WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

57ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้านี้แกว่งสร้างฐานต่างชาติยังขายต่อเนื่อง-ใกล้สิ้นสุดแจ้งงบฯกระตุ้น Sell on fact
     นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะแกว่งสร้างฐานในระดับ 1,680 จุด ได้ มองแนวนี้ค่อนข้างแข็งแกร่งอยู่ เหตุจากนักลงทุนต่างชาติยังขายออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เฉพาะตลาดบ้านเราเท่านั้น แต่หลายตลาดในภูมิภาคก็มีแรงขายออกมาเช่นเดียวกัน
ผลประกอบการงวดไตรมาส 3/60 ออกมาคละเคล้าทั้งดีและไม่ดี ใกล้สิ้นสุดการประกาศงบฯแล้ว ดังนั้นอาจจะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิด Sell on fact ได้ อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นแรงซื้อจากองทุน LTF-RMF เข้ามาบ้างแล้ว และก็ยังคาดหวังงาน SET in the City จะช่วยหนุนตลาดฯ
ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้เคลื่อนไหวทั้งในแดนบวก-ลบกระจายตัว ติดตามความคืบหน้าของแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯต่อไป และให้มองไปที่ประเด็นการเมืองในอังกฤษด้วย
พร้อมให้แนวต้านไว้ที่ 1,695-1,700 จุด
ประเด็นการพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (13 พ.ย.60) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 23,439.70 จุด เพิ่มขึ้น 17.49 จุด (+0.07%), ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 2,584.84 จุด เพิ่มขึ้น 2.54 จุด (+0.10%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,757.60 จุด เพิ่มขึ้น 6.66 จุด (+0.10%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 38.06 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 1.29 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 89.92 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 32.67 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 2.20 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 2.91 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 5.78 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 19.59 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (13 พ.ย.60) 1,687.05 จุด ลดลง 2.23 จุด (-0.13%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,686.30 ล้านบาท เมื่อวันที่ 13 พ.ย.60
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ธ.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (13 พ.ย.60) ปิดที่ระดับ 56.76 ดอลลาร์/บาร์เรล ขยับขึ้น 2 เซนต์ หรือ 0.09%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (13 พ.ย.60) ที่ 7.21 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 33.06 ทรงตัวจากวานนี้ ยังรอปัจจัยใหม่ มองกรอบวันนี้ 33.05-33.12
- บริษัทผู้ประกอบการการขนส่งสินค้าทางเรือได้เข้าหารือและแสดงความสนใจลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 วงเงิน 1.41 แสนล้านบาท เป็นโครงสร้างพื้นฐาน 5.7 หมื่นล้านบาท และการบริหารจัดการท่าเรือ 8.4 หมื่นล้านบาท
- แบงก์ชาติอนุมัติ QR Code ของ 5 แบงก์ "กรุงเทพ-กสิกรฯ-กรุงไทย-ไทยพาณิชย์-ออมสิน"ออกจาก Sandbox พร้อมให้บริการทั่วไปได้ และเดินหน้าทดสอบบริการต่อยอดในส่วนอื่น ขณะที่วีซ่ารับไลเซนส์เป็นเครือข่ายบัตรเดบิตในไทย พร้อมเดินหน้าให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านผลิตภัณฑ์วีซ่าอย่างสมบูรณ์แบบ
- ขณะนี้การลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ (ไบโออีโคโนมี) ระยะแรกในรูปแบบประชารัฐ มูลค่า 400,000 ล้านบาท ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ระหว่างปี 2560-2569 มีความคืบหน้าอย่างมาก เพราะเอกชนรายใหญ่ของไทยเป็นตัวนำ อย่างบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และกลุ่มมิตรผล มีการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม โดยปี 2560 ลงทุนแล้ว คาดว่าจนถึงปี 2561 จะลงทุนประมาณ 56,000 ล้านบาท และจากแผนที่กำหนดไว้ปี 2562-2564 จะลงทุนอีกประมาณ 172,000 ล้านบาท อาทิ โครงการการผลิตร่วมที่ใช้เทคโนโลยีที่มีความดันสูง (ไฮ เพรชเชอร์ โค-เจเนอเรชั่น) 75,000 ล้านบาท ก่อตั้งนิคมไบโอชีวภาพ 15,000 ล้านบาท ก่อสร้างโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพ และตั้งสถาบันเพื่อการค้นคว้ารวมประมาณ 14,000 ล้านบาท และระหว่างปี 2565-2569 จะลงทุนอีก 152,000 ล้านบาท
- คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันวาง 4 เป้าหมาย ฝันในอีก 20 ปีข้างหน้าคนไทยมีรายได้เฉลี่ยในระดับประเทศพัฒนาแล้ว จีดีพีขยายตัวปีละ 5% ผลิตภาพการผลิตรวมไม่ต่ำกว่า 3% ติด 1 ใน 20 อันดับความสามารถแข่งขันของไอเอ็มดี จากปัจจุบันอันดับ 27
*หุ้นเด่นวันนี้
- STANLY (ธนชาต) "ซื้อ" เป้า 320 บาท แม้ปรับคาดการณ์กำไรปี 2561 (เม.ย.60-มี.ค.61) ลง 4% เนื่องจากอัตรากำไรที่ลดลงจากช่วงที่สายการผลิตใหม่เริ่มดำเนินการผลิต อย่างไรก็ดีด้วยแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์เร่งตัว, ส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้น, และความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์โคมไฟรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นเพิ่มโอกาสทำกำไร เราปรับประมาณการกำไรปี 2562-2563 ขึ้น 6-9% ด้วยการเติบโตกำไร 20-24% ปี 2561-2562, PE61 11.3x, PBV61 1.2x เป็นทั้ง value + growth play
- PSH (ทรีนีตี้) "ซื้อ"เป้า 25.40 บาท รายงานกำไรสุทธิ Q3/60 ที่ 1.29 พันล้านบาท ปรับตัวลดลง 26% QoQ แต่เพิ่มขึ้น 39% YoY โดย Gross Profit Margin อยู่ที่ 36.4% ปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 33.7% ทั้งนี้ Presales 9M60 รวมอยู่ที่ 3.8 หมื่นล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้น 9.8% YoY โดยได้รับการสนับสนุนจากการเปิดคอนโดที่มีการเติบโตถึง 54% YoY โดยยอดขายกลุ่ม Premium จะเป็นตัวชูโรงสำหรับยอด Presales โดยยังคงคาดรายได้ปี 2560 ที่ 4.87 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิ 6.74 พันล้านบาท จากโครงการใน Inventory ที่ 183 โครงการมูลค่ารวม 1.91 แสนล้านบาท ที่จะมาช่วยสนับสนุนยอดโอนใน Q4/60 ประกอบกับโครงการแนวราบที่ทำการเปิดตัวไปในช่วงที่ผ่านมา
- CPALL (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 86 บาท กำไรสุทธิ Q3/60 อยู่ที่ 4.97 พันลบ. +7% Q-Q, +21% Y-Y แม้เป็น Low Season แต่ Stamp Promotion ประสบความสำเร็จดีมาก ทำให้ SSSG +2.4% Y-Y จาก -1% Y-Y ใน Q2/60 ส่วนสาขาใหม่เปิดเพิ่มอีก 145 แห่ง และอัตรากำไรขั้นต้นขยับขึ้นเป็น 22.4% จาก 22.2% ใน 2Q17 และ 22.1% ใน Q3/59 แนวโน้ม Q4/60 จะทำจุดสูงสุดของปีที่ 5.1 พันลบ. เพราะเป็น High Season และ MAKRO จะได้ผลดีจากช้อปช่วยชาติ โดยได้ปรับกำไรปี 2560-2561 ขึ้นเพื่อสะท้อนงบที่ดีกว่าคาด
 
ตลาดหุ้นเอเชียผันผวนเช้านี้ นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจจีน
      ตลาดหุ้นเอเชียผันผวนในช่วงเช้าวันนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจจีน ได้แก่ ยอดค้าปลีกเดือนต.ค., การผลิตภาคอุตสหกรรมเดือนต.ค. และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเดือนต.ค.
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 22,342.93 จุด ลดลง 38.06 จุด, -0.17% ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,446.55 จุด ลดลง 1.29 จุด, -0.04% ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 29,272.10 จุด เพิ่มขึ้น 89.92 จุด, +0.31% ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 10,716.59 จุด เพิ่มขึ้น 32.67 จุด, +0.31% ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,532.55 จุด เพิ่มขึ้น 2.20 จุด, +0.09% ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,422.04 จุด เพิ่มขึ้น 2.91 จุด, +0.09% ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,743.27 จุด เพิ่มขึ้น 5.78 จุด, +0.33% ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เปิดวันนี้ที่ 8,349.61 จุด เพิ่มขึ้น 19.59 จุด, +0.24%
ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานในวันนี้ว่า ยอดค้าปลีกเดือนต.ค.ขยายตัว 10% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนยอดค้าปลีกในช่วงเดือนม.ค.-ต.ค. ขยายตัว 10.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี
ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค.ของจีน ขยายตัว 6.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนก.ย.ที่มีการขยายตัว 6.6%
 
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดขยับลง 17.81 จุด ขณะตลาดวิตกสถานการณ์การเมืองอังกฤษ
       ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลดลงในกรอบจำกัดเมื่อคืนนี้ (13 พ.ย.) ด้วยอานิสงส์จากสกุลเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลง สืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในอังกฤษ หลังสื่อท้องถิ่นรายงานว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหราชอาณาจักรจำนวน 40 คนได้ลงชื่อในหนังสือขอยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ซึ่งทำให้ขณะนี้เหลืออีกเพียงอีก 8 รายชื่อก็จะสามารถเริ่มกระบวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวผู้นำหญิงอังกฤษได้อย่างเป็นทางการ
ดัชนี FTSE 100 ลดลง 17.81 จุด หรือ -0.24% ปิดที่ 7,415.18 จุด
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นลอนดอนเมื่อคืนนี้ ได้รับอานิสงส์จากสกุลเงินปอนด์ที่ร่วงลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐและยูโร สืบเนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองในอังกฤษ หลังส.ส.อังกฤษเตรียมยื่นขออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ เทเรซา เมย์ ซึ่งถือเป็นการกดดันนางเมย์ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ
ปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3104 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3191 ดอลลาร์ที่ตลาดนิวยอร์กในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับยูโร ที่ระดับ 1.1238 ยูโร จากระดับ 1.1309 ยูโร ทั้งนี้การอ่อนค่าของสกุลเงินปอนด์จะเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นกลุ่มบริษัทข้ามชาติ ซึ่งมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจในต่างประเทศ โดยบริษัทเหล่านี้จะมีผลกำไรมากขึ้น หากนำเงินรายได้ในรูปของเงินตราต่างประเทศไปแลกเป็นสกุลเงินปอนด์
หุ้นกลุ่มบริษัทข้ามชาติที่น่าจับตา หุ้นแอสตราเซเนกา ผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์รายใหญ่ พุ่งขึ้น 1.2% และหุ้นยูนิลีเวอร์ บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคระดับชั้นนำ ขยับขึ้น 0.8%
หุ้นรอยัล ดัทช์ เชลล์ ขยับขึ้น 0.8% หลังบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่รายนี้เปิดเผยว่าสามารถระดมเงินทุนได้ทั้งสิ้น 2.2 พันลันดอลลาร์ออสเตรเลีย จากการขายหุ้นจำนวน 71.6 ล้านหุ้นในบริษัทวู้ดไซด์ ปิโตรเลียม
 
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดลบ วิตกการเมืองอังกฤษ,สถานการณ์ Brexit
       ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (13 พ.ย.) เนื่องจากความวิตกกังวลที่ว่า อังกฤษอาจจะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับทางสหภาพยุโรป (EU) เกี่ยวกับการการแยกตัวออกจาก EU (Brexit) รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศอังกฤษ อันเนื่องมาจากข่าวที่ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหราชอาณาจักรจำนวน 40 คนได้ลงชื่อในหนังสือขอยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.7% ปิดที่ 386.13 จุด ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,341.63 จุด ลดลง 39.09 จุด หรือ -0.73% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 13,074.42 จุด ลดลง 53.05 จุด หรือ -0.40% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,415.18 จุด ลดลง 17.81 จุด หรือ -0.24%
ตลาดหุ้นยุโรปได้รับปัจจัยกดดันจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับ Brexit หลังจากนายโทมัส สเตฟเฟน รมช.คลังเยอรมนี กล่าวเมื่อวานนี้ว่า เขามีความวิตกว่าอังกฤษจะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับทางสหภาพยุโรป (EU) เกี่ยวกับการการแยกตัวออกจาก EU
ทั้งนี้ ผู้นำ EU มีกำหนดจัดการประชุมสุดยอดในวันที่ 14-15 ธ.ค. เพื่อพิจารณาดูว่ามีความคืบหน้าในการเจรจาเพียงพอที่จะยกระดับการเจรจาไปสู่ประเด็นความสัมพันธ์ทางการค้ากับอังกฤษหรือไม่ ซึ่งผู้นำ EU ระบุว่าจะต้องมีความคืบหน้าในการเจรจาใน 3 ประเด็น ก่อนที่จะมีการเจรจาประเด็นความสัมพันธ์ทางการค้ากับอังกฤษ
นอกจากนี้ ตลาดยังวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในอังกฤษ หลังจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหราชอาณาจักรจำนวน 40 คนได้ลงชื่อในหนังสือขอยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ซึ่งทำให้ขณะนี้เหลืออีกเพียงอีก 8 รายชื่อก็จะสามารถเริ่มกระบวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวผู้นำหญิงอังกฤษได้อย่างเป็นทางการ
หุ้นแอสตราเซเนกา ผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์รายใหญ่ พุ่งขึ้น 1.2% และหุ้นยูนิลีเวอร์ บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคระดับชั้นนำ ขยับขึ้น 0.8%
หุ้นรอยัล ดัทช์ เชลล์ ขยับขึ้น 0.8% หลังบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่รายนี้เปิดเผยว่าสามารถระดมเงินทุนได้ทั้งสิ้น 2.2 พันลันดอลลาร์ออสเตรเลีย จากการขายหุ้นจำนวน 71.6 ล้านหุ้นในบริษัทวู้ดไซด์ ปิโตรเลียม
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดบวก 17.49 จุด รับแรงซื้อหุ้นสินค้าผู้บริโภค
      ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดดีดตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (13 พ.ย.) จากแรงซื้อที่ส่งเข้าหนุนหุ้นกลุ่มสินค้าเพื่อผู้บริโภค ซึ่งรวมถึงหุ้นแมทเทล และหุ้นไทสัน ฟู้ดส์ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการบังคับใช้กฎหมายปฏิรูปภาษีของสหรัฐ และจากข่าวที่ว่าบริษัทเจเนอรัล อิเลคทริค (GE) ประกาศปรับลดการจ่ายเงินปันผลรายไตรมาสลง 50%
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 23,439.70 จุด เพิ่มขึ้น 17.49 จุด หรือ +0.07% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,584.84 จุด เพิ่มขึ้น 2.54 จุด หรือ +0.10% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,757.60 จุด เพิ่มขึ้น 6.66 จุด หรือ +0.10%
หุ้นกลุ่มสินค้าเพื่อผู้บริโภคพุ่งขึ้น และเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดในแดนบวก โดยหุ้นแมทเทล ผู้ผลิตของเล่นรายใหญ่ของสหรัฐ ทะยานขึ้น 20.7% หลังจากมีรายงานว่า บริษัทแฮสโบร ซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่งและเจ้าของลิขสิทธิ์การ์ตูนยอดฮิต "My Little Pony" ให้ความสนใจที่จะเข้าซื้อกิจการของแมทเทล ขณะที่ข่าวดังกล่าวช่วยหนุนหุ้นแฮสโบร พุ่งขึ้น 5.9%
หุ้นไทสัน ฟู้ดส์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเนื้อรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ปรับตัวขึ้น 2% หลังจากบริษัทเปิดเผยรายได้ในช่วงไตรมาส 4 ของปีงบการเงินของบริษัทที่สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. พุ่งขึ้น 10.8% สู่ระดับ 1.015 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 9.89 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่กำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 1.43 ดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 1.38 ดอลลาร์
หุ้นควอลคอม อิงค์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิพสำหรับสมาร์ทโฟน ดีดตัวขึ้น 3% หลังจากควอลคอมปฏิเสธข้อเสนอซื้อกิจการจากบริษัทบรอดคอม ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิพในธุรกิจสื่อสาร โดยมองว่ามีมูลค่าต่ำเกินไป และมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานควบคุมการผูกขาดตลาด
ทางด้านบริษัทบรอดคอมได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า บริษัทยังคงมีความมุ่งมั่นในการซื้อกิจการของบริษัทควอลคอม อิงค์ แม้ว่าควอลคอมได้ปฏิเสธข้อเสนอซื้อกิจการจากบรอดคอมก็ตาม
หุ้นโบอิ้ง ดีดตัวขึ้น 0.6% ขานรับรายงานที่ว่า โบอิ้งได้รับคำสังซื้อเครื่องบินจากสายการบินอาหรับ เอมิเรตส์ มูลค่า 1.5 พันล้านดอลาร์
อย่างไรก็ตาม หุ้น GE ร่วงลง 7.2% ซึ่งเป็นปัจจัยสกัดแรงบวกในตลาด หลังจากบริษัท GE ได้ประกาศปรับลดการจ่ายเงินปันผลรายไตรมาสลง 50% สู่ระดับ 12 เซนต์/หุ้น จากเดิมที่ 24 เซนต์/หุ้น โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนธ.ค. ขณะที่นายจอห์น แฟลนเนอรี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ GE กล่าวว่า การตัดสินใจดังกล่าวเป็นเรื่องที่ยากลำบาก แต่มีความจำเป็น ในการบริหารกระแสเงินสดของบริษัท
นอกจากนี้ ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กยังคงได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลที่ว่า การบังคับกฎหมายปฏิรูปภาษีของคณะทำงานประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจเป็นไปอย่างล่าช้า หลังจากสมาชิกพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาเสนอให้มีการชะลอการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 35% สู่ระดับ 20% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงปี 2562 นอกจากนี้ ร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับของวุฒิสภายังมีเนื้อหาแตกต่างจากฉบับของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอาจทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดลงมติต่อร่างกฎหมายดังกล่าวในสัปดาห์นี้
ทั้งนี้ การชะลอการบังคับใช้มาตรการปรับลดอัตราภาษีดังกล่าว ถือเป็นการสวนทางความตั้งใจของปธน.ทรัมป์ ที่ต้องการให้การปรับลดอัตราภาษีมีผลบังคับใช้โดยทันทีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ นอกจากนี้ ยังอาจจะส่งผลให้บริษัทของสหรัฐที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศเลื่อนการตัดสินใจย้ายฐานกลับสู่สหรัฐ เนื่องจากต้องการรอให้การปรับลดอัตราภาษีมีผลบังคับใช้
นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนต.ค., ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนพ.ย.จากเฟดนิวยอร์ก, ยอดค้าปลีกเดือนต.ค., ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนต.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนก.ย., ราคานำเข้าและส่งออกเดือนต.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค. และตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาก่อสร้างเดือนต.ค.
--อินโฟเควสท์
OO2311

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!