WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

14ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้านี้ปรับลงตามตปท. เล็งเกิด Sell on fact หลังตอบรับเรื่องแผนปฏิรูปภาษีสหรัฐฯแล้ว,ขาดปัจจัยหนุน
      นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะปรับตัวลงในทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ โดยตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ติดลบกันเกือบทุกตลาด เช่นเดียวกับตลาดสหรัฐฯที่ปรับตัวลง คาดว่าจะเป็น Sell on fact หลังจากที่ตลาดฯได้ตอบรับเรื่องแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯไปเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันตลาดฯยังขาดปัจจัยหนุนเข้ามาเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตลาดฯคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งก็มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นและจะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น จากการโยกเงินกลับสหรัฐฯ และสกุลเงินต่างประเทศจะเกิดการอ่อนค่าในเชิงเปรียบเทียบ อีกทั้งในช่วงสั้นตลาดฯก็หมดข่าวบวกด้วย ทำให้อาจเกิดการ take profit ได้
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าตลาดฯจะไม่ปรับตัวลงลึก เนื่องจากยังได้แรงหนุนจากเม็ดเงินกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ช่วยประคองไว้ ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ได้เข้ามาซื้อมากนัก
พร้อมให้แนวรับ 1,690-1,687 จุด ส่วนแนวต้าน 1,705 จุด
ประเด็นการพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (5 ธ.ค.60) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,180.64 จุด ร่วงลง 109.41 จุด (-0.45%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,629.57 จุด ลดลง 9.87 จุด (-0.37%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,762.21 จุด ลดลง 13.15 จุด (-0.19%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 97.00 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 12.37 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 11.47 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 25.82 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 4.11 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 7.56 จุด, ดัชนี Jakarta Composite ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้น 2.07 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 12.60 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 0.07 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (4 ธ.ค.60) 1,697.61 จุด ลดลง 2.04 จุด (-0.12%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 203.38 ล้านบาท เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.60
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ม.ค.61 ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (5 ธ.ค.60) ปิดที่ระดับ 57.62 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 15 เซนต์ หรือ 0.3%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (5 ธ.ค.60) ที่ 6.59 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 32.64 ตลาดรอดูความชัดเจนร่างกม.ภาษีสหรัฐฯ มองกรอบวันนี้ 32.60-32.70
- สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่าตัวเลขเม็ดเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการล่าสุด ณ เดือน ต.ค. 2560 มีมูลค่ากว่า 8.32 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวในอัตราเร่งที่ 346.4%
- ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบในหลักการแนวทางการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยได้เห็นชอบร่างกฎหมายลูกรวม 4 ฉบับ เพื่อเป็นการรองรับการลอยตัวน้ำตาล เช่น ร่างประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จำนวน 1 ฉบับ ได้แก่ ร่างประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการจัดทำประมาณรายได้ เป็นต้น
- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มยอดการผลิตเพื่อจำหน่ายของรถยนต์ปี 2561 เบื้องต้นที่ปริมาณ 1.96 ล้านคัน สูงกว่าปี 2560 ที่คาดว่ามียอดผลิต 1.95 ล้านคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 8.6 แสนคัน จากปี 2560 ที่คาดว่ามี 8.5 แสนคัน โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือ สถานการณ์ตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวดีและจะส่งผลดีต่อยอดขายรถยนต์ด้วย
- กรอ.คาดปีหน้ามูลค่าลงทุนภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ปัจจัยหลักมาจากโครงการอีอีซี มีข้อแม้กฎหมายจะต้องชัดเจนเพื่อดึงดูดนักลงทุน แย้มจีนและญี่ปุ่นสนใจตั้งเขตกำจัดกากอุตฯรองรับโรงงานพาเหรดเข้าพื้นที่ในช่วง 5 ปี มูลค่าลงทุนกว่า 5 แสนล้านบาท เผยยอดรง.4 ช่วง 11 เดือนแตะ 4.74 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.94%
- อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ คาดว่าจะเก็บได้สูงกว่าภาพรวมที่เก็บได้เฉลี่ยเดือนละ 8,000-9,000 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลดีจากการ จัดงานมอเตอร์เอ็กซ์โปที่ช่วยเร่งยอดขายรถได้สูงขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจมีทิศทางฟื้นตัวชัดเจน ทำให้การซื้อรถใหม่ หรือเปลี่ยนรถยนต์มีมากกว่าเดิม
*หุ้นเด่นวันนี้
- GULF (บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์) เทรดวันนี้วันแรก ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) สังกัดหมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค โดยราคาเสนอขาย IPO ที่ 45 บาท/หุ้น บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ประเมินมูลค่าส่วนทุนที่เหมาะสมปี 61 ได้ 47.50-53.00 บาท โดยประเมินมูลค่ากิจการ GULF ด้วยวิธี DCF โดยใช้ WACC=5.7% สำหรับโรงไฟฟ้าหลัก (IPP&SPP) กำลังผลิตรวม 5,434.5 MW จะได้มูลค่าส่วนทุนที่เหมาะสมของโรงไฟฟ้าราว 47.4-53.0 บาท และอีก 0.10 บาท จากธุรกิจ Solar rooftop & Biomass (25.45 MW) รวมเป็น 47.50-53.10 บ. คิดจากกำลังผลิตรวมทั้งสิ้น 5,459.9-6,796.7 MW ตามลำดับ
ทั้งนี้ กำไรมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ตามกำลังผลิตตามสัดส่วนลงทุน(Equity MW) ที่มีอัตราเพิ่มถึง +15.7% CAGR ซึ่งจะส่งผลทำให้ GULF เป็นผู้ประกอบกิจการโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในไทย ตาม Equity Contracted Capacity ด้วยส่วนแบ่งกำลังผลิต 17% ในปี 67F (อิงข้อมูล ณ 31 มี.ค.60)
โรงไฟฟ้าหลักของ GULF อยู่ในไทย เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสะอาด มีประสิทธิภาพสูง เป็นโรงไฟฟ้ามีอายุเฉลี่ยเพียง 3 ปี ในขณะที่มี PPA คงเหลือถึง 27 ปี (ถ่วงน้ำหนักตาม Equity MW)
- ARROW (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 16.40 บาท ผู้บริหารคาดกำไร Q4/60 จะเป็นจุดสูงสุดของปีนี้ จากทั้ง High Season และแรงกดดันด้านต้นทุนเหล็กที่ลดลง หลังจากราคาเหล็กเริ่มนิ่ง และมีการทยอยปรับขึ้นราคาขายท่อร้อยสายไฟ โดยปัจจุบันบันมีงานในมือ 680 ล้านบาท และเพิ่งได้งานโครงการสุวรรณภูมิเฟส 2 ราว 120 ล้านบาท ส่วนปีหน้าจะทยอยส่งมอบให้รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ โดยยังมีมุมมองที่ดีต่อการกลับมาเติบโตของกำไรในปี 2561 โดยคาด +25% Y-Y จากปีนี้คาด -21% Y-Y เพราะงานโครงสร้างพื้นฐานเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนเดินท่อร้อยสายไฟ และยังยืนยันให้ Switch จาก ZIGA เป็น ARROW จากการฟื้นตัวของกำไรที่ชัดเจนกว่า และ PE2561 ที่ 13 เท่า ต่ำกว่า ZIGA ที่ 16 เท่า
- BBL (ไอร่า) เป้า 221 บาท ราคาปัจจุบันซื้อขายบน PBV และ PE ที่ต่ำเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่อื่น โครงการลงทุนภาครัฐช่วยหนุนสินเชื่อในปี 61 หลัง BBL ร่วมกับ KTB และ SCB สนับสนุนสินเชื่อให้โครงการสายสีชมพู และเหลือง (Syndicate Loan) วงเงินกู้รวม 63,360 ล้านบาท โดยเป็นสัดส่วนของ BBL ประมาณ 33% หรือคิดเป็นวงเงิน 21,120 ล้านบาท คาดเริ่มเบิกจ่ายช่วง 4Q60 ในขณะที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะเริ่มก่อสร้างจริงในช่วงต้นปี 61 คาดเป็นตัวกระตุ้นการเติบโตสินเชื่อของ BBL ในปี 61 พร้อมคาดกำไรสุทธิปี 61 เติบโต 12% คาดอยู่ที่ 36,078 ล้านบาท (EPS 18.90 บาท) หลักๆ จากการตั้งสำรองหนี้ที่ลดลงจาก 23,000 ล้านบาท ในปี 60 หลังเศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัว คาดวัฎจักร NPL เริ่มเป็นขาลง ทำให้คาดไม่ต้องตั้งสำรองหนี้จำนวนมากเช่นปี 60

ตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ปรับตัวลงเช้านี้ หลังตลาดหุ้นสหรัฐร่วง นลท.จับตาความคืบหน้าร่างกม.ปฏิรูปภาษีสหรัฐ
       ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลงเป็นส่วนใหญ่ในช่วงเช้านี้ หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งลงเมื่อคืนนี้ อันเนื่องมาจากแรงขายที่ส่งเข้ากดดันหุ้นกลุ่มต่างๆ รวมทั้งความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในสหรัฐ
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 22,525.38 จุด ลดลง 97.00 จุด, -0.43% ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,291.31 จุด ลดลง 12.37 จุด, -0.37% ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,426.59 จุด ลดลง 11.47 จุด, -0.33% ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 10,541.03 จุด ลดลง 25.82 จุด, -0.24% ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,720.73 จุด ลดลง 4.11 จุด, -0.24%
ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 28,850.36 จุด เพิ่มขึ้น 7.56 จุด, +0.03% ดัชนี Jakarta Composite ตลาดหุ้นอินโดนีเซียเปิดวันนี้ที่ 6,002.54 จุด เพิ่มขึ้น 2.07 จุด, +0.03% ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เปิดวันนี้ที่ 8,157.60 จุด เพิ่มขึ้น 12.60 จุด, +0.15% ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,510.19 จุด เพิ่มขึ้น 0.07 จุด, +0.00%
นักลงทุนจับตาการผลักดันร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของสหรัฐ หลังจากวุฒิสภาสหรัฐมีมติรับรองร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีด้วยคะแนนเสียง 51-49 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยหลังจากนี้ สภาคองเกรสสหรัฐจะต้องรวมร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรเป็นร่างเดียวกัน และให้การอนุมัติ ก่อนที่จะส่งต่อไปให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ลงนามเป็นกฎหมายต่อไป
สำหรับความแตกต่างสำคัญระหว่างร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีในฉบับของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรคือ ร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรจะกำหนดให้การปรับลดภาษีมีผลบังคับใช้ทันทีในปีหน้า ในขณะที่ร่างของวุฒิสภาจะชะลอการปรับลดภาษีจนกว่าจะถึงปี 2562
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงเช้านี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลียรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัว 0.6% ในไตรมาส 3/2560 ซึ่งชะลอตัวลงจากไตรมาส 2/2560 ที่มีการขยายตัว 0.8%

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: หุ้นเหมืองแร่ร่วง ฉุดฟุตซี่ปิดลบ 11.47 จุด
      ตลาดหุ้นลอนดอนปิดในแดนลบเมื่อคืนนี้ (5 ธ.ค.) จากแรงฉุดของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ และแรงกดดันจากข้อมูลภาคบริการที่อ่อนแอของอังกฤษ
ดัชนี FTSE 100 ลดลง 11.47 จุด หรือ -0.16% ปิดที่ 7,327.50 จุด
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นลอนดอนเมื่อคืนนี้ ได้รับปัจจัยบวกจากการที่สกุลเงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการเจรจา Brexit ระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป (EU) หลังนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ของอังกฤษ และนายฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการผลักดันการเจรจา Brexit ให้เดินหน้าสู่ขั้นตอนที่สองได้
อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของสกุลเงินปอนด์ไม่อาจหนุนดัชนี FTSE 100 พุ่งขึ้นมากนักเมื่อคืนนี้ เนื่องจากตลาดถูกกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของอังกฤษ ภายหลังจากไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงินระดับชั้นนำ เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของสหราชอาณาจักร ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 53.8 ในเดือนพ.ย. ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 55.0
ตลาดหุ้นลอนดอนยังถูกกดดันจากแรงเทขายในหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ หลังจีนซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภคแร่โลหะมีค่าและแร่อุตสาหกรรมรายใหญ่ของโลกได้เปิดเผยข้อมูลภาคบริการที่ชะลอตัวลงในเดือนพ.ย. โดยหุ้นแองโกลอเมริกัน ดิ่งลง 2.5% หุ้นเกลนคอร์ ร่วงลง 2.3% หุ้นอันโตฟากาสตา ลดลง 1.7% หุ้นแรนด์โกลด์ รีซอสเซส ขยับลง 0.6% และหุ้นเฟรสนิลโล ผู้ผลิตแร่เงินและทองคำรายใหญ่ ลดลง 1%
หุ้นกลุ่มยานยนต์ปรับตัวลง หลังสมาคมผู้ผลิตและผู้ค้ายานยนต์ของอังกฤษ เปิดเผยรายงานว่า อุปสงค์ในรถยนต์ใหม่ในสหราชอาณาจักรร่วงลงถึง 11.5% ในเดือนพ.ย. ซึ่งถือเป็นการหดตัวลงเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน
หุ้นกลุ่มค้าปลีกปรับตัวขึ้นเป็นส่วนใหญ่ โดยหุ้นเทสโกพุ่งขึ้น 3% หลังโกลด์แมน แซคส์ได้ปรับเพิ่มน้ำหนักความน่าลงทุนในหุ้นเชนซูเปอร์มาร์เก็ตรายนี้สู่ระดับ "buy" จากระดับ "sell" ขณะที่หุ้นเจ เซนส์บิวรี พุ่งขึ้น 2.8% และหุ้นดับบลิวเอ็ม มอร์ริสัน ซูเปอร์มาร์เก็ตส เพิ่มขึ้น 2.2%

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดลบ หลังหุ้นเทคโนโลยี,หุ้นเหมืองร่วง
       ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (5 ธ.ค.) เนื่องจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มเหมืองแร่ นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการเจรจา Brexit ระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป (EU)
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปรับตัวลง 0.2% ปิดที่ 386.74 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,375.53 จุด ลดลง 13.76 จุด หรือ -0.26% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,327.50 จุด ลดลง 11.47 จุด หรือ -0.16% และดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 13,048.54 จุด ลดลง 10.01 จุด หรือ -0.08%
หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ร่วงลง เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โดยหุ้นแองโกลอเมริกัน ดิ่งลง 2.5% หุ้นเกลนคอร์ ร่วงลง 2.3% หุ้นอันโตฟากาสตา ลดลง 1.7% หุ้นแรนด์โกลด์ รีซอสเซส ขยับลง 0.6% และหุ้นเฟรสนิลโล ผู้ผลิตแร่เงินและทองคำรายใหญ่ ลดลง 1%
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลง นำโดยหุ้นเทเมนอส เอจี ดิ่งลง 1.5% หุ้นเอเอ็มเอส ปรับตัวลง 0.4% และหุ้นโลจิเทค อินเตอร์เนชั่นแนล ปิดตลาดขยับขึ้นเพียง 0.3% หลังจากร่วงลงกว่า 2% ในระหว่างวัน
หุ้นโพรวิเดนท์ ไฟแนนเชียล ร่วงลงอย่างหนักถึง 10% หลังจากสำนักงานกำกับดูแลด้านการเงินของอังกฤษได้ดำเนินการสอบสวนบริษัทมันนีบาร์น ซึ่งเป็นธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ในเครือของโพรวิเดนท์ ไฟแนนเชียล
นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการเจรจา Brexit ระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป (EU) หลังนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ของอังกฤษ และนายฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการผลักดันการเจรจา Brexit ให้เดินหน้าสู่ขั้นตอนที่สองได้
อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มค้าปลีกดีดตัวขึ้น โดยหุ้นเทสโกพุ่งขึ้น 3% หลังโกลด์แมน แซคส์ได้ปรับเพิ่มน้ำหนักความน่าลงทุนในหุ้นเชนซูเปอร์มาร์เก็ตรายนี้สู่ระดับ "buy" จากระดับ "sell" ขณะที่หุ้นเจ เซนส์บิวรี พุ่งขึ้น 2.8% และหุ้นดับบลิวเอ็ม มอร์ริสัน ซูเปอร์มาร์เก็ตส เพิ่มขึ้น 2.2%

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดร่วง 109.41 จุด จากแรงขาย,วิตกการเมืองสหรัฐ
      ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (5 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนส่งแรงขายเข้ากดดันหุ้นกลุ่มต่างๆ ซึ่งรวมถึงหุ้นกลุ่มสื่อสาร และกลุ่มอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยลบจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ อาทิ ดัชนี PMI ภาคบริการที่ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ขณะที่สถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองในสหรัฐยังคงส่งผลให้ภาวะการซื้อขายเป็นไปอย่างซบเซา
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,180.64 จุด ร่วงลง 109.41 จุด หรือ -0.45% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,629.57 จุด ลดลง 9.87 จุด หรือ -0.37% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,762.21 จุด ลดลง 13.15 จุด หรือ -0.19%
ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดในแดนลบเมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นในกลุ่มต่างๆ รวมถึงหุ้นกลุ่มสื่อสาร กลุ่มสาธารณูปโภค และกลุ่มอุตสาหกรรม
หุ้นบริษัทรับสร้างบ้านร่วงลง หลังจากบริษัทโทลล์ บราเธอร์ส เปิดเผยผลประกอบการที่น่าผิดหวัง โดยหุ้นโทลล์ บราเธอร์ส ดิ่งลงอย่างหนักถึง 7.4% ขณะที่หุ้นพัลท์ กรุ๊ป ร่วงลง 1.3% และหุ้นเลนนาร์ คอร์ป ปรับตัวลง 0.9%
หุ้นทเวนตี้ เฟิร์สต์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ ปรับตัวลง 0.3% หลังจากมีรายงานว่าบริษัทวอลท์ดิสนีย์ ยังคงเดินหน้าเสนอซื้อธุรกิจด้านสื่อของฟ็อกซ์ แม้คู่แข่งรายใหญ่อย่างคอมคาสท์ ยังคงให้ความสนใจก็ตาม ขณะที่หุ้นดิสนีย์ ร่วงลง 2.7% และหุ้นคอมคาสท์ ดิ่งลง 1.9%
ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สร้างแรงกดดันต่อตลาด โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า สหรัฐมีตัวเลขขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 8.6% ในเดือนต.ค. สู่ระดับ 4.87 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. หลังจากที่ขาดดุล 4.49 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนก.ย.
ทางด้านผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) พบว่า ดัชนีภาคบริการของ ISM ปรับตัวลงสู่ระดับ 57.4 ในเดือนพ.ย. จากระดับ 60.1 ในเดือนต.ค. ขณะที่ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 54.5 ในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน จากระดับ 55.3 ในเดือนต.ค.
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยทางการเมืองในสหรัฐ หลังจากนายไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เตรียมให้การซัดทอดนายทรัมป์ว่า เป็นผู้สั่งการให้เขาทำการติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัสเซียในช่วงที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีที่แล้ว
นักลงทุนจับตานายโดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ บุตรชายคนโตของปธน.ทรัมป์ ซึ่งจะเข้าให้การต่อคณะกรรมาธิการข่าวกรองประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ กรณีที่ปธน.ทรัมป์อาจพัวพันกับการที่รัสเซียเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ
ทางด้านเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐกล่าวว่า ปธน.ทรัมป์จะประกาศการตัดสินใจในวันนี้เกี่ยวกับสถานะของกรุงเยรูซาเลม ขณะที่ชาติอาหรับเตือนสหรัฐให้ตระหนักถึงผลกระทบร้ายแรงที่จะตามมา หากสหรัฐให้การยอมรับกรุงเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ซึ่งจะกระทบต่อความรู้สึกของชาวมุสลิมทั้งโลก
นักลงทุนรอดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในวันนี้ ซึ่งได้แก่ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนพ.ย.จาก ADP และผลิตภาพ-ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยไตรมาส 3/2560
ส่วนในวันศุกร์ กระทรวงแรงงานสหรัฐมีกำหนดเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ย.จะเพิ่มขึ้นเพียง 188,000 ตำแหน่ง ซึ่งน้อยกว่าเดือนต.ค.ที่เพิ่มขึ้น 261,000 ตำแหน่ง ขณะเดียวกันคาดว่า อัตราว่างงานเดือนพ.ย.จะขยับขึ้นสู่ระดับ 4.2% จากเดือนต.ค.ที่ระดับ 4.1%
--อินโฟเควสท์
OO1383

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!