- Details
- Category: หุ้นเด่นวันนี้
- Published: Friday, 30 June 2017 12:32
- Hits: 3556
ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้านี้ย่อตัวลงตามตลาดตปท.หลังนโยบายการเงิน BoE-ECB ส่อแววเข้มงวดขึ้นเร็วกว่าที่คาด
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะย่อตัวลงในทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดในยุโรปได้ปรับตัวลง 1-2% เมื่อคืนที่ผ่านมา จากแรงขายหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีที่ออกมาต่อเนื่องหลังจากที่ได้ปรับตัวขึ้นไปสูง และมีการเทรด P/E สูง และเช้านี้ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียต่างก็อยู่ในแดนลบกันเป็นส่วนใหญ่
นอกจากนี้ นโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) และธนาคารกลางในยุโรป (ECB) ส่อแววที่จะเข้มงวดมากขึ้นด้วย ซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้ รวมไปถึงหุ้นไทยก็เจอแรงขายออกมาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ตลาดบ้านเราอาจมีแรงเก็งกำไรหุ้นที่จะเข้าใน SET50 และ SET100 ได้ เนื่องจากจะมีผลในสัปดาห์หน้า พร้อมให้ติดตามตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่จะประกาศในวันนี้ และตัวเลข PMI ภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรมของจีนที่จะออกในวันนี้ด้วย
พร้อมให้แนวรับ 1,574 ถัดไป 1,570-1,565 จุด ส่วนแนวต้านให้ไว้ที่ 1,584-1,585 จุด
ประเด็นการพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (29 มิ.ย.60) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 21,287.03 จุด ร่วงลง 167.58 จุด (-0.78%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 6,144.35 จุด ลดลง 90.06 จุด (-1.44%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,419.70 จุด ลดลง 20.99 จุด (-0.86%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 194.67 จุด,ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 13.51 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 285.78 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 11.11 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ลดลง 13.15 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 54.39 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 1.04 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 14.86 จุด, ดัชนี S&P/ASX 200 ตลาดหุ้นออสเตรเลีย ไม่เปลี่ยนแปลง
ส่วนตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ปิดทำการวันนี้ (30 มิ.ย.) เนื่องในเทศกาลฮารีรายออีฏิ้ลฟิตริ
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (29 มิ.ย.60) 1,578.12 จุด ลดลง 4.51 จุด (-0.28%)
- นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 2,913.55 ล้านบาท เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.60
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ส.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (29 มิ.ย.60) ปิดที่ 44.93 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 19 เซนต์ หรือ 0.4%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (29 มิ.ย.60) ที่ 6.87 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 33.99 คาดวันนี้แกว่งในกรอบ 33.90-34.05 รอปัจจัยใหม่
- คลังประเมินเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ขยายตัวต่อเนื่องไตรมาส 2 โตมากกว่า 3.3% จ่อปรับเพิ่มจีดีพีทั้งปีใหม่คาดโตเกิน 3.6% เบิกจ่ายงบลงทุนรัฐและส่งออกจะมีส่วนสำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ให้โต ด้าน "พาณิชย์" มั่นใจผลักดันเป้าส่งออก 5% ปีนี้ รับห่วงนโยบายการค้าโลกฉุดส่งออก
- บอร์ด สศช. เห็นชอบรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-นครราชสีมา เตรียมเสนอ ครม. อนุมัติ 11 ก.ค.นี้ ด้านสภาวิศวกรและสภาสถาปนิก เคาะเกณฑ์อบรม-ทดสอบ "วิศวกรจีน" แล้ว คาดเริ่มทดสอบชุดแรก 20-30 คน ปลายเดือน ก.ค.เพื่อเริ่มตอกเข็มช่วง 3.5 กม.แรก
- โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่กิจการร่วมค้าบีบีซีดีเป็นโจทก์ยื่นฟ้องการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นจำเลย พร้อมเรียกค่าเสียหาย 9,683.6 ล้านบาท โดยศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้อง เท่ากับ กทพ.ชนะคดี
- ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 ว่า รัฐบาลมีรายได้ส่งคลังทั้งสิ้นจำนวน 1.415 ล้านล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 2.032 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 4.04 แสนล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมามีจำนวนทั้งสิ้น 2.31 แสนล้านบาท
- สศค.เผยเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ค.โตต่อเนื่อง จากแรงหนุนภาคส่งออก และท่องเที่ยว ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนดีขึ้น สะท้อนจาก การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวเป็นบวก และ รายได้ที่แท้จริงของเกษตรกรที่ยังคงขยายตัว
- กสทช.เรียก 47 บริษัทยอดซื้อโฆษณาสูงแจงมาตรการโอทีที วอนอย่าซื้อกับผู้ที่ไม่ลงทะเบียน ชี้หากไม่ให้ความร่วมมือจะแจ้ง ตลท.ข้อหาไร้ธรรมาภิบาล เผยเตรียมฟ้องสถานทูตสหรัฐ หากเฟซบุ๊ก-ยูทูบเป็นบริษัทเถื่อนเพราะไม่ลงทะเบียนในไทย
*หุ้นเด่นวันนี้
- CK (ไอร่า) เป้า 39 บาท อยู่ระหว่างรอลงนามสัญญางาน “Supply and Installation of M&E System" เส้นทางต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มูลค่าประมาณ 19,643 ล้านบาท หลัง YTD ได้รับงานใหม่ เข้ามามูลค่ารวม 28,494 ล้านบาท ล่าสุดมี Backlog จำนวน 76,160 ล้านบาท หลังลงนามโครงการข้างต้น คาดทำให้ Backlog เพิ่มขึ้นสูงเกือบ 100,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่แข็งแกร่งเพียงพอต่อการรับรู้รายได้ไม่ต่ำกว่า 2 ปีข้างหน้า ขณะที่ CK มีเป้าหมายงานเพิ่มไม่ต่ำกว่า 20% ของโครงการที่เข้าร่วมประมูล ทางด้านผลการดำเนินงานคาดเข้าสู่ปกติ จากความสามารถในการทำกำไรจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ที่คาดควบคุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป้าหมาย Gross Profit Margin ประมาณ 8–10% และรายได้เงินปันผลจากบริษัทที่ร่วมลงทุนสม่ำเสมอขึ้น คาดราว 1,000 ล้านบาท/ปี รวมถึงความสามารถของ CK ในการรับงานทุกประเภท
- ARROW (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 21.40 บาท คาดผลประกอบการผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดย 2H60 กำไรจะขยายตัวเร็วจากท่อร้อยสายไฟใต้ดินและการรับรู้งานวางระบบของบริษัทลูก ขณะที่การเร่งลงทุนของภาครัฐฯ จะหนุนให้โตต่อเนื่องใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างกำไรต่อหุ้นกับราคาหุ้นที่สูงถึง 70% ทำให้คาดว่าราคาหุ้นจะผ่านจุดต่ำสุดของรอบด้วยเช่นกัน PE2560 ที่ 13 เท่า ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 18 เท่า
- CPALL (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 74 บาท คาดกำไรสุทธิ 2Q60 ทรงตัว Q-Q และโต 14%Y-Y โดยคาดยอดขายเฉลี่ยต่อสาขาเดิม -1%Y-Y จากกำลังซื้อที่ทรงตัว Q-Q และฐานที่สูงในปีก่อน รวมถึงฝนที่ตกเร็วกว่าปกติ ซึ่งถ้าเป็นไปตามคาด กำไรสุทธิ 1H60 จะโต 15.7% Y-Y และคิดเป็นสัดส่วน 48% ของประมาณการทั้งปี โดยยังคาด Stamp Promotion น่าจะช่วยหนุนการเติบโตของผลประกอบการในช่วง 2H60 ให้เป็นไปตามเป้า โดยล่าสุด CPALL ได้ออก Perpetual Bond ครั้งที่ 2 เพื่อ Refinance หนี้เดิม คาดทำให้ Net D/E ลดเหลือ 1.7 เท่าจาก 2 เท่า
- ANAN (เคทีบี) "ซื้อ"เป้า 6 บาท คาดยอด Presales งวด 2Q60 มีลุ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ หลังจากโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดตัวใหม่ในช่วงครึ่งหลังของเดือน มิ.ย. จำนวน 5 โครงการได้รับการตอบรับที่ดีมาก โดยเฉพาะโครงการ Ideo Q Victory สามารถขายได้หมดทั้งโครงการ (Sold Out) และคาดว่าเฉพาะยอด Presales รวมทั้ง 5 โครงการดังกล่าวจะสูงถึง 9 พันล้านบาท ด้านกำไรสุทธิงวด 2Q60 อาจยังไม่เด่น อย่างไรก็ตาม คาดว่ากำไรสุทธิจะดีขึ้นต่อเนื่องใน 3Q60 –4Q60 เนื่องจากจะมีโครงการใหม่เริ่มโอนถึง 9 โครงการ โดยยังคงคาดว่ากำไรสุทธิรวมทั้งปี 2560 จะทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 1,866 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% และคาดยังเติบโตสูงต่อเนื่องในปี 2561 ที่ 22%
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดลบ 37.48 จุด เหตุเงินปอนด์แข็งค่า
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดในแดนลบเมื่อคืนนี้ (29 มิ.ย.) ด้วยแรงกดดันจากค่าเงินสกุลปอนด์ที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากนายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ได้ส่งสัญญาณถึงความจำเป็นที่จะต้องยกเลิกมาตรการกระตุ้นทางการเงิน
ดัชนี FTSE 100 ลดลง 37.48 จุด หรือ -0.51% ปิดที่ 7,350.32 จุด
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นลอนดอนเมื่อคืนนี้ยังคงได้รับปัจจัยลบจากการที่สกุลเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากนายคาร์นีย์ ผู้ว่าการ BoE กล่าวว่า BoE มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเศรษฐกิจกำลังขยายตัวใกล้เต็มศักยภาพ โดย BoE จะหารือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า
ค่าเงินปอนด์พุ่งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สู่ระดับ 1.2981 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2927 ดอลลาร์ ที่ตลาดนิวยอร์กในคืนวันพุธ ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินปอนด์ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ในต่างประเทศของบริษัทข้ามชาติที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน
หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ปรับตัวขึ้นตามทิศทางของราคาทองแดงและแร่โลหะอื่นๆที่ปรับตัวขึ้น สืบเนื่องจากการอ่อนค่าลงของดอลลาร์เมื่อคืนนี้ โดยหุ้นแองโกล อเมริกัน เพิ่มขึ้น 1.7% หุ้นเกลนคอร์ พุ่งขึ้น 2.2% และหุ้นแอนโตฟากาสตา พุ่งขึ้น 3.9%
หุ้นจดทะเบียนรายใหญ่ที่น่าจับตา หุ้นเทสโก้ขยับขึ้น 0.2% หลังมีรายงานว่า เทสโก้ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการกำกับดูแลการแข่งขันของอังกฤษ เพื่อให้เร่งพิจารณาอนุมัติข้อเสนอขอซื้อกิจการบุ๊คเกอร์ กรุ๊ป
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดลบ วิตกเงินยูโรแข็งกดดันอุตสาหกรรมส่งออก
ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (29 มิ.ย.) เนื่องจากความวิตกกังวลที่ว่า การแข็งค่าของสกุลเงินยูโรอาจสร้างแรงกดดันต่ออุตสหกรรมการส่งออกของยุโรป อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มธนาคารได้รับปัจจัยหนุนจากรายงานที่ว่า ธนาคารพาณิชย์ 34 แห่งของสหรัฐ ผ่านการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test)
ดัชนี Stoxx Europe 600 ร่วงลง 1.3% ปิดที่ 380.66 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,154.35 จุด ลดลง 98.55 จุด หรือ -1.88% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,416.19 จุด ดิ่งลง 231.08 จุด หรือ -1.83% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,350.32 จุด ลดลง 37.48 จุด หรือ -0.51%
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นยุโรปได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินยูโร เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่า การแข็งค่าของสกุลเงินยูโรอาจสร้างแรงกดดันต่ออุตสหกรรมการส่งออกของยุโรป
การแข็งค่าของสกุลเงินยูโรได้สกัดปัจจัยบวกจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังจากมีรายงานวย่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้อนุมัติให้ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐทั้ง 34 แห่ง สามารถเดินหน้าแผนเพิ่มการจ่ายเงินปันผล และซื้อหุ้นคืนได้ หลังจากที่ธนาคารเหล่านี้ได้ผ่านการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ประจำปีรอบที่ 2 ของเฟด ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี
ทั้งนี้ หุ้นดอยซ์แบงก์ ปรับตัวขึ้น 0.5% หุ้นบาร์เคลย์ส พุ่งขึ้น 1% และหุ้นเอชเอสบีซี ทะยานขึ้น 4.2%
หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ปรับตัวผันผวน โดยหุ้นอันโตฟากัสตา พุ่งขึ้น 2.1% หุ้นเกลนคอร์ พุ่งขึ้น 2.2% หุ้นอาร์เซลอร์มิททัล ร่วงลง 1.1% และหุ้นนอร์ค ไฮโดร เอเอสเอ ปรับตัวลง 0.7%
นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) หลังจากนายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการ BoE ส่งสัญญาณถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการยกเลิกมาตรการกระตุ้นทางการเงิน โดยกล่าวว่า มีแนวโน้มที่ BoE จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเศรษฐกิจกำลังขยายตัวใกล้เต็มศักยภาพ โดย BoE จะหารือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า
ขณะที่นายมาริโอ ดรากี ประธาน (ECB ก็ได้ส่งสัญญาณเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน โดยกล่าวว่า ECB ควรปรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ และนโยบายซื้อพันธบัตรจำนวนมาก ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : หุ้นเทคโนโลยีดิ่งหนัก ฉุดดาวโจนส์ปิดร่วง 167.58 จุด
ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (29 มิ.ย.) โดยดาวโจนส์ และ S&P500 ปรับตัวลงหนักสุดในรอบ 6 สัปดาห์ หลังจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลง ซึ่งได้สกัดปัจจัยบวกจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 1 ของสหรัฐที่ขยายตัวแข็งแกร่งกว่าการคาดการณ์
ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 21,287.03 จุด ร่วงลง 167.58 จุด หรือ -0.78% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,419.70 จุด ลดลง 20.99 จุด หรือ -0.86% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,144.35 จุด ลดลง 90.06 จุด หรือ -1.44%
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงอย่างหนักของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยหุ้นเฟซบุ๊ก ร่วงลง 1.4% หุ้นอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล ร่วงลง 2.4% หุ้นแอดวานซ์ ไมโคร ดิไวซ์ ดิ่งลง 4.8% หุ้นแลม รีเสิร์ช ร่วงลง 3.7% หุ้นแอปเปิล ปรับตัวลง 1.5%
นักวิเคราะห์จากฟีนิกซ์ ไฟแนนเซียล เซอร์วิสกล่าวว่า ปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในขณะนี้ มาจากความวิตกกังวลที่ว่า หุ้นบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อาจมีมูลค่าสูงเกินไป และมีแนวโน้มที่จะเผชิญความผันผวนหากเศรษฐกิจชะลอตัวลง ขณะที่นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งมองว่า หุ้นเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งและอยู่ในช่วงขาขึ้นมานานแล้ว นักลงทุนจึงเริ่มมองหาเหตุผลที่จะขายทำกำไร
ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเป็นกลุ่มที่ทะยานขึ้นมากที่สุดตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยพุ่งขึ้นมากกว่า 15% แต่ในเดือนนี้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีได้ร่วงลงไปแล้วเกือบ 2%
การร่วงลงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีได้สกัดปัจจัยบวกจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร และรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐซึ่งระบุว่า ตัวเลขประมาณครั้งที่ 3 ของจีดีพีประจำไตรมาส 1 อยู่ที่ระดับ 1.4% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 1.2%
หุ้นโกลด์แมน แซคส์ ปรับตัวขึ้น 0.5% หุ้นเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค พุ่งขึ้น 1.5% หุ้นซิตี้กรุ๊ป พุ่งขึ้น 2.8% หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ปรับตัวขึ้น 1.8% และหุ้นเรเจียนส์ ไฟแนนเชียล พุ่งขึ้น 4%
สำหรับ ปัจจัยที่ช่วยหนุนหุ้นกลุ่มธนาคารพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งนั้น มาจากรายงานที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้อนุมัติให้ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐทั้ง 34 แห่ง สามารถเดินหน้าแผนเพิ่มการจ่ายเงินปันผล และซื้อหุ้นคืนได้ หลังจากที่ธนาคารเหล่านี้ได้ผ่านการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ประจำปีรอบที่ 2 ของเฟด ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี
นักลงทุนจับตาทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) หลังจากนายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการ BoE ส่งสัญญาณถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการยกเลิกมาตรการกระตุ้นทางการเงิน โดยกล่าวว่า มีแนวโน้มที่ BoE จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเศรษฐกิจกำลังขยายตัวใกล้เต็มศักยภาพ โดย BoE จะหารือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า
ขณะที่นายมาริโอ ดรากี ประธาน (ECB ก็ได้ส่งสัญญาณเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน โดยกล่าวว่า ECB ควรปรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ และนโยบายซื้อพันธบัตรจำนวนมาก ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในวันนี้ ซึ่งได้แก่ การใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนพ.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
อินโฟเควสท์