฐเตรียมเปิดเผยการประมาณการครั้งสุดท้ายของ GDP ประจำไตรมาส 3/2560 ในวันนี้ ส่วนการประมาณการครั้งที่ 2 ซึ่งได้เปิดเผยไปเมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุว่า GDP ขยายตัวที่ระดับ 3.3% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระดับ 3.0%
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองพุ่งขึ้น 5.6% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับ 5.81 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2549 หลังจากพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์ และเออร์มาเริ่มฟื้นตัวขึ้น
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ดัชนีกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วประเทศเดือนพ.ย.จากเฟดชิคาโก, ดัชนีการผลิตเบื้องต้นเดือนธ.ค.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนพ.ย., ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนพ.ย., ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และยอดขายบ้านใหม่เดือนพ.ย.
OO3851

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!