WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

20 ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้านี้อ่อนตัวลง จากราคาน้ำมันโลกดิ่ง-MSCI ดึงหุ้นจีน A-Share เข้าคำนวณกดดัน

        นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้น่าจะย่อตัวลงมาจากปัจจัยราคาน้ำมันโลกดิ่งลงต่ำสุดในรอบ 9 เดือน และผลกระทบจาก MSCI จะนำหุ้นจีน A-Share เข้ารวมใน MSCI Emerging Markets Index เข้าคำนวณดัชนีโดยจะมีผลกลางปี 61 จะกดดันตลาดหุ้นภูมิภาคนี้ ซึ่งส่งผลต่อการลงทุน โดยเฉพาะตลาดหุ้นเกาหลีใต้ และฮ่องกงที่มีน้ำหนักมากใน MSCI ส่วนของไทยคาดว่ารับผลกระทบไม่มาก เพราะหุ้นไทยมีสัดส่วนในดัชนี MSCI ราว 2.4%

       ให้แนวรับแรกที่ 1,573-1,579 จุด แนวรับถัดไปที่ 1,570 จุดบวกลบ ส่วนแนวต้านให้ไว้ที่ 1,584 จุด

ประเด็นการพิจารณาการลงทุน

       - ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (20 มิ.ย.60) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 21,467.14 จุด ลดลง 61.85 จุด (-0.29%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 6,188.03 จุด ลดลง 50.98 จุด (-0.82%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,437.03 จุด ลดลง 16.43 จุด (-0.67%)

         - ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 38.25 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน เพิ่มขึ้น 8.98 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 90.77 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 13.49 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 11.00 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 16.75 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 0.40 จุด

                - ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (20 มิ.ย.60) 1,578.62 จุด ลดลง 2.52 จุด (-0.16%)

                - นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 612.64 ล้านบาท เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.60

                - ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (20 มิ.ย.60) ปิดที่ 43.23 ดอลลาร์/บาร์เรล  ร่วงลง 97 เซนต์ หรือ 2.2%

                - ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (20 มิ.ย.60) ที่ 6.50 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

                - เงินบาทเปิด 34.01 อ่อนค่าหลังดอลล์แข็งขานรับถ้อยแถลงประธานเฟด นิวยอร์กส่งสัญญาณขึ้นดบ.

                - MSCI นำ A-shares เข้า MSCI’s global emerging-market โดยมีหุ้นที่ผ่านเข้าเกณฑ์ 222 บริษัท คาดว่าจะมีน้ำหนักราว 0.7% เริ่ม พ.ค. 18 ถือเป็นปัจจัยลบกับตลาด EM ซึ่งรวมถึง SET จากโอกาสที่เม็ดเงินบางส่วนจะถูกปันเข้า A-shares ซึ่งหุ้นที่มีน้ำหนักมากสุด คือสถาบันการเงิน 23% และกลุ่มการบริโภค 15%

                - คสช.ไฟเขียว ม.44 ปลดล็อกที่ดิน ส.ป.ก.ครอบคลุมที่ดิน 3.6 พันไร่ ใน 3 กิจการปิโตรเลียม กังหันลม และกิจการเหมืองแร่เฉพาะที่มีสัญญาการใช้ที่ดินภัยรัฐ ส่วนที่ดินที่จะขออนุญาตใช้ประโยชน์ในอนาคตให้คำนึงถึงความสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติด้านเลขาฯ ส.ป.ก.เตรียมเสนอกฎกระทรวงรองรับ

                - ครม.ไฟเขียวงบกลางฯปี 60 จำนวน 212 ล้านบาท ใช้จ่ายเป็นค่าบริหารสำนักงานอีอีซี กระทรวงอุตสาหกรรมชี้ช่วยขับเคลื่อน 8 แผนงานหลัก

                - โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เหตุที่ต้องใช้มาตรา 44 เร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีนนั้น ขอชี้แจงว่าโครงการนี้ไม่ได้เป็นโครงการใหม่ แต่เริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นโครงการยุทธศาสตร์ที่ผูกพันระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล หากไม่ดำเนินการต่อประเทศต่างๆ จะไม่เชื่อมั่นต่อประเทศไทย

                - บลูมเบิร์กรายงานอ้างข้อมูลของที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังก์ถัด) ว่า ภาคเอกชนไทยขนเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2559 ที่ผ่านมาถึง 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 4.4 แสนล้านบาท) โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า และการเติบโตในประเทศที่ชะลอตัวลง

                - ไตรมาส 3 กรอ.เร่งกระตุ้นผู้ประกอบการแปลงเครื่องจักรเป็นทุน สำหรับเอสเอ็มอีที่ต้องการปรับเปลี่ยน-ลงทุนเพิ่ม กู้ได้สูงสุดถึง 15 ล้าน แถมจ่ายดอกเบี้ยต่ำและยกเว้นภาษีขาเข้า ดึง 5 ธนาคารปล่อยสินเชื่อกว่า 1 หมื่นล้าน ด้าน สมอ.คลอด 13 มาตรฐาน รองรับนโยบายรัฐหนุนผลิตสินค้านวัตกรรม

*หุ้นเด่นวันนี้

                - KKP (ธนชาต) "ซื้อ"เป้า 75 บาท แรงกดดันเงินเฟ้อต่ำหนุนดอกเบี้ยในประเทศขึ้นช้า เป็นปัจจัยบวกต่อต้นทุนการเงิน, ไม่มีปัญหาหนี้เสีย, รายได้ FA จากโครงการ Thailand future fund หนุนกำไร 2H60 ขณะที่คาดการณ์ปันผลกลางปี 2 บาท/หุ้น หรือ 2.8% และปันผลทั้งปีสูง 8.5%

                - UNIQ (ไอร่า) เป้า 25.70 บาท คาดภาพรวมได้รับประโยชน์ตามกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง จากโครงการรถไฟทางคู่ที่คาดทยอยเปิดประมูลอีก 5 โครงการ เช่น เส้นทางประจวบฯ ชุมพร (2 สัญญา) มูลค่ารวม ประมาณ 12,000 ล้านบาท เส้นทางมาบกะเบา จิระ (2 สัญญา) มูลค่ารวม ประมาณ 14,000 ล้านบาท และเส้นทางลพบุรี ปากน้ำโพ (1 สัญญา) มูลค่าประมาณ 8,700 ล้านบาท โดยคาดเปิดซองราคาปลายส.ค. ต้น ก.ย. พร้อมคาด UNIQ ยังสามารถเติบโตต่อเนื่องในปี’60 ภายใต้ Backlog ล่าสุด คาดอยู่ที่ระดับ 30,000 (หลังหักรายได้ 1Q/60) ซึ่งคาดพอต่อการรับรู้รายได้ไม่ต่ำกว่า 2 ปีข้างหน้า

                - RATCH (ยูโอบี เคย์เฮียน) ได้รับการบรรจุเข้า SET50 มีผล 2H60 และผลการดำเนินงาน 2Q60 ดีขึ้นจากโรงไฟฟ้าหงสา, ผ่านคุณสมบัติโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ในประเทศ 5 MW, อยู่ระหว่างศึกษาการเข้าซื้อโครงการพลังงานต่างแดน คาดว่าจะได้ข้อสรุป 3Q60

ตลาดหุ้นเอเชียผันผวนเช้านี้ หลังหุ้นพลังงานฉุดตลาดหุ้นสหรัฐร่วง

                ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวผันผวนในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดตลาดในแดนลบเมื่อคืนนี้ เนื่องจากการร่วงลงของราคาน้ำมันได้ฉุดหุ้นกลุ่มพลังงานดิ่งลง

                ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับการตัดสินใจของ MSCI ในประเด็นหุ้น A share ของจีนนั้น ทาง MSCI ได้ตัดสินใจนำหุ้น A share ของจีนคำนวณในดัชนี MSCI Emerging Markets Index ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาด

                ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 20,192.16 จุด ลดลง 38.25 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,148.99 จุด เพิ่มขึ้น 8.98 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 25,843.04 จุด เพิ่มขึ้น 90.77 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 10,310.97 จุด ลดลง 13.49 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,358.23 จุด ลดลง 11.00 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,213.67 จุด ลดลง 16.75 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,780.31 จุด ลดลง 0.40 จุด

                MSCI ซึ่งเป็นบริษัทจัดทำดัชนีระดับโลก ประกาศว่า MSCI จะนำหุ้น A share ของจีน เข้ารวมในการคำนวณดัชนี MSCI Emerging Markets Index (MSCI EM) และดัชนี  MSCI ACWI Index โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนมิ.ย. 2561

                MSCI ระบุว่า การตัดสินใจครั้งนี้เป็นผลมาจากการที่นักลงทุนสามารถเข้าถึงตลาด A share ของจีนได้มากขึ้น นอกจากนี้ การตัดสินใจดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนสถาบันระดับสากล ซึ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนที่ให้คำปรึกษาแก่ MSCI

                ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบ WTI ร่วงลงกว่า 2% เมื่อคืนนี้ อันเนื่องมาจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด หลังจากมีรายงานการเพิ่มกำลังการผลิตของสหรัฐ รวมทั้งลิเบีย และไนจีเรีย ซึ่งเป็น 2 ประเทศสมาชิกโอเปกที่ได้รับการยกเว้นจากข้อตกลงการปรับลดการผลิตน้ำมัน

                การร่วงลงของราคาน้ำมันได้ฉุดหุ้นกลุ่มพลังงานในตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลง และเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดดัชนีดาวโจนส์ปิดในแดนลบเมื่อคืนนี้ด้วย

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดลบ 51.10 จุดจากแรงฉุดของหุ้นกลุ่มน้ำมัน-ธนาคาร

                ตลาดหุ้นลอนดอนปิดในแดนลบเมื่อคืนนี้ (20 มิ.ย.) ด้วยแรงฉุดของหุ้นกลุ่มพลังงานที่ร่วงลงจากแรงกดดันของราคาน้ำมันที่ดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือนเมื่อคืนนี้

                ดัชนี FTSE 100 ลดลง 51.10 จุด หรือ -0.68% ปิดที่ 7,472.71 จุด

                ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นลอนดอนเมื่อคืนนี้ ได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ในตลาดนิวยอร์ก ซึ่งร่วงลงหลุดระดับ 44 ดอลลาร์/บาร์เรล สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือนเมื่อคืนนี้ สืบเนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่า การผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐ ลิเบีย และไนจีเรีย อาจจะขัดขวางความพยายามของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ในการปรับลดกำลังการผลิต

                การร่วงลงของราคาน้ำมันได้ฉุดหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลงกันถ้วนหน้า โดยหุ้นรอยัล ดัตช์ เชลล์ ร่วงลง 2.3% ขณะที่หุ้นบีพี ร่วงลง 2.6%

                นอกจากปัจจัยราคาน้ำมันแล้ว หุ้นกลุ่มธนาคารยังร่วงลงภายหลังจากนายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ออกมากล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และยังไม่มีความเร่งรีบที่จะคุมเข้มด้านนโยบายแต่อย่างใด

                หุ้นลอยด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป ร่วง 2.5% หุ้นสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ลดลง 1% หุ้นเอชเอสบีซี ขยับลง 0.5% หุ้นรอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ ขยับลง 0.7% และหุ้นบาร์เคลย์ส ลดลง 1.9%

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : หุ้นพลังงานดิ่ง ฉุดตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วง

                ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเมื่อคืนนี้ (20 มิ.ย.) เนื่องจากการร่วงลงของราคาน้ำมันดิบได้ฉุดหุ้นกลุ่มพลังงานอ่อนแรงลงด้วย อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นยุโรปได้รับปัจจัยหนุนในระหว่างวัน หลังจากนายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

                ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.7% ปิดที่ 389.21 จุด

                ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,293.65 จุด ลดลง 17.07 จุด หรือ -0.32% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,814.79 จุด ลดลง 74.16 จุด หรือ -0.58% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,472.71 จุด ลดลง 51.10 จุด หรือ -0.68%

                หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลง หลังจากราคาน้ำมันดิบ WTI ตลาดนิวยอร์กดิ่งลงกว่า 2% เมื่อคืนนี้ โดยหุ้น Subsea 7 SA ซึ่งเป็นบริษัทด้านวิศวกรรมการขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งของนอร์เวย์ ร่วงลง 3.8% หุ้นเอสบีเอ็ม ออฟชอร์ ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของเนเธอร์แลนด์ ดิ่งลง 2.3% หุ้นสแตทออยล์ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตน้ำมันของนอร์เวย์ ร่วงลง 2.8% และหุ้นเรพซอล ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของสเปน ดิ่งลง 2.2%

                ปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันร่วงลงนั้น มาจากความวิตกกังวลที่ว่า การเพิ่มกำลังการผลิตของสหรัฐ รวมทั้งลิเบีย และไนจีเรีย ซึ่งเป็น 2 ประเทศสมาชิกโอเปกที่ได้รับการยกเว้นจากข้อตกลงการปรับลดการผลิตน้ำมันนั้น อาจจะส่งผลกระทบต่อความพยายามของกลุ่มโอเปกในการปรับลดกำลังการผลิต

                หุ้นธนาคารบาร์เคลย์ส ร่วงลง 1.9% หลังจากสำนักงานปราบปรามการทุจริตแห่งราชอาณาจักร (SFO) ยื่นฟ้องธนาคารบาร์เคลย์ส พีแอลซี และอดีตผู้บริหารอีก 4 คน ในข้อหาสมรู้ร่วมคิดด้วยการระดมทุนจากประเทศกาตาร์เมื่อปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารเผชิญวิกฤตการเงิน

                ทั้งนี้ SFO ระบุว่า บาร์เคลย์สได้จ่ายเงิน 322 ล้านปอนด์เป็นค่าธรรมเนียมการกู้ยืมให้แก่นักลงทุนจากกาตาร์ ในช่วงวิกฤตการเงินปี 2551 เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลเข้ามาถือครองกิจการในช่วงที่ธนาคารกำลังประสบปัญหาทางการเงิน

                อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงหนุนในระหว่างวัน หลังจากนายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และยังไม่มีความเร่งรีบที่จะคุมเข้มด้านนโยบายแต่อย่างใด

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดลบ 61.85 จุด เหตุราคาน้ำมันร่วงฉุดหุ้นพลังงานดิ่ง

                ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (20 มิ.ย.) โดยตลาดได้รับปัจจัยลบจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังจากราคาน้ำมันดิบร่วงลงกว่า 2% อันเนื่องมาจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด นอกจากนี้ บรรยากาศการซื้อขายในตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งรวมถึงนายเอริค โรเซนเกรน ประธานเฟดสาขาบอสตัน

                ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 21,467.14 จุด ลดลง 61.85 จุด หรือ -0.29% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,437.03 จุด ลดลง 16.43 จุด หรือ -0.67% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,188.03 จุด ลดลง 50.98 จุด หรือ -0.82%

                หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลง นำโดยหุ้นทรานส์โอเชียน ร่วงลง 4.2% หุ้นมาราธอน ออยล์ ดิ่งลง 3.4% หุ้นเฮสส์ คอร์ป ร่วงลง 3.2% หุ้นเชฟรอน ปรับตัวลง 0.9%

                สำหรับปัจจัยที่ฉุดหุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงนั้น มาจากราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ร่วงลงกว่า 2% เมื่อคืนนี้ อันเนื่องมาจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด หลังจากมีรายงานการเพิ่มกำลังการผลิตของสหรัฐ รวมทั้งลิเบีย และไนจีเรีย ซึ่งเป็น 2 ประเทศสมาชิกโอเปกที่ได้รับการยกเว้นจากข้อตกลงการปรับลดการผลิตน้ำมัน

                นอกจากนี้ บรรยากาศการซื้อขายยังได้รับแรงกดดันจากการแสดงความเห็นของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยล่าสุดนายเอริค โรเซนเกรน ประธานเฟดสาขาบอสตัน ได้ออกมาเตือนว่า ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำได้ส่งผลกระทบทำให้เฟดถูกจำกัดความสามารถในการรับมือกับเหตุการณ์รุนแรงที่ไม่คาดคิด พร้อมระบุว่า ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะยังคงดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง

                ทางด้านนายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานเฟดสาขาชิคาโกกล่าวว่า เฟดควรเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ พร้อมกับแสดงจุดยืนสนับสนุนนโยบายปัจจุบันของเฟดในการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงการปรับลดงบดุลบัญชีของเฟด

                อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดปิดในแดนลบ แต่หุ้นกลุ่มธุรกิจสร้างบ้านดีดตัวขึ้น หลังจากบริษัทเลนนาร์ คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทรับสร้างบ้านรายใหญ่ของสหรัฐเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งในไตรมาส 2 โดยหุ้นเลนนาร์ คอร์ป พุ่งขึ้น 2.1% หุ้นดีอาร์ ฮอร์ตัน ปรับตัวขึ้น 1% และหุ้นพัลท์กรุ๊ป ขยับขึ้น 0.3%

                นักลงทุนจับตานายพอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ว่าจะส่งสัญญาณเกี่ยวกับปฏิรูประบบภาษีสำหรับผู้มีเงินได้และภาคธุรกิจหรือไม่ ในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมของสมาคมผู้ผลิตแห่งชาติสหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ตามเวลาไทย

                ขณะที่นายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ กล่าวว่า เขามีความเชื่อมั่นว่ามาตรการปฏิรูปภาษีจะได้รับการอนุมัติจากสภา คองเกรสในปีนี้ โดยเป้าหมายของเขาคือการทำให้ระบบภาษีมีความเรียบง่าย และเขาไม่กังวลเกี่ยวกับรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ชะลอตัวลง

                นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ยอดขายบ้านมือสองเดือนพ.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาบ้านเดือนเม.ย., ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนพ.ค.จาก Conference Board, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นเดือนมิ.ย.โดยมาร์กิต และยอดขายบ้านใหม่เดือนพ.ค.

                อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!